xs
xsm
sm
md
lg

‘ความไม่ปลอดภัยทางอาหาร’ รัฐกับการโยนผิดให้เกษตรกรและเรียกร้องประชาชนรับผิดชอบตนเอง

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ปัจจุบันหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอาจอยู่ในสภาวะอีหลักอีเหลื่อกระอักกระอ่วนใจในการจะยอมรับว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชซึ่งตนปล่อยปละละเลยให้มีการขายและใช้ในประเทศไทยมานาน โดยเฉพาะคาร์โบฟูราน (carbofuran) เมโทมิล (methomyl) ไดโครโตฟอส (dicrotophos) และอีพีเอ็น (EPN) เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งและโรคร้ายแรงอื่นๆ ของคนไทยทั้งในเกษตรกรและผู้บริโภค ตลอดจนทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง นั่นก็เพราะจะเท่ากับตนเองกลายเป็น ‘พันธมิตรสารพิษ’ ที่ต้องรับผิดกับการกระทำของตนเอง

กระนั้นอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้แล้วแต่ก็ยังดันทุรังก็คือการอ้างเหตุผลชุดข้อมูลเพื่อสนับสนุนสารเคมีเหล่านี้ให้สามารถขึ้นทะเบียนเพื่อขายต่อไปได้ในเมืองไทย ทั้งๆ ที่ในทางสากลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์จำนวนมหาศาล รวมทั้งการศึกษาวิจัยของไทยเองทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ สิ่งแวดล้อม และสังคม ต่างก็ยืนยันหนักแน่นเป็น ‘ฉันทามติ’ (consensus) ว่าสารเคมีเหล่านี้มีอันตรายร้ายแรงยิ่งยวดต่อสุขภาวะประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

การยืนหยัดกับผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติง่ายกว่าควานหาเหตุผลข้างๆ คูๆ เข้าถู

ทว่าถึงที่สุดแล้วหน่วยงานรัฐอันมีข้าราชการ เทคโนแครต และนักการเมืองกุมบังเหียนทิศทางทางนโยบายและกฎหมายก็ทำงานภายใต้แรงกดดันล็อบบี้ของบรรษัทสารเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ที่บังหน้าด้วยกลุ่มสมาคมการค้า (trade associations) ที่มุ่งปกป้องประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองแม้แลกกับการเจ็บป่วยล้มตายของมนุษย์และการตกค้างระยะยาวในสิ่งแวดล้อม

สถาบันวิชาการ (scientific institutes) และโครงการศึกษา (educational programs) ที่อ้างการศึกษาวิจัยว่ามีความถูกต้องแม่นยำแม้รับทุนบรรษัทที่มีส่วนได้เสียมาศึกษาวิจัยไม่ต่างจากกรณี EIA ที่ ‘ชงเองกินเอง’ รวมถึงนักวิชาการบางส่วนด้วยที่เวียนหน้ากันมาทำหน้าที่แก้ต่างให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช (pesticide defense) ที่มักยอมรับว่าตัวสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีพิษร้ายแรงจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมี 4 ชนิดข้างต้น แต่ก็ไม่ยอมตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการไม่อนุญาตให้มีการขายและใช้ในประเทศไทยโดยการกำกับการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพ หากแต่กลับโยนผิดไปให้เกษตรกรด้วยการชี้นิ้วว่าใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชผิดวัตถุประสงค์ (misuse) และบอกประชาชนว่าต้องรับผิดชอบตนเอง (personal responsibility) ในการเลือกบริโภค

กล่าวอีกนัยหนึ่ง วิกฤตความไม่ปลอดภัยทางอาหารของไทยทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากความผิดของเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้อง (safe use) ตามข้อแนะนำของบรรษัทสารเคมีเกษตรและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องซึ่งเข้าไปสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารเคมีเหล่านี้ในการผลิตแบบเกษตรเคมีและเกษตรเชิงเดี่ยว โดยการปัดปฏิเสธความผิดของตัวเอง (blame avoidance) ที่อนุญาตให้มีการขายและใช้สารเคมีพิษร้ายแรงได้โดยไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกวดขันควบคู่กับการปกป้องประโยชน์ประชาชนเหนือเม็ดเงินกำไรของบรรษัทข้ามชาติ รวมถึงการไม่แตะต้องหรือกำกับกลยุทธ์ทางการตลาด (marketing strategy) ของบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่โฆษณาเกินจริง พูดด้านเดียว และส่งเสริมการขายตรงลดแลกแจกแถมสารพัดอันเป็นยุทธวิธีที่ดึงดูดเกษตกรให้หลงเชื่อถือศรัทธาได้ไม่ต่างจากนโยบายประชานิยม

อีกด้านของวิกฤตการณ์การตกค้างปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผลผลิตทางการเกษตรและอาหารของประเทศไทยที่หน่วยงานรัฐไม่ทำหน้าที่ของตนเองในการปกป้องสุขภาพประชาชนก็คือการบอกให้ประชาชนต้อง ‘รับผิดชอบตนเอง’ ในการบริโภคอาหาร โดยอ้างเหตุผลว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการ ‘เลือก’ บริโภคอะไรก็ได้ ถ้ารู้ว่ามีอันตรายร้ายแรงจากการมีสารพิษตกค้างก็ไม่ต้องซื้อหามาบริโภคก็สิ้นเรื่อง

ทั้งนี้ยุทธศาสตร์การแก้ตัวของรัฐที่หลอมตัวเองเป็นพันธมิตรสารพิษดูดีทีเดียวที่ให้ 1) ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกบริโภคภายใต้สถานการณ์ประชาธิปไตยเบ่งบานสิทธิเสรีภาพ และ 2) มุ่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชพิษร้ายแรงที่ถูกวิธีแก่เกษตรกรผู้ถูกประทับตราว่าโง่และเห็นแก่ได้ไม่สนใจสุขภาพผู้บริโภคเพราะฉีดยาฆ่าแมลงทุกครั้งที่มีโอกาสแม้ว่าพวกเขาจะต้องกู้หนี้ยืมสินซื้อหามาตามแรงโฆษณาชวนเชื่อของบรรษัทและการส่งเสริมให้ใช้ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็ตามที ดังกรณีที่ภาคประชาสังคมเคลื่อนไหวไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนคาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็นจนเป็นกระแสสังคม ซึ่งจะถูกคัดค้านต่อต้านจากพันธมิตรสารพิษด้วยเหตุผลสองข้อหลักนี้ว่าที่สุดแล้วต้องไปปรับพฤติกรรมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรและการบริโภคของประชาชน

แต่ทั้งนี้ชุดเหตุผลอ่อนด้อยเหล่านั้นก็ไม่เป็นตรรกะมากพอจะคัดง้างกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการปฏิรูปประเทศไทยของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เรื่องการปฏิรูประบบควบคุมสารเคมีการเกษตร และมติสมัชชาปฏิรูประดับชาติทั้งสองครั้งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในภาคการเกษตร รวมทั้งยังไม่มีพลังเพียงพอจะหยุดยั้งการเคลื่อนไหวรณรงค์ของภาคประชาสังคมที่กอปรด้วยเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายผู้บริโภค และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-Pan) ที่สร้างความรู้ใหม่ๆ ในการหนุนเคลื่อนนโยบาย (policy advocacy) ให้ภาคการเกษตรซึ่งส่งผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ในประเทศชาติเพราะเป็นต้นธารของการผลิตอาหารให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

เนื่องจากปัจจุบันตลาดสด รถเร่ และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ต่างพบผักปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไม่ต่างกัน กระทั่งคนรวยคนจนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะได้บริโภคอาหารอันตรายแบบไม่เหลื่อมล้ำกันแม้ว่าคนรวยจะยอมจ่ายแพงกว่าและพิถีพิถันกว่าโดยการ ‘เลือกบริโภค’ ผักที่มีตรารับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานรัฐที่วางขายในห้างสรรพสินค้าที่มีหลากหลายยี่ห้อให้เลือกสรรตามกำลังทรัพย์ ในห้วงขณะเดียวกันกับการที่รัฐเลี่ยงการเผชิญหน้ากับบรรษัทสารเคมีเกษตรข้ามชาติด้วยการหันมาเรียกร้องให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและรูปแบบการใช้ชีวิต (lifestyle) โดยออกกำลังกายให้มากขึ้นไปแทนที่ ทั้งๆ ที่ข้อเสนอประเภท ‘กินผักครึ่งหนึ่งอย่างอื่นครึ่งหนึ่ง’ หรือการส่งเสริมให้เด็กกินผักมากๆ อาจเกิดโทษภัยได้เพราะบริบทสังคมไทยคือสังคมเสี่ยง (risky society) ของการได้รับสารพิษในการบริโภคอาหาร

โดยเฉพาะเด็กๆ ที่จะได้รับอันตรายร้ายแรงมากหากบริโภคผักที่มีสารพิษตกค้าง ขณะเด็กที่ไม่กินผักอาจปลอดภัยสุขภาพแข็งแรงกว่าก็ได้ เพราะผักยอดนิยม 7 ชนิด คือ กะหล่ำปลี คะน้า ถั่วฝักยาว ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ผักชี และพริกจินดา ล้วนมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานความไม่ปลอดภัย

ในเวลาเดียวกันการปล่อยให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชพิษร้ายแรงยังคงเป็นปัจจัยการผลิตของเกษตรกรต่อไปโดยการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนต่อไปได้นั้น แต่กลับเสนอให้มีการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจ (educate) แก่ผู้บริโภคในการเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยที่ไม่มีสารพิษตกค้างก็จะไม่มีประโยชน์ใดๆ ไม่ต่างจากการส่งเสริมความรู้ที่ดีขึ้นแก่เกษตรกรให้ใช้สารเคมีที่มีพิษร้ายแรงอย่างถูกวิธี เพราะถึงที่สุดแล้วความเป็นพิษภัยในตัวเองของสารเคมีเหล่านี้ที่นานาอารยประเทศทั้งตะวันตก ตะวันออก และเพื่อนบ้านอาเซียน ต่างห้ามใช้และขายแล้วนั้นก็ก่ออันตรายต่อสุขภาพผู้ใช้เกษตรกรตลอดจนผู้บริโภคและสังคมโดยรวมอยู่ดี

ที่สำคัญตลาดทั้งระดับบน กลาง และล่างต่างก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะพบผักปนเปื้อนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกินค่ามาตรฐานปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRL) ได้เสมอๆ ด้วยมุมมองของภาครัฐต่อความปลอดภัยในชีวิตนั้นอนุญาตให้ตลาดภายในประเทศวางขายสินค้าเกษตรและอาหารที่มีมาตรฐานความปลอดภัยต่ำกว่าตลาดส่งออกได้ ไม่เหมือนกับตลาดส่งออกที่ต้องทำตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยสูงเพื่อปกป้องประชาชนของเขาได้ คนไทยจึงเป็นพลเมืองชั้นสองของโลก

ยังมิพักจะเอ่ยถึงองค์ความรู้ที่ใช้ในการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรและผู้บริโภคที่ท้ายสุดแล้วคือให้ยอมรับกับการที่ประเทศไทยยังคงใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอันตรายเหล่านี้ต่อไปเพราะมีวิธีการจัดการได้จนมีความปลอดภัยแก่เกษตรกรและไม่มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานสามารถบริโภคได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องหวาดระแวงว่าถ้าบริโภคเข้าไปจะทำให้เสี่ยงสูงที่เป็นมะเร็งและโรคร้ายแรงอื่นๆ ซึ่งคนที่ชอบกินผักทั้งมังสวิรัติ เจ และกลุ่มคนรักษ์สุขภาพไม่ต้องกังวลใจไปเพราะพืชผักผลไม้ไทยปลอดภัยไม่ต่างจากที่ส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศเพื่อให้ผู้บริโภคต่างชาติแน่นอน ดังนั้นจะล้างน้ำสะอาดนานๆ หรือแช่ด่างทับทิมทำไม ไม่นับการแช่ตู้เย็นเพื่อให้สารเคมีที่ตกค้างย่อยสลายซึ่งเสียเวลาไปเปล่าๆ!

การโยนผิดให้เกษตรกรและเรียกร้องประชาชนรับผิดชอบตนเองจึงเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐที่หลอมรวมตนเองเป็น ‘พันธมิตรสารพิษ’ ซึ่งไม่คำนึงถึงสุขภาวะประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อม เท่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งการไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชพิษร้ายแรงทั้ง อีพีเอ็น ไดโครโตฟอส เมโทมิล และโดยเฉพาะคาร์โบฟูราน จะทำให้บรรษัทสูญเสียประโยชน์จากการค้ามหาศาล เพราะแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าสารพิษเหล่านี้มากเสียยิ่งกว่าประเทศที่ผลิตเองเสียอีก ดังกรณีคาร์โบฟูรานหรือ ‘ฟูราดาน’ ซึ่งถ้าสามารถขึ้นทะเบียนได้จะทำให้ ‘ข้าว’ ที่เป็นพืชอาหาร-พืชการเมือง-พืขส่งออกของไทยท่วมท้นด้วยสารตกค้างชนิดนี้ แม้ว่าบรรษัทข้ามชาติที่นำเข้ามาจะอ้างว่าไม่ประสงค์ขึ้นทะเบียนในนาข้าว แต่แท้ที่สุดสารพิษนี้ก็จะถูกใช้ในนาข้าวและแปลงพืชอาหารอื่นๆ ก่อนจะกล่าวโทษเกษตรกรว่าใช้ผิดวัตถุประสงค์ (misuse) อีกครั้ง ทั้งๆ ที่ถูกควรคือต้องจัดการต้นธารด้วยการไม่ให้ใช้และขายในไทยอีกต่อไป

การรณรงค์สาธารณะเพื่อ ‘ปฏิรูปต้นธารความปลอดภัยทางอาหาร’ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการสร้างเสริมประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร (food supply chain) และห่วงโซ่อุปทานการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช (supply chain) จึงต้องกำกับการขึ้นทะเบียนสารเคมีการเกษตรให้มีธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ในขณะเดียวกันก็เปิดกว้างกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบนมาตรการทางกฎหมายที่เป็นรูปธรรมรองรับโดยเฉพาะเกษตรกร และผู้บริโภคที่จะเข้าไปต่อกรกับพันธมิตรสารพิษที่ขมีขมันแก้ต่างให้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช (pesticide defense) เพราะนั่นเท่ากับแก้ต่างให้ตนเอง (self defense)
กำลังโหลดความคิดเห็น