xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมนูญเพื่อการจัดการตนเอง

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

พลเมืองเป็นพลังสำคัญของการปฏิรูปประเทศไทยในแนวทางสันติวิธี ทั้งนี้มิใช่เพราะมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญรองรับสิทธิและความชอบธรรมเท่านั้น ทว่ายังสอดคล้องกับหลักการจัดการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมด้วย ดังชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งซึ่งริเริ่มสร้างสรรค์ปฏิบัติการต่างๆ เพื่อต่อกรกับอาณัติของรัฐรวมศูนย์ (centralization) ที่ครอบงำการพัฒนาและการตัดสินใจเชิงนโยบายสาธารณะ และต่อต้านทุนนิยมเสรีที่ฉวยใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างไม่เป็นธรรมและขาดความรับผิดชอบต่อสังคม จนเกิดเป็น ‘นวัตกรรมสังคม’ หรือ ‘ธรรมนูญชุมชน’ ที่เป็นทั้งเครื่องมือและแนวทางพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนเป็นธรรมซึ่งนำไปสู่การสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต่อไป

กระนั้นถึงชุมชนท้องถิ่นจะเป็นรากฐานสำคัญของกระบวนการปฏิรูปสังคมไทยให้มีความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยการกระจายอำนาจส่วนกลางสู่ท้องถิ่น (decentralization) ทว่าการไม่เคารพสิทธิชุมชน ตลอดจนกลไกการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่อ่อนแอ โดยเฉพาะอำนาจในการบริหารจัดการตนเองด้านงบประมาณและทรัพยากรก็ทำลายศักยภาพของท้องถิ่นในการพัฒนาตนเองทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็ลดทอนโอกาสในการปฏิรูปสังคมไทยให้มีความเข้มแข็ง สมดุล และยั่งยืนด้วย เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่เป็นปัจจัยกำหนดแนวทางการพัฒนาอนาคตของประเทศไทยไม่ได้ถูกพัฒนาอย่างเท่าเทียมกันระหว่างชนบทกับเมืองและส่วนกลางกับภูมิภาค ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมต้องการกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของท้องถิ่นชุมชน ตลอดจนพลเมืองที่กระตือรือร้น (active citizen) ซึ่งมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและสาธารณะ จะเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงด้วยการร้องขอหรือเรียกร้องจากรัฐแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้

ด้วยเหตุนี้สมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 3 จึงเสนอร่างมติเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งระดับรากฐาน ดังนี้ 1) เครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งกอปรด้วยองค์กรชุมชน/เครือข่ายองค์กรชุมชน และกลไกท้องถิ่น ประชาสังคม คลอดจนภาคพลเมืองร่วมกันพัฒนารูปแบบประชาธิปไตยจากฐานราก โดยมีธรรมนูญเป็นเครื่องมือนำไปสู่การจัดการตนเองทั้งในระดับพื้นที่ตำบล จังหวัด ภูมินิเวศน์ ที่สอดคล้องกับบริบทภูมินิเวศน์และประวัติศาสตร์ของตนเอง เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิรูประบอบประชาธิปไตยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ เป็นกระบวนการทางเลือกของสังคมและประชาชนที่ไม่สังกัดกลุ่มการเมือง รวมถึงเป็นกระบวนการเชิงปัญญาเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดเหลื่อมล้ำในสังคม

2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคียุทธศาสตร์อื่นๆ ทั้งในระดับนโยบายและพื้นที่ร่วมกันสนับสนุนให้ชุมชนจัดทำธรรมนูญให้กระจายทั่วประเทศด้วยการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน จัดกระบวนการแลกเปลี่ยน พูดคุย ทำความเข้าใจ หาแนวทางในการนำเสนอความต้องการการพัฒนาจากภาคชุมชนและประชาชนอย่างมีน้ำหนัก และขยายผลให้ชุมชนท้องถิ่นฟื้นจิตวิญญาณชุมชน ตลอดจนสนับสนุนการจัดธรรมนูญระดับพื้นที่เพื่อสร้างกระบวนการประชาธิปไตยจากฐานรากให้เกิดขึ้นในพลเมืองและชุมชนเพื่อสร้างโอกาสและระบบบริหารจัดการที่เข้มแข็งเท่าเทียมในทุกระดับ

3) ในพื้นที่ที่มีการจัดทำธรรมนูญแล้ว ภาครัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ต้องเคารพและยอมรับธรรมนูญนั้นๆ การกระทำที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การศึกษาของชุมชนท้องถิ่น ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องของธรรมนูญที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงคำนึงถึงสิทธิชุมชนที่ได้กำหนดไว้ในธรรมนูญ และให้มีการปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ เพื่อสนับสนุนประชาชนในพื้นที่ให้ได้ใช้อำนาจของตนเองในการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตามธรรมนูญของตนเอง

4) สนับสนุนให้มีมติเพื่อจัดให้มีการประชุมสังเคราะห์เจตจำนงร่วมของชุมชนท้องถิ่นต่างๆ เพื่อจัดทำให้เจตจำนงร่วมของชุมชนท้องถิ่นเป็นเจตจำนงร่วมของชุมชนท้องถิ่นในระดับประเทศต่อไป

5) ดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายธรรมนูญภาคประชาชนเพื่อการปฎิรูปสังคมโดยการทำเจตจำนงร่วมทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศ พร้อมกับผลักดันต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้เคารพและคำนึงถึงเจตจำนงร่วม รวมถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินการตามภารกิจของหน่วยงานภาครัฐให้สอดคล้องกับเจตจำนงร่วมดังกล่าวจัดตั้งเครือข่ายธรรมนูญภาคประชาชนเพื่อการปฏิรูปสังคม

6) หน่วยงานรัฐจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการ และแผนนิติบัญญัติ ที่สอดคล้องกับเจตจำนงร่วมของประชาชนในการปฏิรูปสังคม ทั้งนี้ธรรมนูญในพื้นที่ใดที่ทำไว้ดีแล้วภาครัฐก็ต้องเข้ามาสนับสนุนและรับรองนำไปเป็นข้อบังคับหรือข้อบัญญัติของท้องถิ่นต่อไป

ทั้ง 6 ข้อเสนอข้างต้นของสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 3 เพื่อจะปฏิบัติการกระจายอำนาจส่วนกลางสู่การบริหารจัดการตนเองของท้องถิ่นนั้นนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในทิศทางใหญ่ของประเทศไทยในการก้าวไปสู่การมีระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับทุกเสียงของทุกคนในสังคม เคารพสิทธิชุมชน และยอมรับกับความคิดเห็นที่หลากหลายและแตกต่างออกไปจากตนเองแม้ว่าจะทวนกระแสการพัฒนากระแสหลักที่มีทุนนิยมเสรีเป็นทั้งเป้าหมาย (end) และวิธีการ (mean) ที่ครอบงำทั้งสังคมไทยอยู่ในขณะนี้

ที่สำคัญกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มี ‘ธรรมนูญเพื่อการจัดการตนเอง’ เป็นทั้งเครื่องมือและแนวทางการพัฒนาเช่นนี้จะสร้าง ‘ความเป็นไปได้ในการปฏิบัติการ’ การบริหารจัดการท้องถิ่นตามความสอดคล้องกับสภาพภูมินิเวศ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ และประวัติศาสตร์ของแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญอันจะเหมารวมแบบหวังดีประสงค์ร้ายโดยใช้นโยบายแบบบนลงล่างหรือใช้โมเดลการพัฒนาแบบเดียวมาควบคุมหรือครอบงำไม่ได้ ไม่เท่านั้นธรรมนูญชุมชน/ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นตามข้อเสนอข้างต้นนี้จะทำให้เกิดการรับรองความชอบธรรมและสิทธิเสรีภาพของท้องถิ่นชุมชน และคนปลายอ้อปลายแขมที่ถูกจัดเป็นกลุ่มชายขอบของการพัฒนากระแสหลัก ซึ่งแม้แต่รัฐส่วนกลางก็ไม่สามารถปฏิเสธความมีตัวตนของคนเล็กคนน้อยที่แต่ก่อนเคยเป็นแค่คะแนนเสียงช่วงเลือกตั้งเท่านั้น อีกทั้งยังไม่อาจปฏิเสธอำนาจของท้องถิ่นในการบริหารจัดการตนเองโดยเฉพาะด้านงบประมาณและการจัดสรรทรัพยากรอีกต่อไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น