xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.นครฯ หนุนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติทางทะเล มอบเรือตรวจการณ์รักษาชายฝั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
เรื่อง : ทรงวุฒิ  พัฒแก้ว / ภาพ : พิภัชพงศ์  สามารถ
 
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556 ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช รับมอบเรือเร็วตรวจการณ์ชายฝั่ง พื้นที่อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร จากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อตรวจตรา และเฝ้าระวังพื้นที่ชายฝั่งแถบลุ่มน้ำปากพนังทั้งหมด พร้อมหนุนพื้นที่ทุกตำบลออกข้อบัญญัติท้องถิ่น โดยใช้พื้นที่ตำบลท่าศาลาเป็นต้นแบบ
 

 
เนื่องจากช่วง 15 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคมของทุกปี จะเป็นช่วงปิดอ่าว เนื่องจากเป็นฤดูของปลาทูวางไข่ ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นไป ส่งผลให้เรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่จะทะลักเข้าสู่พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อเกิดปัญหาต่อเนื่องทุกปี ประกอบกับความเดือดร้อนของชาวประมงในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีปัญหากับเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่จากนอกพื้นที่รุกล้ำเขตหวงห้ามบ่อยครั้ง และได้รับเรื่องร้องเรียนมาตลอด
 
ทางนายพิชัย บุณยเกียรติ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช และสมาชิกสภาจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล และลดความเดือดร้อนของชาวประมง จึงได้จัดซื้อเรือตรวจการณ์ชายฝั่งทั้งหมด 4 ลำ เพื่อให้ท้องถิ่น และท้องที่ชายฝั่งทะเลทั้ง 6 อำเภอมีมาตรการในการตรวจตรา จับกุม รวมทั้งบรรเทาสาธารณภัยฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นตลอดแนวชายฝั่ง
 

 
โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้ส่งมอบเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 1 ลำแก่ท้องถิ่นและท้องที่แถบอำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร โดยมี นายวิโรจน์ จิระรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้รับมอบ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2556
 
นายพิชัย บุญเกียรติกล่าวว่า นครศรีธรรมราช มีชายฝั่งทะเลยาว 200 กว่ากิโลเมตร การตรวจตราให้ครอบคลุมเป็นเรื่องยาก และมีข้อจำกัด หลังจากนี้ทาง อบจ.ได้จัดซื้อเรือเร็วเข้าประจำการทั้งหมด 4 ลำ ตลอดแนวชายฝั่ง พร้อมให้ท้องถิ่น และท้องที่เป็นคนดูแล โดยทั้ง อบจ.จะสนับสนุนงบประมาณค่าบำรุงรักษา และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการดำเนินการ ทั้งนี้ ให้ อบต.พื้นที่ชายฝั่งทะเลออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อบริหารทรัพยากรชายฝั่ง และมีแผนในการเฝ้าระวังทุกตำบล โดยดูต้นแบบจากจากพื้นที่ตำบลท่าศาลา น่าจะใช้เวลา และกระบวนการสัก 2 เดือน เราก็จะมีข้อบัญญัติท้องถิ่นทางทะเลเป็น อบจ.แรกของประเทศไทย
 

 
ทั้งนี้ เรือตรวจการณ์นอกจากใช้ภารกิจตรวจตราการทำประมงชายฝั่งผิดกฎหมายแล้ว ยังสามารถใช้ในการเฝ้าระวังเหตุภัยทางทะเลฉุกเฉินได้ด้วย หากประสบภัยทางทะเลเมื่อแจ้งเหตุเข้ามาจะเข้าไปช่วยเหลือใช้เวลาไม่นานนัก เพราะหากอาศัยเรือประมงพื้นบ้านช่วยเหลือกันเองหากได้รับบาดเจ็บ กว่าจะถึงโรงพยาบาลใช้เวลาหลายชั่วโมง  ส่วนเรื่องข้อบัญญัติท้องถิ่น เมื่อทุก อบต.ช่วยกันทำระเบียบข้อตกลง ทาง อบจ.ก็จะทำควบคู่ไปด้วย 
 
จากนั้น ทาง อบจ.ได้จัดแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งโดยท้องถิ่น โดยมีตัวแทนจากองค์การบริการส่วนตำบลท่าศาลาเป็นวิทยากร เพื่อแลกเปลี่ยนการใช้ข้อบัญญัติท้องถิ่น และการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยมีนายอภินันท์ เชาวลิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา นายภิญโญ หนูชื่น ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา และนายทรงวุฒิ พัฒแก้ว ที่ปรึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา เป็นวิทยากรหลัก
 

 
นายอภินันท์ เชาวลิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา กล่าวว่า ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เราใช้กระบวนการทุกรูปแบบในการป้องกันและพัฒนาชายฝั่งทะเล ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่จะมีปัญหากับนายทุนจากภายนอกแทบทั้งสิ้น โชคดีที่ตำบลท่าศาลา และพื้นที่ตำบลชายทะเลท่าศาลามีความร่วมมือกันทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และท้องถิ่น ท้องที่ร่วมมือกัน มีกระบวนการออกข้อบัญญัติและมีชุดเฉพาะกิจในการเฝ้าระวัง รวมทั้งมีองค์กรชาวประมงที่เข้มแข็ง
 
“ปัญหาทุกอย่างเลยค่อยหมดไป ผมคิดว่าหากผู้นำไม่หวั่นไหวกับอามิสสินจ้าง และตั้งใจช่วยชาวบ้านจริง ปัญหาทุกอย่างแก้ไขไม่ยาก” นายอภินันท์กล่าวและเสริมว่า
 
ในการเฝ้าระวังทางทะเลมีปัญหาคือ เรือเร็ว ท่าศาลาเริ่มแรกใช้เรือประมงหางยาวในการลงไปตรวจตราจับกุม จากนั้นจึงมีเรือเร็วของกรมเจ้าท่าฯ กรมประมงฯ กรมทรัพยากรฯ เข้ามาหนุน แต่หลังจากนี้ มีเรือเร็วของ อบจ.แล้ว และช่วยกันออกข้อบัญญัติท้องถิ่นมาช่วยบริหารจัดการ มีกลไกของคณะทำงานทุกภาคส่วนมาช่วยกัน อีกไม่นานและตลอกทุกตำบลจะเรียก ‘อ่าวทองคำ เหมือนที่ท่าศาลา”
 

 
เรือตรวจการณ์ของ อบจ.เพื่อปฏิบัติการแถบลุ่มน้ำปากพนัง เบื้องต้นจะประจำการที่เทศบาลตำบลเกาะเพชร เพื่อปฏิบัติภารกิจ และสารมารถใช่ร่วมกันตลอดแนวชายฝั่ง เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันทั้ง 4 ลำ และร่วมมือกับเรือตรวจการณ์ของกรมประมงฯ กรมทรัพยากรฯ ตำรวจน้ำฯ
 
นอกจากภารกิจตรวจตราชายฝั่งแล้ว การปิดอ่าวในช่วงฤดูปลาทูวางไข่ก็จะเป็นอีกวาระหนึ่งที่ทุกฝ่ายของจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องร่วมมือกัน เพื่อให้มีการปิดอ่าวเหมือนภาคใต้ตอนบน
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น