xs
xsm
sm
md
lg

ที่นี่เขามีโรงงาน…ที่คุณไม่เข้าใจ

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


การประกาศยุติการดำเนินการศูนย์สนับสนุน/ปฏิบัติการบนฝั่ง ของผู้บริหารบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง “เชฟรอน” ในพื้นที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชไปเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 55 ที่ผ่านมาของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเชฟรอนฯ พวกเขาออกมาแถลงข่าวการตัดสินใจยุติการดำเนินในโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานและท่าเรือในพื้นที่บ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช พร้อมบอกเหตุผลว่า “เนื่องจากโครงการผ่านมาค่อนข้างยาวนาน ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งระยะเวลาใช้งานจริงของศูนย์พัฒนาแห่งใหม่ไม่ทันต่อการใช้งานในช่วงที่มีความต้องการสูงสุด”... เสียงไชโยโห่ฮิ้วของพี่น้องที่ลุกกันขึ้นมาคัดค้านโครงการดังกล่าวกึกก้องไปทั่วทั้งสังคม       

   วันที่ 24 ก.พ. 54 คณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ให้ความเห็นชอบอีเอชไอเอ (EHIA)ในพื้นที่ท่าศาลาของบริษัท เชฟรอนฯ ได้สร้างความตื่นตัวของคนในชุมชน และกระแสสังคมที่ร่วมกันคัดค้านการดำเนินการของโครงการดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะบทเรียนการต่อสู้หลายๆ ครั้งของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ที่ผ่านมา ต่างรับรู้กันโดยทั่วไปว่า หากปล่อยให้มีการสร้างโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นต่อไปจะมีโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ทยอยเข้ามาอีกมาก ภายใต้การส่งเสริมการลงทุนและการสร้างงานในพื้นที่

         กว่า 5 ปี ที่บริษัทเชฟรอนฯ ได้เข้ามาดำเนินการในพื้นที่อย่างเป็นทางการในจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมกับเดินหน้าการจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือที่เรียกว่าอีเอชไอเอ (EHIA) ของฐานท่าเรือเชฟรอนฯ แต่บริษัทเชฟรอนฯ หาได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการ แต่กลับเน้นการสร้างภาพลักษณ์ของนักลงทุนที่มองว่าชุมชนโง่ ซื้อได้ เน้นแต่การทำ CSR เพื่อประชาสัมพันธ์ที่กล่าวถึงด้านดีเพียงด้านเดียว งบประมาณมหาศาล ผ่านลงสู่กลุ่มชุมชนท้องถิ่น และภาครัฐ โดยละเลยนำเสนอข้อเท็จจริงในเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะจากการก่อสร้างท่าเรือ 

        เมื่อโครงการสร้างท่าเรือของเชฟรอนฯ ได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชาวบ้านในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรในสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นักศึกษา นักวิชาการ ศิลปิน ฯลฯ ได้ออกมาผนึกกำลังกันเคลื่อนไหวแสดงออกถึงการไม่ยอมรับโครงการอย่างหนัก  

        นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนร่วมกับผู้นำในชุมชนในพื้นที่ร่วมกันศึกษา มีผลซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวท่าศาลา จนเห็นภาพมูลค่ามหาศาลของรายได้จากพื้นที่ดังกล่าว ที่วันนี้ถูกขนานนามว่า “อ่าวทองคำ”  ความกังวลว่าเศรษฐกิจของชุมชน และวิถีชุมชนที่กำลังจะถูกทำลายโดยเฉพาะผลผลิตต่อเนื่องทางการประมงนับร้อยล้านบาทต่อปีที่ส่งขายภายในประเทศ และต่างประเทศ เนื่องจากทะเลท่าศาลาได้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้ร่วมมือกันออกข้อบัญญัติท้องถิ่น จนสามารถจัดการทะเลหน้าบ้านของตัวเอง โดยห้ามเครื่องมือทำลายล้างอย่างเรืออวนรุน อวนลากและเรือคราดหอยออกไปพ้นท้องถิ่นได้สำเร็จ

จู่ๆ บริษัทเชฟรอนฯ ก็ได้ยื่นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ขบวนการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) อีกครั้ง เสมือนว่าคำประกาศยุติของบริษัทที่ผ่านมาเป็นการสับขาหลอกหรือเพื่อเตรียมกำลังในการเตรียมเปิดศึกกับชุมชนท่าศาลาขึ้นอีกครั้งของบริษัทข้ามชาติ ทำให้เกิดการปรึกษาหารืออย่างเร่งด่วนของชุมชน “บุญเสริม แก้วพรหม” คือนักการศึกษา ที่เป็นทั้งศิลปิน เป็นกวี ฯลฯ ที่ประกาศตัวออกมายืนปกป้องแผ่นดินเกิด เขาอธิบายให้ผมฟังถึงเหตุผลของเขาที่ออกมายืนแถวหน้าในครั้งนี้ว่า

“บนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์เพราะผ่านการสั่งสม สืบต่อมาแต่ครั้งปู่ย่าตายายเรามีทะเลเป็นโรงงานใหญ่ของชาวประมง มีเรือกสวนนาไร่เป็นโรงงานใหญ่ของเกษตรกรคนงานในโรงงานเหล่านั้นทำมาหากิน อยู่ดีมีสุข มีวิถีชีวิตที่สงบร่มเย็นอยู่แล้ว...ทำไมจึงต้องคิดเอาโรงงานใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมมาทำลายโรงงานเดิมที่อุดมสมบูรณ์และยั่งยืนด้วยเล่า..? ผมหยิบเอากลอนที่เขาต้องการสะท้อนมุมมองของเขาในเรื่องการพัฒนา การสร้างงานในพื้นที่ เขาบอกผ่านบทกลอนของเขาว่า...

บทกลอนของบุญเสริม แก้วพรหม ได้สะท้อนให้เราเห็นว่านี่ไม่ใช่วาทกรรม ไม่ใช่ความเพ้อฝัน แต่มันคือของจริงของชีวิตจริงๆ ของผู้คน ใครที่สงสัยสามารถลงไปสัมผัสเรียนรู้สืบหาข้อเท็จจริงได้ตลอดเวลา ชีวิตของผู้คน ของชุมชนอีกจำนวนมากในสังคมนี้ ที่คนจำนวนหนึ่งที่มีอำนาจและมุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ซึ่งมักมองไม่เห็นเนื้อหาและข้อเท็จจริงนี้ เพราะพวกเขาเกิดและเติบโตในสังคมที่ไม่มีโอกาสสัมผัสและซึมซับสิ่งเหล่านี้ หรือไม่ก็สมาทาน “การพัฒนา” อย่างไม่ลืมหูลืมตา ว่าผลพวงของมันเป็นอย่างไรบ้าง อดีตที่ผ่านมาชุมชนถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายของการพัฒนา ถูกหยิบยื่นสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนา” ให้แก่เขามานักต่อนัก ถึงวันนี้เขาฉลาดมากพอ คุณจะมีอำนาจล้นฟ้าหรือมีอำนาจล้นโลกอย่างบริษัทยักษ์ใหญ่เป็นทุนข้ามชาติอย่าง “เชฟรอน” ก็เถอะ อยากเรียนว่าถึงวันนี้ชุมชนท้องถิ่นจะไม่ยอมให้พวกคุณมาหลอกและกระทำย่ำยีชุมชนของพวกเขาอย่างง่ายๆ ได้อีกแล้วละ.
กำลังโหลดความคิดเห็น