คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส
การประกาศยุติการดำเนินการศูนย์สนับสนุน/ปฏิบัติการบนฝั่งของผู้บริหารบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง “เชฟรอนฯ” ในพื้นที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2555 ที่ผ่านมา ของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเชฟรอนฯ พวกเขาออกมาแถลงข่าวการตัดสินใจยุติการดำเนินในโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานและท่าเรือในพื้นที่บ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช พร้อมบอกเหตุผลว่า “เนื่องจากโครงการผ่านมาค่อนข้างยาวนาน ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งระยะเวลาใช้งานจริงของศูนย์พัฒนาแห่งใหม่ไม่ทันต่อการใช้งานในช่วงที่มีความต้องการสูงสุด”... เสียงไชโยโห่ฮิ้วของพี่น้องที่ลุกกันขึ้นมาคัดค้านโครงการดังกล่าวกึกก้องไปทั่วทั้งสังคม
วันที่ 24 ก.พ.2554 คณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ให้ความเห็นชอบอีเอชไอเอ (EHIA) ในพื้นที่ท่าศาลาของบริษัทเชฟรอนฯ ได้สร้างความตื่นตัวของคนในชุมชน และกระแสสังคมที่ร่วมกันคัดค้านการดำเนินการของโครงการดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะบทเรียนการต่อสู้หลายๆ ครั้งของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ที่ผ่านมา ต่างรับรู้กันโดยทั่วไปว่า หากปล่อยให้มีการสร้างโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นต่อไป จะมีโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ทยอยเข้ามาอีกมาก ภายใต้การส่งเสริมการลงทุน และการสร้างงานในพื้นที่
กว่า 5 ปี ที่บริษัทเชฟรอนฯ ได้เข้ามาดำเนินการในพื้นที่อย่างเป็นทางการในจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมกับเดินหน้าการจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือที่เรียกว่า อีเอชไอเอ (EHIA) ของฐานท่าเรือเชฟรอนฯ แต่บริษัทเชฟรอนฯ หาได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการ แต่กลับเน้นการสร้างภาพลักษณ์ของนักลงทุนที่มองว่า ชุมชนโง่ ซื้อได้ เน้นแต่การทำ CSR เพื่อประชาสัมพันธ์ ที่กล่าวถึงด้านดีเพียงด้านเดียว งบประมาณมหาศาลผ่านลงสู่กลุ่มชุมชนท้องถิ่น และภาครัฐ โดยละเลยนำเสนอข้อเท็จจริงในเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากการก่อสร้างท่าเรือ
เมื่อโครงการสร้างท่าเรือของเชฟรอนฯ ได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชาวบ้านในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรในสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นักศึกษา นักวิชาการ ศิลปิน ฯลฯ ได้ออกมาผนึกกำลังกันเคลื่อนไหวแสดงออกถึงการไม่ยอมรับโครงการอย่างหนัก
นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกับผู้นำในชุมชนในพื้นที่ ร่วมกันศึกษา มีผลซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวท่าศาลา จนเห็นภาพมูลค่ามหาศาลของรายได้จากพื้นที่ดังกล่าว ที่วันนี้ถูกขนานนามว่า “อ่าวทองคำ” ความกังวลว่าเศรษฐกิจของชุมชน และวิถีชุมชนที่กำลังจะถูกทำลาย โดยเฉพาะผลผลิตต่อเนื่องทางการประมงนับร้อยล้านบาทต่อปี ที่ส่งขายภายในประเทศ และต่างประเทศ เนื่องจากทะเลท่าศาลาได้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้ร่วมมือกันออกข้อบัญญัติท้องถิ่น จนสามารถจัดการทะเลหน้าบ้านของตัวเอง โดยห้ามเครื่องมือทำลายล้างอย่างเรืออวนรุน อวนลาก และเรือคราดหอยออกไปพ้นท้องถิ่นได้สำเร็จ
จู่ๆ บริษัทเชฟรอนฯ ก็ได้ยื่นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเข้าสู่กระบวนการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) อีกครั้ง เสมือนว่าคำประกาศยุติของบริษัทที่ผ่านมาเป็นการสับขาหลอก หรือเพื่อเตรียมกำลังในการเตรียมเปิดศึกกับชุมชนท่าศาลาขึ้นอีกครั้งของบริษัทข้ามชาติ ทำให้เกิดการปรึกษาหารืออย่างเร่งด่วนของชุมชน
“บุญเสริม แก้วพรหม” คือ นักการศึกษาที่เป็นทั้งศิลปิน เป็นกวี ฯลฯ ที่ประกาศตัวออกมายืนปกป้องแผ่นดินเกิด เขาอธิบายให้ผมฟังถึงเหตุผลของเขาที่ออกมายืนแถวหน้าในครั้งนี้ว่า “บนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ เพราะผ่านการสั่งสม สืบต่อมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย เรามีทะเลเป็นโรงงานใหญ่ของชาวประมง มีเรือกสวนนาไร่เป็นโรงงานใหญ่ของเกษตรกร คนงานในโรงงานเหล่านั้นทำมาหากิน อยู่ดีมีสุข มีวิถีชีวิตที่สงบร่มเย็นอยู่แล้ว...ทำไมจึงต้องคิดเอาโรงงานใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมมาทำลายโรงงานเดิมที่อุดมสมบูรณ์ และยั่งยืนด้วยเล่า..?”
ผมหยิบเอากลอนที่เขาต้องการสะท้อนมุมมองของเขาในเรื่องการพัฒนา การสร้างงานในพื้นที่ เขาบอกผ่านบทกลอนของเขาว่า...
-- เราต้องการโรงงานของเรา! --
เราต้องการโรงงานหน้าบ้านเรา...
โรงงานเก่าที่เคยมีมาแต่ต้น
โรงงานที่สืบต่อหล่อเลี้ยงคน
เลี้ยงชุมชนสร้างหวังอยู่ยั่งยืน
เป็นโรงงานสวยเสน่ห์ทะเลใหญ่
ทะเลใสหาดทรายขาวเคล้าเสียงคลื่น
สุดขอบฟ้าฝ่าฝันทุกวันคืน
คอยหยิบยื่นสินในน้ำตามจำนง
คนเรือออกน่านน้ำตามใจนึก
ทะเลลึกลอยลำไม่ลืมหลง
เป็นคนงานสวมชุดชาวประมง
ได้ดำรงชีพก่อสืบต่อมา
เป็นโรงงานโรงแรงแปลงเกษตร
ในนิเวศธรรมชาติปรารถนา
โดยวิถีครบถ้วนสวนไร่นา
เติมคุณค่าทรัพย์ในดินน่ายินดี
ใช้ชีวิตเรียบง่ายที่หมายรู้
บากบั่นสู้โดยพอเพียงเลี้ยงวิถี
เป็นคนงานในไร่นาประดามี
อิสรเสรีไร้กังวล
เราต้องการโรงงานหน้าบ้านเรา
โรงงานเก่าของเรามีมาแต่ต้น
...ใช่โรงงานอุตสาหกรรมหลายเล่ห์กล
ที่มาปล้นฆ่าเข่นความเป็นเรา!
รัตนธาดา แก้วพรหม
สำนักกวีน้อยเมืองนคร
บทกลอนของบุญเสริม แก้วพรหม ได้สะท้อนให้เราเห็นว่า นี่ไม่ใช่วาทกรรม ไม่ใช่ความเพ้อฝัน แต่มันคือของจริงของชีวิตจริงๆ ของผู้คน ใครที่สงสัยสามารถลงไปสัมผัส เรียนรู้ สืบหาข้อเท็จจริงได้ตลอดเวลา ชีวิตของผู้คน ของชุมชนอีกจำนวนมากในสังคมนี้ ที่คนจำนวนหนึ่งที่มีอำนาจ และมุ่งแต่แสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งมักมองไม่เห็นเนื้อหา และข้อเท็จจริงนี้ เพราะพวกเขาเกิด และเติบโตในสังคมที่ไม่มีโอกาสสัมผัส และซึมซับสิ่งเหล่านี้ หรือไม่ก็สมาทาน “การพัฒนา” อย่างไม่ลืมหูลืมตาว่าผลพวงของมันเป็นอย่างไรบ้าง อดีตที่ผ่านมา ชุมชนถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายของการพัฒนา ถูกหยิบยื่นสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนา” ให้แก่เขามานักต่อนัก
ถึงวันนี้เขาฉลาดมากพอ คุณจะมีอำนาจล้นฟ้า หรือมีอำนาจล้นโลก อย่างบริษัทยักษ์ใหญ่เป็นทุนข้ามชาติอย่าง “เชฟรอนฯ” ก็เถอะ อยากเรียนว่าถึงวันนี้ชุมชนท้องถิ่นจะไม่ยอมให้พวกคุณมาหลอก และกระทำย่ำยีชุมชนของพวกเขาอย่างง่ายๆ ได้อีกแล้วละ