xs
xsm
sm
md
lg

ตรังพบพะยูนหวาดกลัวผู้คนหลังตายไปต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - กลุ่มนักอนุรักษ์เกาะลิบง จ.ตรัง ลงสำรวจพะยูนในจุดที่อาศัยอยู่มากที่สุด แต่กลับพบน้อยลงกว่าเดิม แถมยังมีท่าทีตื่นกลัว หลังเกิดเหตุการณ์ตายไปจำนวนมากด้วยฝีมือมนุษย์

วันนี้ (5 ก.พ.) แกนนำนักอนุรักษ์เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เช่น นายยะสาด อวนข้อง หรือบังสาด นายรุ่งโรจน์ เบ็ญหมูด หรือบังหมาน และนายอิสมาแอน เบ็ญสะอาด หรือบังแอน ได้นำผู้สื่อข่าวเดินทางไปสำรวจที่บริเวณหน้าเขาบาตูปูเต๊ะ ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่มีฝูงพะยูนอาศัยอยู่มากที่สุด แต่ล่าสุด กลับพบจำนวนพะยูนที่น้อยลงกว่าเดิม แถมยังมีท่าทีตื่นกลัวไม่กล้าเข้ามาใกล้เรือประมง และยังโผล่ขึ้นมาให้พบเห็นบนผิวน้ำเพียงแค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น หลังจากในช่วงที่ผ่านมา มีพะยูนตายลงไปแล้วหลายสิบตัว และส่วนใหญ่เกิดมาจากการถูกทำร้ายด้วยเครื่องมือประมง จนส่งผลให้พะยูนที่เหลืออยู่กันอย่างหวาดผวา

หลังจากนั้น แกนนำนักอนุรักษ์เกาะลิบง ได้นำผู้สื่อข่าวไปชมซากของ “เจ้าโทน” พะยูนน้อยวัย 2 ปี ซึ่งกลายเป็นตำนานของหมู่บ้านเจ้าไหม ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2537 เมื่อเด็กๆ ไปพบพะยูนตัวนี้เกยตื้น และได้ช่วยชีวิตมันไว้ ก่อนนำกลับสู่ท้องทะเลตรัง ต่อจากนั้นมันก็ยังคงเข้ามาวนเวียนอยู่ริมฝั่ง จนเกิดความคุ้นเคยกับผู้คนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้หมู่บ้านเจ้าไหมกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คึกคักแต่เพียงปีเศษ วันหนึ่งก็มีผู้ไปพบกับ “เจ้าโทน” ลอยตายอยู่ริมฝั่งในสภาพที่บริเวณลำตัวมีรอยช้ำจากการถูกทุบตี ทางกลุ่มนักอนุรักษ์จึงได้นำกระดูกมาสตัฟฟ์เอาไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ชม และรำลึกถึง

อย่างไรก็ตาม ได้มีชาวประมงพื้นบ้านรายหนึ่งนำภาพถ่ายของซากพะยูน อายุประมาณ 10 ปี ยาวประมาณ 70 ซม. และหนักประมาณ 30 กก. มามอบให้แก่ผู้สื่อข่าว ซึ่งปรากฏว่า อยู่ในสภาพที่น่าอเนจอนาถใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากบริเวณส่วนหัวของพะยูนตัวนี้ถูกเฉือนหายไปทั้งหมด สอดคล้องกับกระแสข่าวแก๊งล่าพะยูนเพื่อนำเขี้ยว กะโหลก หรือกระดูกส่งไปขายยังต่างประเทศ เพื่อนำไปทำยาโด๊ปบำรุงกำลัง ยาเสน่ห์ หรือของขลัง ตามความเชื่อแบบผิดๆ ของชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่ง ต่างไปจากข้อมูลของทางหน่วยงานราชการที่มักจะอ้างว่า พะยูนที่ตายลงไปทุกตัวยังมีสภาพสมบูรณ์ และไม่มีส่วนใดถูกเฉือนหายไป

นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขาธิการมูลนิธิอันดามัน กล่าวว่า ปัญหาพะยูนและสัตว์ทะเลหายากนั้นเกิดมาจากคน ฉะนั้น ก็ต้องไปแก้ปัญหาที่คน และการคุ้มครองพื้นที่ เรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่ของทุกๆ ฝ่ายร่วมกัน มิใช่ของภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่ภาคชาวบ้าน หรือองค์การเอกชน (เอ็นจีโอ) ก็ต้องเข้ามาร่วมด้วย โดยจะต้องสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นร่วมกัน มีการจัดชุดราษฎรอาสาออกไปช่วยกันป้องกันปราบปราม สำหรับกิจกรรมที่ทำร้ายปัญหาพะยูน และสัตว์ทะเลหายาก รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทะเลให้ครอบคลุม โดยเฉพาะการนำข้อบัญญัติท้องถิ่นมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 
 


กำลังโหลดความคิดเห็น