xs
xsm
sm
md
lg

“ตุด นาคอน” ศิลปินไมค์ไม้ไผ่ สู้ด้วยเสียงเพลง...แห่งวิญญาณศิลปิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตุด นาคอน
 
โดย...ทรงวุฒิ พัฒแก้ว
 
 
“...มาฟังเรื่องราว ที่พ่อเฒ่าแกเล่าให้ฟัง จากดินแดนปากนัง จนถึงหลังเมืองคอน...”
 
บทเพลง “แต่แรก” ยังคงก้องหูเสมอๆ เมื่อเอ่ยถึง “ตุด นาคอน” แม้วันนี้จะห่างหายจากอัลบั้มในการออกเทป แต่การแต่งเพลง และเดินสายเพื่อสื่อสารเรื่องราวในบทเพลงยังไม่จบสิ้น คำกล่าววลีเด็ด “ศิลปินต้องทำหน้าที่ศิลปิน ไม่เช่นนั้น ไม่ใช่ศิลปิน”
 
กว่า ๕ ปี ที่รู้จัก ตุด นาคอน อย่างที่เรียกว่า คนรู้จักกัน ครั้งนั้น ตุด นาคอน แต่งเพลง “เชฟรอนฯ โกลบอล วอมมิ่ง” เพื่อออกรณรงค์ทางสิ่งแวดล้อม ก่อนจะผันตัวเองไปตามเวทีของนักอนุรักษ์ในจังหวัดต่างๆ ทั่วภาคใต้ และเป็นแกนนำหลักในการก่อตั้งกลุ่ม “ศิลปินเมืองคอน” ที่รวบรวมกวี นักเขียน นักร้อง ทำผลงานปกป้องสิ่งแวดล้อม และเป็นคนริเริ่ม “เดินเท้าของศิลปิน พิทักษ์ถิ่นอาหารโลก” แม้โครงการจะไม่เริ่ม แต่การโหมโรง และการสร้างแนวศิลปินเพื่อการอนุรักษ์เป็นรูปธรรม และเป็นจริงตามเวทีการเคลื่อนไหว การเรียกร้องสิทธิชุมชน
 
“เวลาผมหมดไปกับการร้องเพลงตามคำขอ ร้องเพลงเพื่อการบันเทิง ร้องเพลงให้คนดื่มได้ฟังในร้าน ผ่านช่วงหนึ่งมันรู้สึกเต็ม บทเพลง และสาระที่ผมต้องการสื่อเหลือเพียงจังหวะ และบันเทิง วันนี้ผมต้องการสื่อสารสาระเรื่องราวในบทเพลง อยากสะท้อนแง่มุม แนวคิด และความเป็นจริงของสังคม คนฟังแม้เพียงส่วนน้อย แต่เสพเนื้อหาที่ผมต้องการสื่อ นั่นแหละที่ผมต้องการ” คำเปรยของศิลปิน ตุด นาคอน ในค่ำคืนหนึ่งของบรรยากาศริมชายฝั่งทะเลท่าศาลา ที่มีคนในวงไม่เกินสามสิบคน เครื่องเสียงแสนจะธรรมดา ขาไมโครโฟนก็ไม่มี ใช้ไม้ไผ่มาทำเป็นขาไมค์แทน
 
“ผมร้องเพลงท่ามกลางคนเป็นหมื่น เครื่องเสียงชั้นเลิศ เพื่อนๆ เต็มวง แต่ไม่รู้สึกเหมือนครั้งนี้ ผมร้องเพลงแล้วทุกคนตั้งใจฟัง เข้าถึงเนื้อหา ใบหน้า และแววตาของคนฟังลื่นไหลไปกับบทเพลงที่ต้องการสื่อสาร ผมรับรู้ และสัมผัสได้ถึงการเข้าถึงแก่นแท้ของความเป็นศิลปิน คุณค่าของเสียงเพลงมันอยู่ตรงนี้” เสียงปรบมือของคนไม่กี่คนดังกึกก้องทั่วชายฝั่ง หลังจากที่พูดประกอบบทเพลงจบลง
 

 
ตุด นาคอน มีกีตาร์ และรถตู้ตระเวนร้องเพลงทุกที่ที่มีคนฟัง ใช้จังหวะและเรื่องราวในบทเพลงสื่อสาร เพราะเชื่อว่าบทเพลงเป็นเครื่องมือสากลที่ทุกคนเข้าถึง และสัมผัสได้ง่ายที่สุด
 
ทุกคืน ตุด นาคอน จะร้องเพลงที่โรงสีไฟ ร้านอาหารทีมีเพลงเพื่อชีวิตคอยขับกล่อม เป็นแหล่งรวมของเพื่อนพ้องน้องพี่ของคนรักษ์ดนตรี และบรรยากาศยามค่ำคืนร่วมกับเพื่อนๆ อีกสองวง
 
แต่เมื่อมีงานเวทีของชุมชน ทั้งกลางวันและกลางคืน ตุด นาคอน จะปลีกเวลามาถึงก่อนและกลับพร้อมคนอื่นๆ เสมอๆ เวทีในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับเชฟรอนฯ ๑๒๑ เวที และแทบทุกเวทีหากจัดกลางแจ้ง หรือในหอประชุม มักจะมีดนตรีของศิลปิน ตุด นาคอน และเพื่อนกวีร่วมวงด้วยทุกครั้ง ด้วยพลังของเสียงเพลง ด้วยจังหวะของดนตรีผ่านกีตาร์เพียงชิ้นเดียว ปลุกพลังตื่นรู้ของผู้คน และสอดรับกับเนื้อหาที่เหล่าแกนนำทยอยให้ข้อมูล เพื่อเรียนรู้ให้ทุกคนลุกขึ้นมาปกป้องป้องแผ่นดิน
 
“วันนี้เพลงป็อปมีคนร้องมากแล้ว แต่เพลงในแนววัฒนธรรม แนวจิตวิญญาณ มันน้อยลงทุกที ทุกที มันเป็นเพลงที่ขายยาก ดูเชย วันนี้จึงมีศิลปินมาร้อง มาสื่อสารไม่กี่คน การได้แต่งเพลงสักเพลงจะสื่อสารเรื่องราวแนวนี้สักเรื่อง ต้องลงไปสัมผัส ต้องลงไปคลุกคลี ต้องเข้าถึงธรรมชาติ และนี่คือสิ่งที่ผมต้องการ” คือคำพูดในเวทีรวมพลของคนท่าศาลาครั้งที่ ๑๒๑ ที่ตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
 
ในเวทีต่างๆ นอกจากจะมีดนตรีแล้ว ตุด นาคอน ยังร่วมกับศิลปิน ลาคู จุก จัดแสดงละครเล็กๆ ประกอบ หรืองานศิลปะควบคู่ไปกับการร้องเพลง เช่น การแสดงเรื่องราวของมลพิษที่มากระทบต่อผู้คน การระบายสีบนผืนผ้าขนาดใหญ่ที่ให้ทุกคนมาร่วมเขียนเรื่องราวความเลวร้ายของอุตสาหกรรม เรื่องราวที่ต้องการปกป้องวิถีชีวิต
 

 
ด้วยรัก ผูกพัน และอุดมการณ์ ตุด นาคอน ไม่เคยมีค่าตัว ไม่เคยรับค่าเหนื่อยจากการร้องเพลงนับสิบเพลง ไม่มีแม้แต่ค่าอุปกรณ์ในการแสดงละคร และศิลปะ รวมทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิงพาหนะคู่ใจ แต่เขาและทีมงานจะบอกทุกคนว่า การมีคนฟัง และไปขยายผลสักยี่สิบสามสิบคนต่อเวที มันคือค่าเหนื่อย และการลงแรงที่ไม่สูญเปล่า
 
“ผมเตรียมเพลงและมิวสิกเพื่อสังคมและอนุรักษ์ไว้ชุดหนึ่ง ร่วมกับเพื่อนศิลปิน ยุงยุทธ ด้ามขวาน อานิ อัญชัญ และซักกะเลย์ รวมทั้งเพื่อนคนอื่นๆ รวมทั้งการอ่านบทกวีของเพื่อนศิลปินเพื่อไว้เป็นทุนเบื้องต้นสำหรับการเคลื่อนไหวและต่อสู้ ยกให้สังคมเพื่อไปขยายผล คงเป็นอีกทางหนึ่งที่ให้หลายคนได้ฟัง ได้ซึมซับเรื่องราว รวมทั้งจะเชิญชวนเพื่อนๆ ร่วมเดินเท้าเพื่อเป็นแรงหนุนในเส้นทางการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังออกแบบกันอยู่” อีกหนึ่งความตั้งใจของ ตุด นาคอน
 
การมีจะศิลปินทางดนตรีที่มีจิตวิญญาณ ยังต้องการการหล่อเลี้ยงจากแรงใจของมวลชนและของพวกเราที่หวังให้สังคมดีงามอีกมาก หวังว่าเสียงกังวานบทเพลงของ ตุด นาคอน จะไม่สูญเปล่า อย่างน้อยระยะเวลาที่ทุ่มเท และอุทิศตัวทั้งตัว และหัวใจเกิดดอกผล โดยเฉพาะการปกป้องอ่าวทองคำให้รอดพ้นภัยคุกคามมาครั้งแล้วครั้งเล่า ตลอดระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา
 
วันนี้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในเมืองนครศรีฯ ในนามของศิลปินคือ กวีได้ทำหน้าที่ของกวี มีบทกวีหลั่งไหลออกสู่สายตาของสังคมอย่างต่อเนื่อง มีการบันทึกเรื่องราวการต่อสู่ของชุมชนเป็นนิยาย เช่น “มนรักษ์อ่าวทองคำ” มีการแสดงนิทรรศการทางศิลปะ “เลใต้” รวมทั้งการออกมายืนหยัดกับมวลชนในครั้งคราวต่างๆ อย่างเป็นขบวนที่ต่อเนื่อง และมีพลัง ขานรับกับงานวิชาการของมหาวิทยาลัย และขบวนของนักศึกษาหลายๆ สถาบัน
 
หากประชาชนยังทำหน้าที่ หากกวียังมีคุณค่า และศิลปินยังเป็นผู้จรรโลงโลก สักวันสังคมจะดีงาม และมีความฝัน วันนั้นเราทุกคนอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยก็ในหัวใจของใครอีกหลายๆ คน
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น