ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกเล็กหญิงแกร่งแห่งเมืองสามน้ำ ตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เดินหน้านโยบายพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีสติ ด้วยการอนุรักษ์มรดกประจำท้องถิ่นซึ่งเป็นผืนป่าชายเลนสุดท้าย ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติของคนรุ่นหลัง พร้อมสร้างจิตสำนึกคนในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์เกาะนกกลางน้ำ หรือเกาะตาม้วนอย่างยั่งยืน
นางสมจิตร์ พันธุ์สุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา นายกหญิงเหล็กแห่งเมืองสามน้ำ พื้นที่ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งรวมน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ก่อนถูกปล่อยลงสู่ลุ่มน้ำปากอ่าวบางปะกง ได้ผุดนโยบายสำคัญในการอนุรักษ์มรดกประจำถิ่น เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้บนผืนป่าชายเลนสุดท้าย สำหรับให้นักท่องเที่ยว และคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ศึกษา สร้างการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างสมบูรณ์ รองรับแขกเหรื่อผู้มาเยือน ด้วยการการพัฒนาเกาะนกกลางน้ำ หรือเกาะตาม้วนบนเนื้อที่ 125 ไร่ ให้ยังคงสภาพความอุดมสมบูรณ์อย่างครบครัน
โดยปัจจุบัน การพัฒนาเกาะแห่งนี้ได้มุ่งเน้นการรักษาไว้เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยการปลูกป่าเสริมพันธุ์ไม้น้ำชายเลน พร้อมทำเส้นทางเดินเท้ารอบเกาะสำหรับศึกษาธรรมชาติ รวมระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร พร้อมสร้างหอคอยสำหรับดูนกน้ำ และการชมธรรมชาติเหนือผืนป่า และคุ้งน้ำ จำนวน 2 หลัง และยังจัดผู้บรรยายข้อมูลต่างๆ ให้แก่นักท่องเที่ยว ถือเป็นกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงได้อีกวิธี
“สำหรับงบประมาณที่นำมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ นั้น ส่วนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือจากภาคเอกชนในพื้นที่ และกลุ่มผู้มีจิตอาสาทั้งนักเรียน นักศึกษา นักอนุรักษ์ที่เข้ามาท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นกลุ่ม รวมทั้งชมรมต่างๆ ที่เข้ามาช่วยกันปลูกป่าชายเลน ทั้งนี้พันธุ์ไม้น้ำที่นำมาปลูกเพิ่มเติมจากไม้ป่าชายเลนประจำถิ่นนั้น ล้วนแต่เป็นพันธุ์ไม้น้ำหายาก ทั้ง พังกาหัวสุม (ประสักดอกแดง ดอกขาว) โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ต้นปรงทะเล หงอนไก่ทะเล ลำแพน ลำพู แสมขาว และเรายังได้จัดทำป้ายบ่งชี้ถึงคุณลักษณะของต้นไม้ในแต่ละชนิดว่า เป็นต้นอะไร มีคุณประโยชน์อย่างไรเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบ โดยกิจกรรมนี้ยังถือเป็นการสร้างแหล่งที่พักอาศัยของกุ้ง หอย ปู ปลา และช่วยลดมลพิษโลกร้อนด้วย”
นางสมจิตร์ ยังกล่าวอีกว่า จากการที่ได้มีโอกาสเป็นผู้บริหารท้องถิ่นแห่งนี้มาอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถต่อยอดโครงการดีๆ ให้แก่ชุมชนอย่างถาวร ที่สำคัญ การสร้างแหล่งเรียนรู้ สร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ยังสามารถสร้างจิตสำนึกให้แก่คนในชุมชนได้หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นมรดกของท้องถิ่นที่มีอยู่ให้เป็นรากฐานที่มั่นคงของคนรุ่นหลังสืบต่อไป
ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา ได้ช่วยให้ระบบนิเวศในพื้นที่ดีขึ้นมาก ทั้งป่าชายเลนที่เริ่มขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น และยังมีสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยจำนวนมากขึ้น รวมทั้งยังเกิดความหลากหลายทางธรรมชาติเ เช่น มีปลาตีน ปูก้ามดาบ ปูทะเล ปูแสม และนกน้ำกว่า 50 ชนิดเข้ามาอยู่อาศัย นอกจากนั้น ยังมีตะกวดที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่น และเสือปลาที่สูญหายไปนานกลับเข้ามาอยู่อาศัยบนเกาะกลางน้ำแห่งนี้ด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาพื้นที่บนเกาะก็ยังมีปัญหา และอุปสรรคอยู่บ้างคือ การกัดเซาะของมวลกระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยพื้นที่ทางตอนเหนือของเกาะมีส่วนของการงอกเพิ่มที่เกิดการทับถมของตะกอนดิน แต่บริเวณด้านท้ายเกาะกลับมีการกัดเซาะพังทลาย ซึ่งถือว่าเป็นงานหนักที่ชาวตำบลท่าข้ามจะต้องช่วยกันหาทางป้องกันรักษาเกาะเพื่อไม่ถูกธรรมชาติพัดทำลายไปด้วยเช่นกัน