xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจ “อ่าวทองคำ” เหตุใดชาวบ้านจึงไม่เอา “ท่าเรือเชฟรอนฯ” (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พื้นที่การก่อสร้างท่าเที่ยบเรือเชฟรอนฯ เป็นบริเวณเดียวกับพื้นที่ประมงชายฝั่ง
“ศูนย์ข่าวASTVผู้จัดการ” ได้ลงพื้นที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งบริษัทเชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด กำลังผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือ และศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิต ตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำกลาย บ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา ที่มีความสมบูรณ์เพราะเป็นระบบนิเวศ 3 น้ำ คือน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ซึ่งมีการพบโลมาสีชมพู และสีเทาเข้ามาหากินใกล้ชายฝั่งอยู่บ่อยครั้ง
จุดที่มีโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือของบริษัทเชฟรอนฯ พืนที่ ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีการเช่าที่ดินเกือบ 400 ไร่รองรับสิ่งปลูกสร้างบนฝั่ง
โดยพื้นที่ดังกล่าว มีระบบนิเวศเฉพาะที่หลอมรวมความอุดมสมบูรณ์ เกื้อกูลจนกลายเป็นส่วนหนึ่งระหว่างเทือกเขาหลวงที่กั้นระหว่าง จ.นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี กับทะเลอ่าวไทยบริเวณชายฝั่งท่าศาลา ที่มีแม่น้ำสายสั้นๆ เกิน 75 กิโลเมตรเชื่อมระหว่างภูเขากับทะเล ชุมชนเรียกอ่าวไทยบริเวณนี้ว่า “อ่าวท่าศาลา” ที่รองรับลำคลองกว่า 10 สาย นำแร่ธาตุจากภูเขาสู่สัตว์น้ำในทะเล ส่งผลให้ปากแม่น้ำเป็นครัวชั้นดีของสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ไรน้ำทะเล, ลูกกุ้ง, ลูกปู, ลูกปลา และสัตว์ทะเลหน้าดิน เช่น ปลาทู, หอยทุกชนิด ปลากระบอก สำหรับปลาที่กินสัตว์เล็กเป็นอาหาร ชาวบ้านใช้ประโยชน์เพื่อยังชีพ และรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ไม่มีวันหมดสิ้น ดังเป็น “อ่าวทองคำ” ให้แก่ทุกคน
ชาวบ้านที่บ้านหน้าทับกำลังอธิบายฐานทรัพยากรทั้งบนบกและทะเลใน อ.ท่าศาลา
นายสุธรรม โต๊หมาด ผู้ใหญ่บ้าน ม.7 บ้านหน้าทับ กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ของเมืองนครศรีธรรมราชว่า ชาวบ้านอยู่ได้เพราะทรัพยากรบนบก และทะเลที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะทะเลนั้น ภาครัฐได้เห็นความสำคัญ และสนับสนุนโครงการก่อสร้างปะการังเป็นที่อาศัยของปลา และปลูกป่าชายเลนเพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ แนวกันคลื่นลมซึ่งหน้ามรสมนั้นสัตว์จะเข้ามาหลบอยู่แนวป่าชายเลน ทำให้ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพได้ทั้งปี และนี่เป็นพื้นที่ทำกินสาธารณะผืนใหญ่ที่ไม่มีใครสามารถจับจองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ชาวเลก็ไม่เคยแบ่งเหมือนที่บริษัท เชฟรอนฯ กำลังเฉือนทะเลออกเป็นเสี่ยงๆ
จากแนวเขื่อนหินกันทรายและคลื่นของกรมเจ้าท่า มองไปยังจุดที่มีเป้าหมายจะก่อสร้างท่าเทียบเรือของเชฟรอนฯ
“ไม่ว่าเชฟรอนฯ จะอ้างอย่างไรกับการก่อสร้างท่าเรือ แต่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ถ้าไม่คิดถึง ถ้าคิดเฉพาะอาชีพทำประมงของเรานั้นจะทำมาหากินกันอย่างไรเมื่อชาวประมงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่พื้นที่หาปลามีน้อยลง เพราะเราเป็นแค่ประมงพื้นบ้านที่อยู่ใกล้ๆ ชายฝั่ง นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะตามมามากมายอีก” นายสุธรรมกล่าว

ขณะที่ชาวบ้านรายอื่นๆ กล่าวเสริมว่า ความสมบูรณ์ทางทะเลยังส่งผลต่อระบบนิเวศบนฝั่ง เด็กๆ และแม่บ้านยังสามารถหารายได้จากการจับปูแสม หรือปูเปรี้ยวที่นำมาหมักทำปูเค็มสามารถนำไปขายยังพ่อค้าคนกลางได้กิโลกรัมละ 40 บาท ในจำนวนปูประมาณ 15 ตัว หรือหากนำมาดองเองเพื่อขายเป็นปูเค็ม ก็จะขายในราคาตัวละ 4 บาทเลยทีเดียว

นอกจากอาชีพประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว อ.ท่าศาลา ยังประกอบด้วยโรงแกะเนื้อปูอีกมากมายที่กระจายลงไปในแต่ละหมู่บ้าน ดังเช่น โรงแกะปูก๊ะส๊ะน๊ะ บ้านในถุ้ง ซึ่งมีแม่บ้านเกือบ 50 คนยึดเป็นอาชีพหลักหาเลี้ยงครอบครัว

นางจริยา วังไชยศรี กล่าวว่า ตนและคนในหมู่บ้านยึดอาชีพแกะเนื้อปูมาหลายปี ซึ่งสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เฉลี่ยวันละ 400 บาท โดยลงทุนแค่แรงกายทำงานวันละ 8-9 ชั่วโมง แต่ละวันจะมีรถมาส่งปูที่ต้มแล้ววันละ 800-1,000 กิโลกรัม จากทั้ง จ.ระนอง และ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยเนื้อปูที่ได้เถ้าแก่จะส่งออกไปยังโรงงานแปรรูปอาหารทะเล เพื่อผลิตเป็นสินค้าส่งออกต่างประเทศต่อไป
เนื้อปูต้มสุกจะถูกกระจายให้ชาวบ้านรับจ้างแกะเนื้อ ก่อนส่งไปยังโรงงานเพื่อผลิตและแปรรูปเป็นอาหารส่งออกต่างประเทศ
แต่หากท่าเรือเชฟรอนฯ เกิดขึ้น ตนเชื่อว่าจะกระทบต่อชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะทำประมงไม่ได้ อาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็กระทบกระเทือนไปด้วย โดยข้อมูลของคณะทำงานเอชไอเอชุมชนท่าศาลา ได้สำรวจพบว่า มีแพปลาที่กระจายอยู่ 38 แห่ง, ตลาดจำหน่ายอาหารทะเล1 6 แห่ง, ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ประมง 13 แห่ง และร้านอาหารซีฟูดอีก 5 แห่ง
ผลผลิตจากอ่าวทองคำ ส่งผ่านมายังอาชีพรับจ้างแกะเนื้อปูที่มีโรงงานกระจายหลายแห่งใน อ.ท่าศาลา เฉพาะที่ ก๊ะส๊ะน๊ะ แต่ละวันมีปูต้มสุกส่งมานับพันตัน ทำให้แม่บ้านมีรายได้วันละประมาณ 400 บาท แล้วแต่ความชำนาญ
“ถ้าไม่มีชาวประมงแล้ว พวกเราจะทำอะไรกิน จะค้าขายหรือก็ไปไม่รอดแน่นอนเพราะฝรั่งที่ทำงานเชฟรอนฯ ก็ไม่ได้กินข้าวกินปลาเหมือนเรา”

ติดตามตอน 2 (จบ)


กำลังโหลดความคิดเห็น