ตรัง - ชาวเกาะลิบง จ.ตรัง ร่วมหารือปกป้องคุ้มครองพะยูน พร้อมเสนอ 4 มาตรการหลักต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแก้ปัญหาเร่งด่วน ก่อนที่สัตว์ทะเลหายากชนิดต่างๆ จะตายไปมากกว่านี้
วันนี้ (30 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวบ้านเกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันหารือถึงการกำหนดมาตรการอย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องคุ้มครองพะยูนสัตว์อนุรักษ์ชื่อดังของ จ.ตรัง รวมทั้งสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเลโลมา ซึ่งได้ตายลงไปเป็นจำนวนมากหลาย 10 ตัว ในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา อันมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากเครื่องมือประมง และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะบริเวณเกาะลิบง ซึ่งถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือแรมซาไซต์ อันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดของพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ก่อนที่สถานการณ์จะเข้าขั้นวิกฤตรุนแรงไปมากกว่านี้
โดยตัวแทนชาวเกาะลิบงและพื้นที่ใกล้เคียงได้ข้อสรุปถึงมาตรการหลัก เพื่อนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง จำนวน 4 ข้อ คือ 1. กำหนดเขตวิ่งเรือโดยสาร โดยเฉพาะเรือขนถ่ายสินค้าขนาดใหญ่ที่บรรทุกสินค้านำเข้า-ส่งออก เช่น ถ่านหิน ยิปซัม ให้ห้ามวิ่งเข้ามาในพื้นที่อนุรักษ์โดยเด็ดขาด เนื่องจากเคยเกิดอุบัติเหตุล่มมาแล้ว จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเคยชนพะยูนและสัตว์ทะเลหายากจนเสียชีวิตด้วย 2. กำหนดเขตควบคุมการใช้เครื่องมือประมงในพื้นที่อนุรักษ์ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนและห้ามใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พะยูนและสัตว์ทะเลหายากเสียชีวิต
3. กำหนดเขตเศรษฐกิจชุมชนให้กับชาวประมงพื้นบ้าน และนำไปสู่การประกอบอาชีพที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างสงบสุข และนำข้อบัญญัติของ อบต.เกาะลิบง ซึ่งมีอยู่แล้วมาใช้ในการควบคุมดูแล และ 4. กำหนดเขตอนุรักษ์สำหรับพะยูนสัตว์ทะเลหายาก รวมไปถึงความหลากหลายทางชีวภาพอย่างชัดเจน เช่น หญ้าทะเล ปะการัง ทั้งนี้มาตรการหลักทั้ง 4 ข้อดังกล่าว จะต้องกำหนดไว้อย่างต่อเนื่องตามแผนระยะ 1 ปี แผนระยะ 3 ปี และแผนระยะ 10 ปี พร้อมบรูณาการทุกหน่วยงานโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธาน เพื่อให้พะยูนและสัตว์ทะเลหายากเสียชีวิตลงน้อยที่สุด
ด้านนายยะสาด อวนข้อง แกนนำนักอนุรักษ์เกาะลิบง หรือบังสาด กล่าวว่า พวกตนคงไม่สามารถปกปักรักษาพะยูนและสัตว์ทะเลหายากเอาไว้ได้ หากไม่เกิดขึ้นมาจากความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย กี่ปีมาแล้วที่สัตว์เหล่านี้ต้องเสียชีวิตลงไปและต่างก็รู้ดีว่าเกิดมาจากสาเหตุใด แต่ทำไมหน่วยงานราชการซึ่งมีอยู่จำนวนมากมาย จึงไม่มาทำหน้าที่เพื่ออนุรักษ์สัตว์เหล่านี้อย่างจริงๆ จังๆ มิเช่นนั้นอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ก็คงสูญพันธุ์ไปหมดเนื่องจากขณะนี้เครื่องมือในการทำประมงได้พัฒนาไปสูงมาก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกวัน จนแทบจะไม่เหลือเขตที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์อนุรักษ์อีกแล้ว