xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านคลองน้ำหูหวั่น “ยิปซัม” นำมาถมที่ลุ่มในชุมชนอาจส่งผลกระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพีรพงศ์ สุขสาคร เจ้าหน้าที่บริษัท ที-สเต็ป เอ็นไวรอนเมนทัล เทคโนโลยี่ จำกัด ออกกมาชี้แจงและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน
ระยอง - ชาวบ้านคลองน้ำหู หวั่น “ยิปซัม” นำมาถมที่ลุ่มในชุมชนอาจส่งผลกระทบ ด้านผู้บริหารโรงงานยืนยันไม่ใช่กากของเสียอันตราย แต่ยอมรับทำผิดขั้นตอน ไม่ชี้แจงชาวบ้านก่อน

เมื่อค่ำวานนี้ (14 ม..) ที่ศาลาคลองน้ำหู เทศบาลเมืองมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง นายพิษณุ จารุพัฒนะสิริกุล กรรมการบริษัท ทีเออาร์เอฟ จำกัด ที่ได้รับใบอนุญาตขนย้ายของเสียก้อนยิปซัมที่ไม่เป็นอันตราย นำไปถมในพื้นที่ของประชาชนที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ นายพีรพงศ์ สุขสาคร เจ้าหน้าที่บริษัท ที-สเต็ป เอ็นไวรอนเมนทัล เทคโนโลยี จำกัด พ.จ.อ.อณุลักษณ์ ทองสุข หัวหน้างานบริการรักษาความสะอาด เทศบาลเมืองมาบตาพุด ชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านกรณีการขนย้ายยิปซัมไปถมที่ในชุมชนกรอกยายชา หลังชาวบ้านกังวลว่าเป็นสารอันตราย และจะมีผลกระทบต่อชุมชน โดยมีนายประทีป เอ่งฉ้วน ผู้อำนวยการสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นายธวัช บัวจีบ รองนายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด เข้าร่วมรับฟัง โดยมีชาวบ้านมาร่วมรับฟังไม่มากนัก

น.ท.ภาณุพงศ์ จิตรดล ประธานชุมชนหนองบัวแดง เทศบาลเมืองมาบตาพุด กล่าวว่า ยิปซัมจากธรรมชาติกับยิปซัมจากกระบวนการผลิตไฮโดรเจน ฟลูออไรด์ที่มีสารเคมีของบริษัท ลาเพิร์ท จำกัด ซึ่งได้รับอนุญาตให้ขนย้ายออกจากโรงงานมาถมที่ชาวบ้านนั้นมันแตกต่างกัน ไฮโดรเจน ฟลูออไรด์ มีอันตรายมากกว่าสารตะกั่ว แต่น้อยกว่าสารหนูเท่านั้น อยากจะบอกว่าแค่คิดก็ผิดแล้ว ดูจากข้อมูลของรองศาสตราจารย์ ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่า เหตุใดจึงระบุยิปซัมจากกระบวนการผลิตโดรเจนฟลูออไรด์ของบริษัทไว้ในหมวด 03 เพราะหมวดนี้ คือ “สิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากกระบวนการแปรรูปไม้ และการผลิตแผ่นไม้ เครื่องเรือน เยื่อกระดาษ” และเหตุใดจึงอนุญาตให้ใช้วิธีการกำจัดไว้ในหมวด 082 ในแบบคำขออนุญาตนำส่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม

“เรื่องการกำจัดสิ่งปฏิกูลระบุว่า กำจัดโดยถมทะเล หรือที่ลุ่ม เฉพาะของเสียที่ไม่อันตรายเท่านั้น แต่นี่เป็นกากตะกอนจากกระบวนการผลิตสารเคมี และนำไปทิ้งในแหล่งน้ำ สารพวกนี้จะกระจายไปทั่ว ผมไม่ทราบว่าใครได้ประโยชน์ แต่ผมต้องพูดความจริง แม้แต่เทศบาลเมืองมาบตาพุดก็ถูกหลอก”

น.ท.ภาณุพงศ์ กล่าวว่า การเอายิปซัมที่เป็นสารเคมี มีโลหะหนัก 10 ชนิดปะปนอยู่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แล้วขนไปถมแหล่งน้ำ 35,000 ตัน ความเจือจางจะมีมาก หรือน้อยให้ไปคิดดู ผมห่วงลูกหลานในชุมชนใกล้เคียง ในอนาคต 5-10 ปีฝนตกแล้วมันจะกระจายไปถึงไหน อีกทั้งโลหะหนัก 10 ชนิดที่ส่งไปวิเคราะห์แล้วระบุว่า ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานนั้น ล้วนเป็นสารก่อมะเร็งด้วยซ้ำ”

พ.จ.อ.อณุลักษณ์ ทองสุข หัวหน้างานบริการรักษาความสะอาด เทศบาลเมืองมาบตาพุด ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบพบว่า มีการรับรองจากเจ้าของพื้นที่ และประธานชุมชน มีเอกสารพร้อม การที่จะกล่าวว่า เทศบาลถูกหลอกนั้น ความจริงบริษัทได้ยื่นผลการวิเคราะห์กับเทศบาลก่อนที่จะออกใบอนุญาต ส่วนที่ทำให้ประชาชนมีข้อกังวลนั้น ทางบริษัทได้ส่งตรวจวิเคราะห์ซ้ำอีกครั้ง ซึ่งผลการวิเคราะห์ใกล้เคียงกับที่เทศบาลได้ตรวจสอบครั้งแรกก่อนที่จะออกใบอนุญาต

นายพิษณุ จารุพัฒนะสิริกุล กรรมการบริษัท ทีเออาร์เอฟ จำกัด กล่าวว่า ยิปซัมเป็นผลผลิตจากกระบวนการผลิตของบริษัท ลาเพิร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีการปรับเสถียรและเก็บไว้ในโรงงานเป็นเวลานาน มีประมาณ 90,000 ตัน ขณะนี้มีผู้ดำเนินการใหม่เข้ามาใช้พื้นที่โรงงาน ก็จะต้องขนย้ายยิปซัมออก ซึ่งก่อนที่จะขนย้ายทางบริษัทได้ส่งยิปซัมไปตรวจวิเคราะห์ว่ามีอันตรายหรือไม่ จากผลวิเคราะห์หลายครั้งพบว่าไม่มีอันตราย และไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน จากนั้นมีการวางแผนการขนย้าย และขออนุญาตจากเทศบาลเมืองมาบตาพุด หลังได้ใบอนุญาตใขนย้ายครั้งแรก 35,000 ตัน ก็นำไปถมที่ลุ่ม ซึ่งได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ เมื่อทราบว่าชาวบ้านวิตกกังวล ทางบริษัทจึงมาชี้แจงทำความเข้าใจ

“ยอมรับว่าหลังได้รับใบอนุญาตก็ขนย้ายทันที ไม่ได้ทำความเข้าใจ หรือชี้แจงให้ชาวบ้านทราบก่อน เพียงแต่มีการพูดคุยกับประธานชุมชนอย่างเดียว ยอมรับเป็นการลัดขั้นตอน และหลังชาวบ้านท้วงติงบริษัทก็หยุดขนย้ายทันที อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราทำเป็นไปอย่างเปิดเผย มั่นใจว่าทำถูกกฎหมาย หากทำความเข้าใจได้ก็จะขนย้ายต่อ แต่ถ้ายังมีข้อสงสัยเราก็ยังไม่ดำเนินการ”
ชาวบ้านสงสัย และซักถาม ปัญหาหรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ของยิปซัม
ชาวบ้านยังให้ความสนใจน้อย ที่มาฟังคำชี้แจง
กำลังโหลดความคิดเห็น