xs
xsm
sm
md
lg

“ท่าเรือเชฟรอนฯ” ยอมยุติ หลังต้านพลังชุมชน และโต้ข้อมูลวิชาการไม่ไหว (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน จัดประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย จ.นครศรีธรรมราช ของบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ณ ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
 
 
โดย...ทรงวุฒิ  พัฒแก้ว  สมาคมรักษ์ทะเลไทย
 
เมื่อวานนี้ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเชฟรอนฯ ประกาศยุติโครงการท่าเรือเชฟรอนอย่างเป็นทางการ หลังจากเดินสายบอกประชาชน นักการเมืองท้องถิ่นก่อนหน้านี้ เพราะแพ้ภัยตัวเอง และต้านพลังของชุมชนท้องถิ่น นักวิชาการในพื้นที่ และนักวิชาการส่วนกลาง และองค์กรอิสระต่างๆ ที่รุมสับข้อมูลเชฟรอนหลัง คชก.ผ่านอีไอเอ มา 3 เดือนไม่ไหว อ้างไม่คุ้มการลงทุน เงื่อนไขเปลี่ยนไปจาก 5 ปีที่ศึกษา
 
วันที่ 7 ธ.ค.55 ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เชฟรอนฯ ออกแถลงข่าวตัดสินใจยุติการดำเนินในโครงการก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานในอ่าวไทย ที่บ้านบางสารต.กลาย     อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช อย่างเป็นทางการ พร้อมบอกเหตุผลเนื่องจากโครงการผ่านมาค่อนข้างยาวนาน ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งระยะเวลาใช้งานจริงของศูนย์พัฒนาแห่งใหม่ไม่ทันต่อการใช้งานในช่วงที่มีความต้องการสูงสุด
 
ก่อนหน้านี้ พนักงานเชฟรอนฯ ได้เดินสายขอเข้าพบนักการเมืองท้องถิ่นถึงการยกเลิกโครงการ แต่ถูกกระแสตีกลับ เพราะการบอกทางวาจาถือว่าไม่เป็นทางการ และไม่เป็นการรับรู้ในสาธารณะ  สุดท้าย ผู้บริหารเชฟรอนฯ ได้ส่งตัวแทนมาแถลงข่าว และออกเอกสาร 2 ฉบับ ถึงการประกาศยุติโครงการจริงๆ
 

 
กว่า 5 ปี ที่บริษัทเชฟรอนฯ ได้เข้ามาดำเนินการในพื้นที่อย่างเป็นทางการในพื้นที่นครศรีธรรมราช พร้อมกับเดินหน้าการจัดทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือที่เรียกว่าอีเอชไอเอ (EHIA) ของฐานท่าเรือเชฟรอนฯ ควบคู่ไปด้วย ที่ผ่านมา เชฟรอนฯ ให้ความสำคัญ และทุ่มทุนไปกับการสร้างภาพลักษณ์ของนักลงทุนระดับโลก เน้น CSR เพื่อประชาสัมพันธ์ด้านดีเพียงด้านเดียว และงบประมาณมหาศาล ผ่านกลุ่มชุมชนท้องถิ่น และภาครัฐ โดยละเลยข้อเท็จจริงเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการก่อสร้างท่าเรือดังกล่าว
 
ด้วยกลยุทธ์สร้างกำแพงทางเศรษฐกิจ และเม็ดเงินที่แจกจ่ายอย่างนักบุญ ที่เชฟรอนวางไว้ในการเอาพนักงานเข้ามาพักในพื้นที่ท่าศาลา เมืองนคร สร้างผลในเชิงบวกได้ไม่น้อยสำหรับโครงการ ทำให้คนในท้องถิ่นท่าศาลาเจอศึกสองด้านมาโดยตลอด เพราะการโปรยยาหอมในพื้นที่ย่อมส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนไม่มากก็น้อย รวมทั้งกระแสสังคมให้การยอมรับการลงทุน และการสร้างภาพแบบนี้
 
จนเมื่อโครงการท่าเรือเชฟรอนฯ ได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ชาวบ้านในพื้นที่ได้รุกโต้กลับอย่างหนัก เพราะความเข้าใจในตอนแรก ชุมชนคิดว่าเชฟรอนฯ ยอมถอนโครงการนี้ไปตั้งแต่ต้น หลังจากที่ชาวท่าศาลานับหมื่นคนได้ออกมาลงนามสัญญาประชาคมไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 54 แต่เมื่อชุมชนทราบว่า วันที่ 11 ก.ย.55 คชก.ได้ให้ความเห็นชอบอีเอชไอเอ เชฟรอนฯ ได้สร้างความตื่นตัวของคนในชุมชน และกระแสสังคมเป็นอย่างมาก อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนต่อโครงการใดๆ เพราะบทเรียนการต่อสู้หลายๆ ครั้ง ย่อมรับรู้ว่า หากปล่อยไปจะมีโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ทยอยเข้ามาอีกมาก
 
เมื่อชุมชนได้เปิดเผยข้อมูลวิชาการอีกด้านหนึ่ง ที่ร่วมกันศึกษากับนักวิชาการหลายสถาบัน แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวทองคำ   เศรษฐกิจชุมชน และวิถีชุมชนที่กำลังจะเสียไป โดยเฉพาะผลผลิตต่อเนื่องทางการประมงนับร้อยล้านบาทต่อปี ที่ส่งขายภายในประเทศ และต่างประเทศ เนื่องจากทะเลท่าศาลาถูกขนานนามว่า “อ่าวทองคำ” มาตั้งแต่ปี 2552 เพราะทะเลที่นี่ได้คืนความอุดมสมบูรณ์กลับมาอีกครั้ง หลังจากกองทัพเรือประมงพาณิชย์รุกรานเมื่อปี 51-52 ที่ชุมชนและท้องถิ่นได้ร่วมมือกันออกข้อบัญญัติท้องถิ่น จนสามารถจัดการเรือประมงพาณิชย์ โดยเฉพาะเรือคราดหอยลายได้สำเร็จ
 

 
ความเป็นอ่าวทองคำ จึงถือเป็นจุดแข็งของทะเลท่าศาลา หลังจากที่กระแสสังคมได้รับรู้ว่าจะมีการสร้างท่าเรือ และขุดลอกร่องน้ำขึ้นในบริเวณนี้ของบริษัทเชฟรอนฯ ก็เกิดกระแสต่อต้านอย่างหนัก ของชุมชน นักวิชาการ องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และกองทัพนักข่าวที่ได้ทยอยลงพื้นที่ และสร้างประเด็นการทำลายสิ่งแวดล้อมที่นี้เป็นประเด็นสาธารณะ
 
อีกทั้งกระบวนการจัดทำ EHIA ที่ผ่านการเห็นชอบของ คชก. และรอการอนุมัติของ สผ. มีข้อบกพร่องจำนวนมาก ทั้งการมีส่วนร่วม และข้อเท็จจริงของพื้นที่ที่เกิดขึ้น เพราะข้อมูลระบบนิเวศที่อ้างว่าไม่มีผลกระทบนั้นสวนทางกับความเป็นจริงที่อ่าวทองคำโดยสิ้นเชิง  เพราะที่อ่าวทองคำแห่งนี้มีเรือประมงทำมาหากินเกือบสองพันลำ เพราะเป็นระบบนิเวศปากแม่น้ำที่มีตะกอนดินเลน เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์น้อยใหญ่ ประเด็นอ่าวทองคำ และความอุดมสมบูรณ์จึงกลายเป็นพระเอกในการหยิบยกขึ้นมาต่อสู้ และคัดค้าน  กระแสของสาธารณะที่ต้องการปกป้องมากกว่าที่ทำลาย และมองเศรษฐกิจการพัฒนาทางวัตถุเป็นเรื่องเล็กๆ
 


 
สิ่งที่คนท่าศาลา และสาธารณะรับรู้ คือว่า เศรษฐกิจที่อ่าวทองคำหล่อเลี้ยงผู้คนประมาณ 5 พันคน รวมทั้งเศรษฐกิจกิจต่อเนื่องที่รับลูกต่อทางการประมง ไม่ว่าจะเป็นตลาดการท่องเที่ยว ร้านอาหารทะเล รวมทั้งการส่งออก ซึ่งหากการประมงล่มเพียงขาเดียว ทำให้ด้านอื่นๆ ล่มตามไปด้วย  ถึงแม้วันที่เชฟรอนฯ ประกาศยกเลิก จะมีนักธุรกิจกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์ออกมาบ่นบ้างก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงธุรกิจส่วนตัวที่ได้รับผลประโยชน์ของคนไม่กี่คน และไม่ได้เป็นประโยชน์ของคนจำนวนมาก เหมือนกับที่ต้องการรักษาทะเลไว้
 
การประกาศลุกขึ้นสู้อย่างมีรูปแบบ และมีพลังในครั้งนี้ของพี่น้องท่าศาลา ได้รับการยอมรับจากสาธารณะ เพราะหยิบยกความเป็นจริงของพื้นที่ ข้อมูลทางวิชาการ และโต้ไปตรงจุดอ่อนของบริษัท เชฟรอนฯ ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้เงินโปรยทางมากกว่าข้อเท็จจริง และการมีส่วนร่วมของอีไอเอ  ความบกพร่องของอีไอเอ ที่พบว่ามีการประชุมถึง 7 ครั้ง และครั้งที่ผ่านมาก็เนื่องจากมีการเปลี่ยนผู้พิจารณาใหม่  แม้ คชก.จะให้ความเห็นชอบ แต่ทางเชฟรอนฯ ก็ไม่ส่งรายงานที่ปรับแก้เข้าไปแต่อย่างใด
 
เรื่องนี้ ทางผู้บริหารของเชฟรอนฯ ออกมายอมรับในวันที่แถลงข่าวยกเลิกว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ใช้เวลายาวนาน และยากมากที่สุดในโลก เพราะมีขั้นตอนต่างๆ มากมายจนเวลาล่วงเลยมากว่า 5 ปี หากจะดำเนินการต่อไปก็ต้องฝ่าฟันอีกหลายขั้นตอน ซึ่งเมื่อผ่านขั้นตอนครบถ้วน เริ่มลงมือก่อสร้างก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 5 ปี มันจึงล่วงเลยระยะเวลาที่จำเป็นต้องใช้งานในโครงการนี้ไปแล้ว ในทางการดำเนินธุรกิจจึงไม่คุ้มกับระยะเวลา และค่าใช้จ่าย ผู้บริหารฯ และผู้ร่วมทุนจึงตัดสินใจระงับโครงการนี้
 

 
อย่างไรก็ตาม การลุกขึ้นมาต่อสู้ของพลังคนในท้องถิ่น และแนวร่วมทั้งหมดที่ผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่น และกลมเกลียวในพื้นที่ จนสร้างเวทีของชุมชน จนถึงวันที่เชฟรอนฯ ประกาศยุติ ถึง 117 เวที แม้จะยังไม่มีการชุมนุมใหญ่ ผู้บริหารของเชฟรอนฯ เอง ก็ประเมินได้ว่า ในเวทีย่อยก็มีนักวิชาการ ท้องถิ่น ชาวบ้านนับพันคน หากไม่ประกาศยกเลิกโครงการก่อน ปล่อยให้มีการชุมนุมใหญ่ เชฟรอนฯ เอง ก็จะกลายเป็นผู้ร้ายทางสังคมของประเทศ และยากจะกู้ภาพลักษณ์คืนมาได้  อีกทั้ง EHIA ถูกตั้งคำถามจากสังคม และอาจจะไม่ผ่านจากด่านที่เหลือ ไม่ว่าจะเป็น องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม กรมเจ้าท่าฯ ผู้ว่าฯ และท้องถิ่น ซึ่งรอสับโครงการนี้อยู่เช่นกัน การประกาศยกเลิกก่อนที่จะบอบช้ำจึงเป็นทางลงสุดท้ายที่ออกมาดูดีที่สุด
 
สำหรับกรณีการประกาศยกเลิกท่าเรือของเชฟรอนฯ ในครั้งนี้ แม้หลายฝ่ายมองไปหลายๆ มุม แต่การออกมาประกาศ และแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของผู้บริหารสูงสุดของประเทศไทย จะกลับลำคงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก หลังจากนี้ คงรอเอกสารอย่างเป็นทางการของสำนักงานนโยบายและแผน หรือ สผ. ที่ยืนยันการยกเลิกการสร้างท่าเรือเชฟรอนฯ กระบวนการทั้งหมด จึงถือว่าสิ้นสุด แต่เกมนี้ก็ใช่ว่าจะจบง่ายๆ ต้องติดตามอย่ากะพริบตา เพราะหากไม่ยกเลิกอีไอเอ ทางเชฟรอนฯ จะหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นเมื่อไหร่ก็ได้ ส่วนชุมชนก็คงเดินหน้าต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด เช่นกัน
 
(แล้วพบกันต่อ ในตอนที่ 2)
 


กำลังโหลดความคิดเห็น