xs
xsm
sm
md
lg

รุมยำท่าเรือเชฟรอนฯ ฟัน สผ.อนุมัติ EHIA ไม่ชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สผ.)
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เวทีไต่สวนข้อเท็จจริงโครงการท่าเทียบเรือเชฟรอนฯ นครศรีธรรมราช ระอุ แม้ “เชฟรอนฯ” ไร้เงาร่วม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเล็งฟัน คชก.อนุมัติรายงาน EHIA ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้าน อปท.ผสานเสียงชาวบ้านเผยการศึกษาผลกระทบไม่ครอบคลุม และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

วันนี้ (6 พ.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน จัดประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ของบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ภายหลัง โดยมีตัวแทนภาคราชการ นักวิชาการ องค์กรอิสระ ตัวแทนภาคประชาชน ร่วมชี้แจงและรับฟัง แต่กลับไม่มีตัวแทนบริษัทเชฟรอนมาร่วมชี้แจง

**สผ.แจง EHIA “เชฟรอน” ฉลุย ส่งไม้ต่อ กอสส.
นางปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า การพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA (Environment and Health Impact Assessment) ของโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิต ทั้งหมดปิโตรเลียมในอ่าวไทย อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช มาแล้ว 7 ครั้ง กระทั่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ คชก. มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2555 และให้บริษัทเชฟรอนจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ขั้นตอนต่อไปเป็นหน้าที่ของต่อองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส). เพื่อให้ความเห็นประกอบเพื่อพิจารณาต่อไป

โดยโครงการดังกล่าวจะใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 ปี มีแผนการก่อสร้างจะมีสะพานและท่าเทียบเรือรองรับได้ 4 ลำ มีเขื่อนกันคลื่นโดยที่ช่วยเสริมการกัดเซาะชายฝั่งที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อเสริมการดูแลให้แก่ภาครัฐด้วย ส่วนเรือประมงพื้นบ้านสามารถลอดใต้ได้ การก่อสร้างมีความสูง 9 เมตร ซึ่งบริษัทเชฟรอนมีแผนระยะยาวที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนในรัศมี 5 กม. ตั้งแต่ก่อน-หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จไปแล้ว 5 ปีแรก

**ซัด “โยธาฯ” เกียร์ว่าง อ้างผังเมืองรวมรอประกาศใช้
ด้าน น.ส.ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ได้สอบถามถึง คชก.ที่อนุญาต EHIA ว่าก่อนที่จะมีการเลือกพื้นที่นั้น ได้มีการสอบถามความคิดเห็นของชาวบ้านหรือไม่ เพราะการใช้พื้นที่ไม่เฉพาะถึงพื้นที่ของบริษัทที่ซื้อไว้ แต่รวมถึงทะเลที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาไม่ได้นำเสนอรายละเอียด แต่ คชก.ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ด้านผังเมืองรวมอยู่ด้วยก็ไม่ได้ท้วงติง และพื้นที่บ้านบางสาร ต.กลาย อ.ท่าศาลา เป็นพื้นที่สีเขียวนั้น ร่างผังเมืองรวมจังหวัดนครศรีธรรามราช ได้ห้ามมิให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม ท่าเรือ อุตสาหกรรม กิจกรรมการเก็บ ลำเลียงวัตถุอันรายในพื้นที่ชนบท และเกษตรกรรม (สีเขียว) ที่กำลังประกาศใช้ในปี 2555

นายวุฒิพงษ์ โยธาธิการและผังเมือง จ.นครศรีธรรมราช ชี้แจงว่า ตนเพิ่งมารับตำแหน่งไม่นาน และการทำงานให้ต่อเนื่องต้องนับหนึ่งใหม่ ตั้งแต่ค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเอง เพราะไม่มีการเก็บเอกสารจึงไม่มีรายละเอียด สำหรับเรื่องผังเมืองรวมของจังหวัดนั้น ยังไม่ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ จึงต้องรอไม่สามารถบังคับใช้ได้จะต้องประกาศตามกฎกระทรวง ประเด็นนี้ น.ส.ภารณี โต้แย้งว่า ระหว่างที่รอประกาศนั้น ก็มิได้หมายความว่าในขณะนี้ไม่มีผังเมืองใช้ตามที่ข้าราชการและบริษัทชอบนำมาอ้าง เพราะท้องถิ่นที่มีอำนาจในการควบคุม ดูแล เพื่อผังเมืองรวมเกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์

ต่อมา นายบรรจง นะแส นักวิชาการ กล่าวว่า ตนเตรียมขอความกระจ่างต่อบริษัทเชฟรอนฯ แต่กลับมีแต่ป้ายในที่ประชุม ทั้งที่เมื่อคืนเห็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทรับประทานอาหารค่ำอยู่ แต่ฝากคำถามว่า เอกสารที่มีนั้นชี้ว่าบริษัทจำเป็นต้องใช้สารเคมีในการขุดเจาะ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เคยเกิดขึ้นที่ จ.สงขลา มาก่อนที่บริษัทรับขุดเจาะน้ำมันได้เก็บกักสารกัมตรังสีในเขตเมืองสงขลา ซึ่งกรณีของเชฟรอนนั้นเป็นการย้ายฐานจากสัตหีบมายัง จ.นครศรีธรรมราช เป็นข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับสารกัมมันตรังสีที่เก็บอยู่ใน จ.สงขลาหรือไม่ อย่างไร

ส่วน ผศ.ดร.จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ กล่าวเป็นห่วงต่อกรณีผลกระทบที่มีต่อชุมชนในด้านความแตกแยกที่กำลังจะเกิดขึ้นกับชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งมีบทเรียนมาจากกรณีการขุดเจาะอ่าวไทยที่ จ.สงขลา ชาวบ้านรอพึ่งพาเงินของบริษัทที่แจกจ่ายไปยังส่วนต่างๆ และขอให้ภาครัฐตระหนักถึงจุดนี้ ที่ท่ามกลางความแตกแยกและความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบ

คณะอนุกรรมการได้พยายามซักถามรายละเอียดด้านมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และย้ำถึงมาตรา 67 วรรค 2 มาตรการและการกำหนดเขตคุ้มครองทางสิ่งแวดล้อม ต้องดำเนินการก่อนที่โครงการจะเกิดขึ้น มิใช่ค่อยเป็นค่อยไปแบบนี้ นั่นแสดงถึงความมิชอบของมติ คชก.ใช่หรือไม่

นายวีรนิต ฐานสุพร หัวหน้ากลุ่มงานสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เฉพาะ สผ. กล่าวว่า ในประเด็นนี้ สผ.ยังไม่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้น เพราะเพิ่งมาเริ่มคุยกับชุมชนในปี 2555 ที่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ทำข้อมูลที่เป็นเอกสารแสดงถึงระบบนิเวศของอ่าวท่าศาลาที่มีความสมบูรณ์ ซึ่งแม้กระบวนการนี้จะไม่มีกำหนดเวลาแล้วเสร็จเมื่อไหร่ แต่ก็ได้เร่งดำเนินการโดยมิได้นิ่งนอนใจ

**ชี้ศึกษาผลกระทบรัศมี 5 กม.ไม่ครอบคลุม
ดร.อาภา หวังเกียรติ อนุกรรมการสิทธิ ได้พยายามซักถึงประเด็นผลกระทบของชาวบ้าน ซึ่งปัญหาใหญ่คือ การกำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษา ซึ่ง สผ.อ้างว่ามีรัศมี 5 กม. แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด เรื่องนี้ นางปิยนันท์ ชี้แจงว่า การกำหนดพื้นที่ศึกษาผลกระทบโดยทั่วไปศึกษารัศมี 5 กม. แต่หากมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญว่ามีมากกว่า ก็สามารถขยายพื้นที่ศึกษาเพิ่มเติม

น.ส.สมพร เพ็งค่ำ นักวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า โครงการนี้จะชี้อนาคตว่าเมืองนครจะพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร หรือเมืองอุตสาหกรรม สช.จึงให้ความสำคัญในด้านสุขภาพด้วยความมีส่วนร่วมของชาวบ้าน และพบว่า ในอ่าวท่าศาลาที่เป็นที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกเชฟรอนมีความอุดมสมบูรณ์ทำให้เศรษฐกิจเกื้อกูลกันอย่างเข้มแข็ง ในลักษณะ “เกลอเล..เกลอนา..เกลอเขา” ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างที่ทำกินทั้งบนเขา ที่ราบ และทะเล

“หากกำหนดขอบเขตพื้นที่การศึกษาที่ผิดพลาด ก็จะทำให้การศึกษาและกระบวนการพิจารณานั้นผิดพลาดทั้งหมดด้วย รวมถึงกระบวนทัศน์ด้านสุขภาพที่ปัจจุบันมององค์รวม ไม่ใช่แค่การเจ็บป่วยตามมิติของบริษัทเชฟรอนฯ แต่ต้องลึกซึ้งถึงการล่มสลายของระบบชาวประมงพื้นบ้าน ดังนั้น กระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านกลุ่มนี้ที่ถูกเขียนในรายงาน EHIA จึงไม่ตรงข้อเท็จจริง” น.ส.สมพรกล่าว

***อปท.-ชาวบ้านผสานเสียงไม่เอาท่าเรือ
นายยุทธนา พิมเสน ว่าที่ นายก อบต.กลาย กล่าวว่า ระยะเวลา 4 ปี ชาวบ้านกังวลว่าหากท่าเรือเชฟรอนฯ เกิดขึ้นได้จะเป็นจุดเริ่มต้นของโรงไฟฟ้าถ่านหิน, โรงงานอุตสาหกรรม, โรงกลั่น หรือท่อส่งก๊าซ และนายก อบต.ในพื้นที่ได้ลงนามปฏิญญาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่นเดียวกับที่นายบุญโชค แก้วแกม นายก อบต.ท่าขึ้น กล่าวสนับสนุนให้พื้นที่อ่าวท่าศาลา เป็นแหล่งอาหารแก่คนที่ยังคงต้องการบริโภคข้าว น้ำ และปลา เลี้ยงคนทั้งใน และนอกพื้นที่ต่อไป

ส่วนนายประสิทธิชัย หนูนวล นักปฏิบัติการเอชไอเอชุมชน กล่าวว่า โครงการของเชฟรอนฯ เข้าข่ายเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง และไม่เข้าใจว่า สผ.อนุมัติรายงานที่ไม่ชอบธรรม และศึกษาผลกระทบไม่ครอบคลุมได้อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เกิดขึ้นอย่างไม่ถูกต้องสมบูรณ์ และไม่เป็นที่ยอมรับทำให้มีการออกจากห้องล้มเวทีการประชุมก็มี ดังนั้น สผ.ต้องถอนคำอนุมัติเสียด้วยซ้ำ มิฉะนั้น ชาวบ้านจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน

**ตั้งข้อสงสัย คชก.อนุมัติ EHIA มิชอบ
นายชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ อนุกรรมการสิทธิ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ สผ.ไม่ให้เกียรติอนุกรรมการสิทธิ ตลอดจนส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้าน และขอให้ทำหนังสือกล่าวโทษถึง สผ.อย่างเป็นทางการ ที่มอบตัวแทนมากล่าวชี้แจงแทนด้วยความไม่ชัดเจน ดังนั้น หากไม่ส่งรายละเอียดที่ชัดเจนส่งต่อคณะกรรมการสิทธิภายหลัง จะถือว่าเป็นมติ คชก.ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะในทางปฏิบัติควรจะชี้แจง และเปิดข้อมูลกันต่อหน้าประชาชน แต่หาก สผ.ส่งข้อมูลมาแล้วตนก็จะพิจารณาและเปิดเผยต่อแก่ชาวบ้านในการประชุมครั้งต่อไป

ด้าน นพ.นิรันดร์ เสนอให้ สผ.ได้กลับไปทบทวนมติ หรือหาทางแก้ไข เพื่อมิให้เกิดผลกระทบที่ลุกลาม ตลอดจนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะยุทธศาสตร์จังหวัดนั้นจะรองรับการเกษตร-ท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรม เพื่อความเป็นธรรมต่อชาวบ้านต้องอาศัยฐานทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีพ เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่ตัดสินใจว่าจะเข้ามาลงทุนหรือไม่


อ.ประสาท มีแต้ม อนุกรรมการสิทธิชุมชน
ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช















กำลังโหลดความคิดเห็น