xs
xsm
sm
md
lg

กก.สิทธิมนุษยชนลงพื้นที่ จ.ตรัง รับฟังปัญหา กฟผ.เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่รับฟังคำชี้แจงกรณี กฝผ. จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.กันตัง จ.ตรัง พร้อมเสนอให้มีการทบทวนการทำงานเสียใหม่ ระบุ ครม.อนุมัติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม 2 และโรงไฟฟ้าจะนะ 2 ซึ่งกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งถือว่ามากเพียงพอ

วันนี้ (17 ก.ค.) ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีตรัง นายนิรันดร์ พิทักษวัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมสิทธิมนุษยชน รวม 6 คน เข้ารับฟังคำชี้แจงด้วยวาจา จากคณะทำงานศูนย์พัฒนาข้อมูลพลังงาน จ.ตรัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เครือข่ายประชาชนคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน เอ็นจีโอ หน่วยงานด้านการปกครอง สำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาสิ่งแวดล้อม ผู้นำท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากกรณีที่มีการร้องไปยังสำนักงานคณะกรรมสิทธิมนุษยชน เรื่องความไม่โปร่งใส และความไม่ชัดเจนในการแจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน ในพื้นที่เป้าหมาย 3 ตำบล ของอำเภอกันตัง

โดย กฟผ.ได้รายงานว่า เนื่องจากรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน มอบหมายให้ กฟผ. ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินซับบิทรูบินัส ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินก่อสร้างในพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการขนส่งทางทะเล อยู่ใกล้แหล่งน้ำ และมีชุมชนไม่หนาแน่น หลังจากได้ศึกษาภูมิประเทศหาพื้นที่เหมาะสมแล้ว ก็จะไปออกแบบโรงไฟฟ้าว่าจะมีขนาดเท่าไหร่ และนำข้อมูลชี้แจง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และส่วนท้องถิ่น ให้ทราบถึงลักษณะโครงการ ก่อนเข้าไปให้ความรู้แก่ทางชุมชนในพื้นที่จังหวัดตรัง

โดยขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนที่ 3 เรื่องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากประชาชน และท้องถิ่น พร้อมรายงานถึงปริมาณเชื้อเพลิงสำรองของโลกว่ามีเหลือน้อยมาก และอัตราการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยมีการเติบโตตลอดเวลาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และจังหวัดในภาคใต้ก็มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ว่า ขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมจากทาง กฟผ.เลย ทั้งที่บริเวณที่จะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น อยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำปะเหลียน และคลองเจ้าไหม ที่มีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรทางทะเล ทั้งนี้ ตามกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า พื้นที่ชุ่มน้ำถือเป็นเขตอนุรักษ์ และหน่วยงานภาครัฐจะเข้าไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ ซึ่งหากจะก่อสร้างโรงไฟฟ้า ก็คงเข้าไปดำเนินการในพื้นที่นี้ไม่ได้เช่นกัน

ส่วนเครือข่ายชาวบ้าน และเอ็นจีโอได้ให้ข้อมูล ข้อเรียกร้อง และข้อเสนอแนะไปในทิศทางเดียวกัน คือ ต้องการให้ผู้นำในท้องถิ่นมีความเป็นกลาง ส่วน กฟผ.ควรให้ความรู้แก่ชาวบ้านอย่างตรงไปตรงมา และใช้ภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจได้ พร้อมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบอย่างเปิดใจ และเป็นข้อมูลที่จริงๆ ชัดเจน โดยอยากให้พื้นที่ อ.กันตัง เป็นกรณีศึกษา สำหรับการประนีประนอมพูดคุยกัน ระหว่างหน่วยงาน และชาวบ้าน แต่ไม่อยากให้เกิดการต่อต้าน และความรุนแรงขึ้นในพื้นที่

พร้อมกันนี้ เครือข่ายชาวบ้านยังได้ระบุถึงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ กฟผ.บางคน ที่ลงไปทำงานด้านมวลชนในพื้นที่ แต่กลับมีพฤติกรรมไม่เหมาะ คือ ใช้คำพูดลวนลาม และคุกคามผู้หญิง จึงอยากให้ทางผู้ใหญ่ของ กฟผ.ลงมาดูแลด้วย

ทั้งนี้ ดร.อาภา หวังเกียรติ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ ครม.ได้อนุมัติให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนอม 2 และโรงไฟฟ้าจะนะ 2 ซึ่งหากดูกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งถือว่ามากเพียงพอ จึงไม่น่าจะจำเป็นต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดตรังอีก เพราะเป็นพลังงานที่ก่อให้เกิดมลพิษ ถึงแม้ทาง กฟผ.จะอ้างถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็ตาม ที่สำคัญก็คือ รัฐมีหน้าที่แค่เข้ามาดูแลทรัพยากรทั้งหมดเท่านั้น แต่การบริหารจัดการเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งผลกระทบต่างๆ หรือการแสดงความคิดเห็น การตัดสินใจกำหนดอนาคต และการตรวจสอบโครงการ

ดังนั้น กฟผ.ต้องกลับไปทบทวนการทำงานใหม่ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แต่ไม่ควรเดินหน้าทำรายงาน EHIA เพราะอาจทำให้มีปัญหาตามมาทีหลัง พร้อมทั้งนำยุทธศาสตร์จังหวัดตรังมาทบทวนร่วมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น