กระบี่ - กฟผ.พบสื่อมวลชน จ.กระบี่ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของจังหวัด และพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน ยันยังอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ
นายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นประธานในงานสัมมนาสื่อมวลชนกับคนการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวของจังหวัด และพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน จัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมมารีไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท จังหวัดกระบี่ โดยมีสื่อมวลชน และอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้าน (อปม.) จังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยผู้บริหาร กฟผ. คณะทำงานศูนย์ข้อมูลพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจังหวัดกระบี่ และผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. เข้าร่วม
การจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสื่อมวลชนกับผู้ปฎิบัติงาน กฟผ.และเป็นการพบปะพูดคุยเรื่องขั้นตอนการศึกษาและจัดทำรายการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ หรือรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (ค 2) รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสื่อมวลชนกับผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เพื่อทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะได้นำข้อมูลต่างๆ ทั้งด้านบวกและด้านลบ จากการทำโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ที่ได้รับการสะท้อนจากสื่อมวลชนไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และตรงตามความต้องการของชุมชน
ว่าที่ พ.ต.ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการวิชาการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่ รวมทั้งพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน โดยมีขั้นตอน และกรอบระยะเวลาดำเนินการ ระยะที่ 1 การศึกษา และการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของโรงไฟฟ้า และท่าเทียบเรือโดยบริษัทที่ปรึกษา ระยะเวลาศึกษา 1 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2555-2556 ระยะที่ 2 การขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการคณะต่างๆ ระยะเวลาการพิจารณา 1 ปี และในกรณีการศึกษาในระยะที่ 1 ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการคณะต่างๆ รวมทั้งผ่านความเห็นชอบจากมติ ครม. โครงการก่อสร้างดังกล่าวจะใช้เวลาในการดำเนินการก่อสร้าง 5 ปี
ว่าที่ พ.ต.ดร.อนุชาต กล่าวอีกว่า ในส่วนด้านการศึกษา EHIA ได้แก่ 1.ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ 2.ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพระบบนิเวศวิทยา 3.คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต สำหรับที่ตั้งโรงไฟฟ้า และเส้นทางการขนส่งถ่านหิน โดยจะผ่านอำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา ด้านการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมี 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ โครงการท่าเทียบเรือบริเวณโรงไฟฟ้ากระบี่ และโครงการท่าเทียบบริเวณสะพานช้าง
ส่วนของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจัดขึ้นในครั้งที่ 1 เพื่อกำหนดขอบเขตแนวทางการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เมื่อวันที่ 25-26 สิงหาคมที่ผ่านมาแล้ว ส่วนช่วงต่อไป เป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 หรือ ค 2 เพื่อประเมินผลการศึกษา จะดำเนินการตั้งแต่พฤศจิกายน-ธันวาคม 2555 นี้ โดยมีบริษัท แอร์เซฟ จำกัด บริษัทที่ปรึกษา ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อประเมินผลการศึกษา อันจะเป็นผลดีต่อการจัดทำรายงานการศึกษา และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวจังหวัดกระบี่ ในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในอนาคต
สำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่ในอนาคต จะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด Clean Coal Technology กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ เชื้อเพลิงถ่านหินคุณภาพดี ประเภทซับบิทูมินัส หรือบิทูมินัส แหล่งถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีการควบคุมคุณภาพอากาศโดยเครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ เครื่องดักจับฝุ่น ระบบไฟฟ้าสถิต และเครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ยืนยันว่าขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ยังไม่มีการดำเนินการนอกเหนือดังที่กล่าวมาข้างต้น