xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงพลังงานรุกกระบี่ส่ง “นิด้า” ทำ SEA อดีตคน กฟผ.รับโรงไฟฟ้ากระทบคนปกาสัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กระทรวงพลังงาน รุกกระบี่ ส่งนิด้าประเมินสิ่งแวดล้อมยุทธศาสตร์ อดีตคน กฟผ.รับโรงไฟฟ้ากระทบคนปกาสัย หวั่นส่งผลชุมชน-ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม กลุ่มชาวบ้านยันค้านมึนชักธงรบต้าน เผยข้อมูลไม่พอ
นายสมยศ ขันทอง และนายชลิต สุโข ช่วยกันนำข้อมูลผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินอธิบายในเวที ยันค้านโรงไฟฟ้ากระบี่
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 29 สิงหาคม 2555 ที่ศาลาการเปรียญวัดปกาสัย ตำบลปกาสัย อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ สำนักปลัดกระทรวง กระทรวงพลังงาน ร่วมกับคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดเวทีเสวนา และรับฟังความคิดเห็นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการด้านพลังงาน ภายใต้โครงการด้านพลังงาน กรณีศึกษาจังหวัดกระบี่ โดยใช้การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment:SEA) ซึ่งมีนายอำเภอเหนือคลอง รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ผู้บริหาร และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านจากตำบลปกาสัย ตำบลตลิ่งชัน และตำบลใกล้เคียง ประมาณ 70 คน

รองศาสตราจารย์จำลอง โพธิ์บุญ ผู้เชี่ยวชาญนโยบายและการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า การศึกษาโครงการฯ มุ่งศึกษาศักยภาพและข้อจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมในการวางนโยบาย และพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดกระบี่ให้มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของจังหวัด เพื่อศึกษารูปแบบ กระบวนการขั้นตอน และองค์ประกอบในการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อสอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า และจัดทำแนวการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจังหวัดกระบี่

รองศาสตราจารย์จำลอง ชี้แจงอีกว่า เพื่อพัฒนารูปแบบ และกระบวนการมีส่วนร่วม ที่สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า ทั้งในกระบวนการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การคัดเลือกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกำหนดกิจกรรมการมีส่วนร่วมที่สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนา เพื่อศึกษาแนวทาง วิธีการพัฒนาภาพลักษณ์นโยบาย แผนงาน โครงการ แนวทางวีธีการประชาสัมพันธ์

รองศาสตราจารย์วิสาขา ภู่จินดา ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า โครงการมีศึกษารูปแบบที่เหมาะสมของกองทุนสิ่งแวดล้อมด้านการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประชาชน ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพื่อให้กองทุนฯ เป็นที่ยอมรับของชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า และพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนวางแผนการบริหารจัดการให้กองทุนดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายดำรัส ประทีป ณ ถลาง กำนันตำบลปกาสัย กล่าวในเวทีว่า โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ผ่านมามีการจัดเวที 4 ครั้ง ประกอบด้วย วันที่ 28 กรกฎาคม 2555 ที่โรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุง ตำบลเหนือคลอง วันที่ 7 สิงหาคม 2555 ที่วัดปกาสัย และระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2555 ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 2 ตำบลโคกยาง อำเภอเหนือคลอง

“ถึงแม้ว่าโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ตั้งอยู่ในตำบลคลองขนาน แต่คนตำบลปกาสัยได้รับผลกระทบเต็มๆ ปัจจุบัน ได้รับผลกระทบจากควันของโรงไฟฟ้า ในอนาคตหากมีการก่อสร้างชาวบ้านได้รับผลกระทบแน่ๆ อีกทั้งเส้นทางการขนส่งถ่านหินจากท่าเทียบเรือผ่านคลองปกาสัย ชาวบ้านกังวลว่าจะกระทบกับทรัพยากรทางทะเล และสุขภาพ” นายดำรัสกล่าว

นายชลิต สุโข สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปกาสัย หมู่ที่ 1 ตำบลปกาสัย กล่าวในเวทีว่า ตนยืนยันไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นทุกเวทีที่ผ่านมา เพราะมีผลกระทบต่อคนปกาสัย ไม่ใช่คนคลองขนาน เขาพนม ปลายพระยา ฯลฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่ไปรับงานจากกระทรวงพลังงาน ต้องวางตัวให้เป็นกลาง อย่าชี้นำ ก็เหมือนๆ กับคนรับจ้างถางสวนยางพารา ต้องถางให้ดีเจ้าของส่วนถึงจะจ่ายเงินให้ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ก็เช่นกัน ต้องตอบสนองต่อกระทรวงพลังงานให้ได้

นายไพฑูรย์ สุวรรณบริบาล อดีตผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าภาคใต้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เล็งพื้นที่ภาคใต้ 9 จังหวัด ที่เหมาะสม เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน สำหรับโรงไฟฟ้ากระบี่ตนยอมรับว่ามีผลกระทบต่อชุมชน สิ่งแวดล้อมจริง ซึ่งปัจจุบัน ยังต้องแก้ไข ถ้าในอดีตไม่ต้องพูดถึงทั้งฝุ่น และเถ้าลอย แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะแก้ปัญหาให้ อีกทั้งกระบี่มีความชื้นในอากาศสูงจึงมีควันจากโรงไฟฟ้า 5-6 กิโลเมตร

“ปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีเทคโนโนโลยีถ่านหินสะอาดดีขึ้นต้องยอมรับว่าสามาถควบคุมได้ 70 เปอร์เซ็นต์ จนสามารถตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์ ไม่ให้เกิดมลพิษซ้ำอีก ชาวบ้านไม่ต้องกังวลกระทรวงพลังงาน หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดไหม เรามีมาตรการเข้มงวดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบตามมา” นายไพฑูรย์กล่าว

หมายเหตุ
โครงการขยายกาลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงไฟฟ้ากระบี่ ที่ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ขนาดกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 870 เมกะวัตต์ (ขนาดกาลังผลิตสุทธิประมาณ 800 เมกะวัตต์) โดยใช้ถ่านหินนำเข้าเป็นเชื้อเพลิง มูลค่าโครงการทั้งหมดประมาณ 50,000 ล้านบาท

กระบวนการผลิต การผลิตไอน้ำ หม้อไอน้ำทำหน้าที่ผลิตไอน้ำแรงดันสูงเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า การผลิตไอน้ำแรงดันสูงเริ่มจากถ่านหินจากพื้นที่กองเก็บ ถูกส่งไปบดให้เป็นผงขนาดเล็ก และป้อนเข้าสู่ห้องเผาไหม้ ก๊าซร้อนซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ภายในหม้อไอน้ำจะถ่ายเทความร้อนให้แก่น้ำ ทาให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนกลายเป็นไอ ไอน้ำที่ผลิตได้ถูกป้อนเข้าสู่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าต่อไป ทั้งนี้ ก๊าซร้อนจากการเผาไหม้ถ่านหินประกอบด้วยมลสารต่างๆ เช่น ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และฝุ่นละอองจากเถ้าเบา ซึ่งมวลสารดังกล่าวถูกควบคุมด้วยระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพสูง เช่น ระบบควบคุมก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน โดยใช้ตัวเร่งร่วมกับแอมโมเนียเหลว (Selective Catalytic Reduction; SCR) ระบบดักฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Precipitator; ESP) และระบบควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Flue Gas Desulphurization ; FGD) ตามลำดับ ก่อนปล่อยสู่บรรยากาศทางปล่องสูงต่อไป

การผลิตไฟฟ้าไอน้ำแรงดันสูงที่ผลิตได้จากหม้อไอน้ำถูกส่งไปขับเครื่องกังหันไอน้ำซึ่งเชื่อมติดอยู่กับแกนเพลาของเครื่องกาเนิดไฟฟ้า เมื่อกังหันไอน้ำหมุนก็จะทำให้แกนเพลาขับเคลื่อนแม่เหล็กให้เคลื่อนที่ตัดกับขดลวดของเครื่องกาเนิดไฟฟ้า ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น โครงการมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งประมาณ 870 เมกะวัตต์ โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนหนึ่ง (ประมาณ 70 เมกะวัตต์) ถูกนามาใช้ภายในโครงการ โดยกระแสไฟฟ้าส่วนที่เหลือประมาณ 800 เมกะวัตต์ ถูกเพิ่มแรงดันด้วยหม้อแปลงไฟฟ้าก่อนส่งเข้าระบบสายส่งต่อไป สำหรับไอน้ำที่ผ่านการใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วจะมีพลังงานลดลง และถูกส่งมาควบแน่นที่ระบบหล่อเย็น เพื่อนำกลับไปใช้ผลิตไอน้ำอีกครั้ง

ระบบสนันสนุนการผลิต
1.น้ำใช้ โครงการมีความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ของโครงการประมาณ 3,830 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยรับน้ำมาจากบ่อน้ำดิบของโครงการ

2.ระบบหล่อเย็น มีหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของอุปกรณ์ต่างๆ ในส่วนการผลิต พร้อมทั้งควบแน่นไอน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วให้กลายเป็นของเหลว (น้ำคอนเดนเสท) เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์อีกครั้ง ทั้งนี้ โครงการตั้งอยู่ใกล้กับคลองปกาสัยจึงใช้น้ำจากคลองปกาสัยเป็นน้ำหล่อเย็น น้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วจะถูกระบายกลับสู่คลองปกาสัย

3.ระบบระบายน้ำฝน แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ น้ำฝนที่ไม่มีโอกาสปนเปื้อนจะถูกระบายลงสู่รางระบายน้ำฝนของโรงไฟฟ้า ส่วนน้ำฝนที่อาจปนเปื้อน โครงการได้จัดให้มีระบบบาบัดน้ำเสีย

4.ระบบขนถ่ายและลำเลียงถ่านหิน โครงการนาเข้าถ่านหินบิทูมินัสจากต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ซึ่งมีการขนส่งด้วยเรือมายังท่าเทียบเรือของโครงการ

สารเคมี
สารเคมีที่ใช้ในโครงการส่วนใหญ่ถูกใช้ในระบบเสริมการผลิต หรือระบบสาธารณูปโภค เช่น การปรับปรุงคุณภาพน้ำ ระบบหล่อเย็น การควบคุมมลพิษทางอากาศ เป็นต้น สารเคมีที่ใช้ในโครงการ เช่น แอมโมเนียมเหลวใช้สำหรับระบบควบคุมก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน แอมโมเนียใช้ในการปรับความเป็นกรด-ด่าง (พีเอช) ของน้ำในระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำในเครื่องผลิตไอน้ำ เพื่อป้องกันการเกิดตะกรัน และการกัดกร่อนของระบบท่อ และอุปกรณ์ต่างๆ ก๊าซคลอรีนใช้เติมในระบบหล่อเย็นเพื่อควบคุม และป้องกันการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น เพรียงหอย เพื่อไม่ให้ไปอุดตันระบบท่อ และอุปกรณ์ของระบบหล่อเย็น และใช้ในระบบควบคุมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากการตรวจสอบสารเคมีกับข้อมูลของหน่วยงานสากลต่างๆ เช่น International Agency for Research on Cancer (IARC) พบว่า สารเคมีที่ใช้ในโครงการมิได้จัดอยู่ในกลุ่มที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ นอกจากนี้ อาคารเก็บสารเคมีเป็นอาคารปิดมิดชิด เป็นอาคารที่มีหลังคาสูงโปร่ง มีการระบายอากาศที่ดี มีทางเข้าออกง่าย มีเครื่องมือแสดงทิศทางลมติดตั้งไว้ พร้อมมีอุปกรณ์ความปลอดภัย ได้แก่ หน้ากากกรองอากาศ และเครื่องช่วยหายใจ

ที่มา:เอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นการกำหนดขอบเขตและแนวทาง การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น