xs
xsm
sm
md
lg

คนกระบี่ลุยศึกต้านโรงไฟฟ้า เดินหน้าค้าน กฟผ.สร้างท่าเรือถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คนกระบี่ประกาศศึกลุยต้านโรงไฟฟ้า เดินหน้าค้านสร้าง “ท่าเรือถ่านหิน” ประมงพื้นบ้านหวั่นเส้นทางเรือแออัด ชี้ร่องน้ำตื้นต้องขุดลอก-ระเบิดหินกระทบทรัพยากรทะเล จวก “กฟผ.” หมกเม็ดข้อมูล อัดงบสื่อท้องถิ่นโฆษณาชวนเชื่อ ล็อบบี้ผู้นำชุมชน
นายชลิต สุโข สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปกาสัย
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.กระบี่ว่า เช้าวานนี้ (26 ส.ค.) ที่หอประชุมโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 2 ตำบลโคกยาง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับบริษัทแอร์เซฟ จำกัด มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA) สำหรับโครงการท่าเทียบเรือบริเวณโรงไฟฟ้ากระบี่ ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง โดยมีชาวบ้านจากอำเภอเกาะลันตา อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองคลองท่อม และอำเภอใกล้เคียง จังหวัดกระบี่ ร่วมประมาณ 300 คน 
 
โครงการท่าเทียบเรือบริเวณโรงไฟฟ้ากระบี่ ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงไฟฟ้าเดิม ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ จัดสร้างขึ้นเพื่อขนถ่ายถ่านหินที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เข้าสู่โรงไฟฟ้ากระบี่ในโครงการขยายกาลังผลิตไฟฟ้ากระบี่ จะใช้เรือเดินทะเลขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์สำหรับขนถ่ายถ่านหินติดตั้งใช้งานบนเรือ มีระวางบรรทุกระหว่าง 50,000-100,000 DWT ขนส่งถ่านหินจากท่าเรือต้นทาง เช่น อินโดนีเซียมายังจุดขนถ่ายถ่านหินกลางทะเลบริเวณเกาะปอ จากนั้น ใช้อุปกรณ์บนเรือคือ crane & grab ทำการขนถ่ายถ่านหินจากระวางเรือใหญ่ลงสู่เรือบาร์จ โดยมีอัตราการขนถ่ายประมาณ 1,200 ตันต่อวัน
 
สำหรับเส้นทางขนส่งถ่านหินของเรือบาร์จ จะเริ่มจากจุดทอดสมอบริเวณเกาะปอ-แหลมหิน-คลัง น้ามันบ้านคลองรั้ว-แหลมกรวด-คลองเพหลา-คลองปกาสัย-ท่าเทียบเรือบริเวณโรงไฟฟ้า
 
จากนั้น ช่วงบ่ายมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดขอบเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA) สำหรับโครงการท่าเทียบเรือบริเวณสะพานช้าง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
 
โครงการท่าเทียบเรือบริเวณสะพานช้าง ตั้งอยู่ริมคลองเพหลา หมู่ที่ 6  บริเวณบ้านคลองหวายเล็ก ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง ห่างจากโรงไฟฟ้ากระบี่ ไปทางทิศใต้ประมาณ 8 กิโลเมตร ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 15.7 กิโลเมตร จะใช้เรือเดินทะเลขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์สำหรับขนถ่ายถ่านหินติดตั้งใช้งานบนเรือ มีระวางบรรทุกระหว่าง 50,000-100,000 DWT ขนส่งถ่านหินจากท่าเรือต้นทาง เช่น อินโดนีเซีย มายังจุดขนถ่ายถ่านหินกลางทะเล บริเวณเกาะปอ จากนั้นใช้อุปกรณ์บนเรือ คือ crane & grab ทำการขนถ่ายถ่านหินจากระวางเรือใหญ่ลงสู่เรือบาร์จ โดยมีอัตราการขนถ่ายประมาณ 1,200 ตันต่อวัน
 
สำหรับเส้นทางขนส่งถ่านหินของเรือบาร์จ จะเริ่มจากจุดทอดสมอบริเวณเกาะปอ-แหลมหิน-คลังน้ำมันบ้านคลองรั้ว-แหลมกรวด-คลองเพหลา-คลองปกาสัย-ท่าเทียบเรือบริเวณสะพานช้าง
 
นายชลิต สุโข สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปกาสัย หมู่ที่ 1 ตำบลปกาสัย กล่าวในเวทีว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน สร้างท่าเรือถ่านหิน ทั้งที่โรงไฟฟ้าน้ำมันเตา ยังก่อปัญหาให้แก่คนปกาสัยยังไม่ได้รับการแก้ไข ตนและชาวบ้านปกาสัยตั้งธงแล้วว่าจะต่อต้านไม่ให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเด็ดขาด แม้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตั้งธงก่อสร้างก็ตาม ตนจะกลับไปเผยแพร่ข้อมูลให้แก่ชาวบ้าน และหาแนวร่วมพื้นที่อื่นๆ ลุกขึ้นต้านให้เป็นขบวนให้จนได้
นายศุภรัตน์ ทองทิพย์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปกาสัย
นายศุภรัตน์ ทองทิพย์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปกาสัย หมู่ที่ 6 ตำบลปกาสัย กล่าวในเวทีว่า ตนคนหนึ่งที่ต้านทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการท่าเทียบเรือบริเวณโรงไฟฟ้ากระบี่ และโครงการท่าเทียบเรือบริเวณสะพานช้าง ตั้งอยู่ริมคลองเพหลา หมู่ที่ 6  บริเวณบ้านคลองหวายเล็ก ตำบลคลองขนาน ซึ่งแน่นอนว่าไม่นานนี้ จะมีการแตกหักกันระหว่างคนที่สนับสนุน กับต้านแน่นอน
 
นายอดุลย์ ซอบีรีน ชาวบ้านบ้านหัวแหลม ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ แสดงความเห็นในเวทีว่า ขณะนี้ที่เกาะปอ ตำบลเกาะลันตาใหญ่ มีเรือบรรทุกปูนซีเมนต์ ของบริษัท เอสซีจี ซีเมนต์ จำกัด แออัดอยู่แล้ว หากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีการขนถ่ายถ่านหินอีก จะทำให้ปริมาณเรือเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่มีอาชีพอีกต่อไป ขนาดเรือบรรทุกปูนซีเมนต์เองยังส่งผลกระทบแล้ว หากเป็นถ่านหินย่อมอันตรายกว่าปูนซีเมนต์อยู่แล้ว ตนและชาวบ้านเกาะปอ แหลมทราย หัวแหลม ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 
นายพิบูลย์ สาระวารี นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาองค์กรชุมชนภาคพลเมืองจังหวัดกระบี่ แสดงความเห็นในเวทีว่า ตนได้ติดตามการทำงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมถึงการรับงานของบริษัทที่ปรึกษา และมหาวิทยาลัย พบข้อพิรุธ คือ มีการโฆษณาชวนเชื่อจากสถานีวิทยุ เชิงข่มขู่ชาวบ้านบอกว่าหากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้สร้างจะไม่มีไฟฟ้าใช้ อีกทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไม่เปิดเผยข้อมูลรอบด้านทั้งข้อดี ข้อเสีย แถมยังมีการนำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่นไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อล็อบบี้
 
“เรือขนส่งถ่านหินเดินทางจากอินโดนีเซีย ผ่านเกาะตะรุเตา ทะเลสตูล ทะเลตรัง ผ่านเกาะปอ เกาะยาว แหมกรวด 12 เที่ยวต่อวัน ทางเดินเรือเป็นน้ำตื้นถ้าจะเดินเรือต้องขุดลอก และระเบิดหินโสโครกใต้น้ำ 3 จุด ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรทะเลของชาวประมงพื้นบ้าน ของชาวบ้านตำบลเกาะศรีบอยา ตำบลตลิ่งชัน นี่ขนาดเรือบรรทุกน้ำมัน เตารั่วยังแก้ไขปัญหาไม่ได้เลย” นายพิบูลย์กล่าว 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น