กทท.เตรียมแผนสำรองผุดท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่แทนท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ยอมรับแรงต้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังหนัก เล็งฟื้นท่าเรือจุกเสม็ด (ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ) หรือท่าเรือเกาะสีชัง เหตุที่ตั้งเหมาะสมเชื่อมลอจิสติกส์ ความลึกเกิน 20 เมตร เดินหน้าตั้งงบศึกษาปี 56 ก่อนชงนโยบายตัดสินใจ
เรือตรี วิโรจน์ จงชาณสิทโธ ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเฟส 3 ว่า กทท.ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างมาก โดยบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ที่ปรึกษาโครงการได้ขอขยายเวลาศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ไปจนถึงเดือนกันยายน 2555 ซึ่งยอมรับว่าประชาชนในพื้นที่ยังคัดค้านการก่อสร้างเนื่องจากกังวลผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม กทท.มีแผนรองรับหากการขยายแหลมฉบังเฟส 3 ไม่ผ่านความเห็นชอบด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้พื้นที่อื่นทดแทน
โดยเบื้องต้นจุดที่เหมาะสมมี 2 แห่ง คือ 1. บริเวณท่าเรือจุกเสม็ด หรือท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ซึ่ง กทท.เคยบริหารเป็นท่าเรือพาณิชย์ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Easthern Seaboard) ต่อมาได้โอนคืนให้กองทัพเรือเนื่องจากต้องย้ายไปทำการที่ท่าเรือแหลมฉบัง และ 2. บริเวณเกาะสีชัง เนื่องจากเป็นจุดที่มีความลึกประมาณ 22-25 เมตร
เหมาะสมต่อการเป็นท่าเรือน้ำลึก และมีความสะดวกในการเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบังทั้งทางชายฝั่งซึ่งเชื่อมไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานีและเพชรบุรีได้ รวมถึงทางถนนและทางราง โดยเฉพาะท่าเรือจุกเสม็ดซึ่งเคยเป็นท่าเรือพาณิชย์มาก่อนมีความเหมาะสมมาก เพียงลงทุนปรับปรุงพื้นที่หน้าท่าและหลังท่า ปรับปรุงระบบเชื่อมโยงลอจิสติกส์ เช่น รถไฟทางคู่จากแหลมฉบัง-สัตหีบ, ขยายถนน และอยู่ใกล้สนามบินอู่ตะเภาอีกด้วย โดย กทท.มีแผนในการศึกษาท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยใช้งบประมาณปี 2556
“การก่อสร้างแหลมฉบังเฟส 3 จะมีการขุดทรายเพื่อถมทะเลทำท่าเรือยื่นออกไปในทะเลพื้นที่หลายร้อยไร่ ซึ่งต้องยอมรับว่าจะกระทบต่อระบบนิเวศ พื้นที่แนวชายฝั่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติ จากการมีท่าเรือยื่นออกไปในทะเล กระแสน้ำอาจจะเปลี่ยน และส่งผลกระทบไปถึงเมือง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะกระทบต่อการท่องเที่ยวได้ ดังนั้น กทท.ต้องหาแผนสำรองเตรียมไว้กรณีที่แหลมฉบังเฟส 3 ไม่เกิด โดยจะมีการเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป ” เรือตรี วิโรจน์กล่าว
เรือตรี วิโรจน์กล่าวยืนยันว่า ประเทศไทยต้องมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีปริมาณตู้สินค้า 6 ล้านทีอียูต่อปี มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี และในอีก 6 ปี เฟส 2 จะเต็มขีดความสามารถ ในขณะที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกจะต้องใช้เวลาประมาณ 6 ปี ดังนั้นจึงต้องเร่งตัดสินใจภายในปีนี้ว่าจะเอาอย่างไร