xs
xsm
sm
md
lg

เอกซเรย์พื้นที่สีม่วงใกล้ท่าเรือปากบารากับ “นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้

ในห้วงที่เมกะโปรเจกต์ถั่งโถมเข้าสู่จังหวัดสตูล โดยเฉพาะ การโหมโรงเข้ามาของโครงการแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล ที่จะเริ่มจากท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ไปเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ท่อขนส่ง และคลังน้ำมันละงู และท่อขนส่งน้ำมันที่จะไปเชื่อมกับคลังน้ำมันที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ของกระทวงพลังงาน ทางรถไฟรางคู่ที่จะใช้ขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือน้ำลึกปากบารา-ท่าเรือสงขลา แห่งที่ 2 พร้อมศูนย์ซ่อมบำรุง และสถานีบรรจุ และแยกสินค้า
พื้นที่ที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมหลังท่าเรือน้ำลึกปากบารา 1.5 แสนไร่
เอกสารรายงานผลการศึกษาโครงการสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ของกรมเจ้าท่าระบุว่า มีพื้นที่ที่มีศักยภาพพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมหลังท่าเรือถึง 1.5 แสนไร่ จากการสำรวจพบว่า พื้นที่ดังกล่าวคาบเกี่ยวอำเภอละงู อำเภอมะนัง อำเภอควนกาหลง และอำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล

อันตามมาด้วยแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท ท้ายกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสตูล พ.ศ. ... มาตราส่วน 1:250,000 ได้ระบุพื้นที่สีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า) ไว้ 3 พื้นที่ จุดแรก บริเวณตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล จุดที่สอง บริเวณตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล จุดที่สาม บริเวณตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
นายเวียง เตบเส็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว
“ผมไม่เคยรู้ว่ามีพื้นที่สีม่วงอยู่ที่ในตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล” นายเวียง เตบเส็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว พร้อมกับขอดูรายละเอียดว่า เป็นหมู่บ้านใดในตำบลเขาขาว

ตอนแรก นายเวียง เตบเส็น ไม่แน่ใจว่า พื้นที่สีม่วงดังกล่าวอยู่บริเวณเดียวกับหนองโพร๊ะบุหลัง ซึ่งมีอาณาบริเวณ 10 ไร่ ที่ตอนนี้ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาวจัดงบประมาณปรับปรุงภูมิทัศน์ 10 ล้านบาท หรือจะเป็นที่ดินของ “เสี่ยเกียรติ” นายสมเกียรติ เลียงประสิทธิ์ เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด เกียรติเจริญชัยการโยธา ซึ่งเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ของจังหวัดสตูล ตรงบริเวณหัวเขา ทางเข้าตำบลเขาขาว ริมคลองละงู หรือที่ใดกันแน่

เมื่อนายเวียง เตบเส็น สังเกตอย่างละเอียดจึงพบว่า น่าจะอยู่ตรงริมคลองละงู บริเวณบ้านดาหลำ ตำบลเขาขาว ฝั่งตรงข้ามเป็นบ้านห้วยมะพร้าว และบ้านทุ่ง ตำบลละงู พื้นที่ใกล้เคียงคือบ้านสันติสุข บ้านนาข่าใต้ ตำบลเขาขาว ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากทุกปี

บ้านดาหลำ มีพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ มีชาวบ้าน 800 กว่าคน บ้านสันติสุข 1,000 กว่าคน บ้านนาข่าใต้ 400 กว่าคน หากรวมหมู่บ้านใกล้เคียงแล้ว มีชาวบ้านทั้งสิ้น 2,000 กว่าคน หากนับรวมบ้านห้วยมะพร้าว และบ้านทุ่ง ตำบลละงู จำนวนประชากรน่าจะมากถึง 4,000 คน ชาวบ้านส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา ทำนาข้าว เป็นหลัก

“ถ้าบ้านดาหลำมีโรงงานอุตสาหกรรมหนัก ผมไม่เห็นด้วย กลัวมลพิษจะกระทบกับชาวบ้าน ซึ่งแก้ไขยากมาก แต่ถ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเบา อาจจะพอรับได้ ส่วนหนึ่งผมอยากให้คนตำบลเขาขาวมีงานทำ เพื่อลดปัญหาการว่างงาน แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีมลพิษ” นายเวียง เตบเส็น ย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

นายเวียง เตบเส็น บอกว่า ที่ผ่านมา ไม่มียังใครติดต่อมาทางองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว เพื่อขอตั้งโรงงานอุตสาหกรรม มีแค่โรงโม่หินพุทธา ขออำนาจสภาตำบลเขาขาวอนุมัติสร้างโรงโม่หิน ที่เขาบ้านหาญ ตำบลเขาขาว เมื่อ 10 ปีที่แล้ว สมัยที่ยังเป็นสภาตำบลเขาขาว สมัยนั้นไม่ต้องทำประชาคมหมู่บ้าน ภาษีที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาวจัดเก็บได้จากโรงโม่หินพุทธาปีละ 150,000 บาท

นายเวียง เตบเส็น บอกว่า ถ้าองค์การบริหารตำบลเขาขาวได้ภาษีจากแต่ละโรงงาน โรงงานละ 150,000 บาทต่อปี แต่ชาวบ้านได้รับมลพิษจนล้มป่วยมันก็ไม่คุ้มค่า

เมื่อ 3-4 ปี ครั้งที่โรงโม่หินพุทธาระเบิดหินที่เขาบ้านหาญ ชาวบ้านจำนวนมากก็ลุกขึ้นมาต่อต้านไม่ให้ระเบิดเขา เพราะได้รับผลกระทบจากฝุ่น และเสียงดัง จนโรงโม่หินพุทธาต้องล้มเลิกความคิดไป

ตำบลเขาขาว มีพื้นที่ประมาณ 3,500 ไร่ ประชากรประมาณ 6,000 กว่าคน มีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านสันติสุข บ้านหาญ บ้านบ่อหิน บ้านนาข่าเหนือ บ้านดาหลำ บ้านทุ่งเกาะปาบ และบ้านนาข่าใต้

“เคยได้ยินข่าวจากชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ตำบลเขาขาวเป็นพื้นที่ไข่แดงที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากท่าเรือน้ำลึกปากบารา ผมยอมรับว่าไม่รู้ข้อมูล เพราะไม่ได้ศึกษารายละเอียด”

นายเวียง เตบเส็น ค่อนข้างจะเห็นด้วยกับการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เช่น เป็นแค่โรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร แต่ต้องไม่เสี่ยงโรคร้ายที่มากับมลพิษอุตสาหกรรม

“พี่น้องตายไปหนึ่งคนไม่สามารถประเมินค่าเป็นเงินได้ มันไม่คุ้มกับรายได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว จัดเก็บภาษีได้จากโรงงานมลพิษ” นายเวียง เตบเส็น กล่าว
แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท ท้ายกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสตูล พ.ศ. ... มาตราส่วน 1250,000
หน่วยงานรัฐเองก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารา และพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากท่าเรือน้ำลึกปากบารา 1.5 แสนไร่ แก่คนตำบลเขาขาว

“ผมคิดไม่เห็นด้วยที่หน่วยงานรัฐทำมวลชนสัมพันธ์ โดยการดึงผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ผู้นำชุมชน โต๊ะอิหม่าม ด้วยการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้สนับสนุนโครงการ ทางที่ดีก็คือ การให้ข้อมูลทั้ง 2 ด้าน ทั้งด้านดี และด้านไม่ดี ผ่านการทำประชาคมหมู่บ้านทั้งตำบล ถ้าชาวบ้านไม่เอา ผมว่าคนที่อยากรับเงินก็ไม่กล้ารับ ใครรับถูกชาวบ้านโจมตีหนักแน่” นายเวียง เตบเส็น แนะกระบวนการการให้ข้อมูลเพื่อป้องกันการซื้อตัวผู้นำ

นายเวียง เตบเส็น เคยได้รับฟังคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่มาให้ข้อมูล ณ ที่ว่าการอำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อปลายปี 2554 ข้อมูลที่ได้รับมีแต่ผลดีเท่านั้น ไม่มีผลเสียอะไร บริษัทที่ปรึกษาฯ บอกว่า จะไม่ส่งผลกระทบกับตำบลเขาขาว เพราะพื้นที่ที่ใช้เป็นท่าเรือ เป็นที่ที่ถมลงไปในทะเล โดยไม่ยอมบอกว่า จะนำเขาดิน หิน ทราย จากภูเขา หาดทรายที่ไหนไปถมทะเล ไม่บอกถึงผลการศึกษาที่ระบุว่าพื้นที่ที่ศักยภาพรองรับนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากท่าเรือน้ำลึกปากบาราว่า กินอาณาบริเวณไหนบ้าง

ด้วยเหตุนี้ นายเวียง เตบเส็น จึงต้องการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา รวมถึงองค์การพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ลงมาให้ข้อมูลในเวทีเดียวกัน

“องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว พร้อมรับเป็นเจ้าภาพจัดเวทีให้การศึกษาแก่ผู้บริหาร และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โต๊ะอิหม่าม ครู และชาวบ้านในตำบลเขาขาว”

เป็นถ้อยคำยืนยันหนักแน่นจากปากของนายเวียง เตบเส็น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว
กำลังโหลดความคิดเห็น