xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำผู้ใหญ่บ้านปากบาง อ.ละงู จ.สตูล “ชาวบ้านไม่เคยรู้ เขาจะเอาที่เราตั้งคลังน้ำมัน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“นายนรินทร์ สมันตกาญจน์” เพิ่งรับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านปากบาง ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ได้แค่ 3 เดือน แทนที่ “นายต่ายูเด็น บารา” ผู้ใหญ่บ้านคนเดิม ที่เพิ่งพ้นตำแหน่งเมื่อไม่นานมานี้ เป็นการเข้ารับตำแหน่งในห้วงแห่งการต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่กำลังระอุ ขณะที่บ้านปากบาง และหมู่บ้านใกล้เคียงเองก็มี “โครงการก่อสร้างคลังน้ำมันในพื้นที่ 5,000 ไร่ ของกระทรวงพลังงาน” จ่อคิวตามท่าเรือน้ำลึกปากบารามาติดๆ
นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ ผู้ใหญ่บ้านปากบาง ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล
 
ต่อไปนี้ เป็นความคิดความเห็นของผู้ใหญ่บ้านปากบางคนใหม่ วัย 27 ปี ต่อแผนพัฒนาขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “เมกะโปรเจกต์” ที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดสตูล

ก่อนที่จะมารับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ทำงานอะไร?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : ก่อนหน้านี้ ผมเป็นเลขานุการของ นายจำรัส ฮ่องสาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ละงู ผมจบมาจากมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สาขาวิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ เรียนจบมาก็เป็นเลขานุการนายก อบต.ละงู เลย ประมาณ 3-4 เดือน หมดวาระ ปี 2554 เลือกตั้งใหม่นายกฯ คนเดิมก็ได้อีก ผมก็เป็นเลขานุการนายกฯ อีก เป็นอยู่ 7-8 เดือน ผมก็ลาออกมาสมัครผู้ใหญ่บ้าน และทำธุรกิจเลี้ยงกุ้งในเนื้อที่ 12 ไร่ 6 บ่อ

เรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารา พอได้ยินอยู่บ้าง แต่ไม่ได้สนใจ ได้ยินผ่านๆ ปากต่อปากเท่านั้น พอมาเป็นผู้ใหญ่บ้านก็สนใจข้อมูลมากขึ้น ศึกษามากขึ้น

รู้รายละเอียดโครงการตั้งคลังน้ำมัน 5,000 ไร่ ของกระทรวงพลังงานซึ่งจะตั้งขึ้นที่บ้านปากบาง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ของเราบ้างไหม?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : ผมเพิ่งได้ยิน ยังไม่รู้รายละเอียด ไม่เคยรู้ว่ากินพื้นที่กว้างขนาดไหน จะมีผลกระทบแบบไหน ไม่มีข้อมูลจริงๆ ถ้าโครงการเล็กๆ ชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ากินพื้นที่กว้าง และมีผลกระทบต่อชาวบ้าน ก็สมควรลุกขึ้นมาต่อต้าน

แถวนี้มีสถานที่สำคัญอะไรบ้าง?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : มีโรงเรียนบ้านปากบาง เด็กนักเรียน 200 กว่าคน โรงเรียนบ้านปากละงู มีเด็กนักเรียน 200 กว่าคน สถานีอนามัย 1 แห่ง มัสยิด 3 แห่ง ค่ายลูกเสือ 1 แห่ง วัดที่บ้านปากละงู 1 วัด กุโบร์ 2 แห่ง สุสานจีนอีก 1 แห่ง

ปากบางมีประชากรประมาณเท่าไหร่?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : ประมาณ 4,000-5,000 คน รวมหมู่บ้านใกล้เคียงที่น่าจะได้รับผลกระทบคงจะไม่ถึงหมื่นคน

ชาวบ้านปากบางประกอบอาชีพอะไรบ้าง?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : คนปากบางประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น ก็ทำสวนยางพารา ชาวบ้านจะประกอบอาชีพ 2 อย่างนี้เป็นหลัก ที่เหลือทำงานรับจ้างทั่วไป

บ้านปากบางมีพื้นที่ทั้งหมดกี่พันไร่ เป็นที่ดินประเภทไหน?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : บ้านปากบางมีพื้นที่ 2,000 กว่าไร่ ส่วนประเภทของที่ดินนั้นผู้ใหญ่บ้านคนก่อนน่าจะรู้ดีกว่าผม ทิศตะวันตกเป็นที่ดินของโรงเรียนทั้งหมด มีชาวบ้านสร้างบ้านเรือนอยู่ในนั้น ถ้าเขาจะเอากลับก็ต้องยอม เพราะไม่มีเอกสารสิทธิอะไรเลย

ที่ค่ายลูกเสือก็มีอยู่ชาวบ้านอยู่ แต่ไม่มาก เมื่อก่อนที่ตั้งค่ายลูกเสือเคยคิดจะตั้งโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย สตูล แต่สร้างไม่ได้เพราะมีชาวบ้านอาศัยอยู่ก่อน ต่อมา ชาวบ้านยอมให้สร้างค่ายลูกเสือได้ แต่ผมไม่รู้ว่าเขายอมเพราะอะไร

สมัยก่อน ชาวบ้านปากบางปลูกบ้านอยู่ริมทะเลอ่าวละงู ตั้งแต่รุ่นปู่ผม น่าจะ 30-40 ปีมาแล้ว ต่อมาอยู่ไม่ได้เพราะคลื่นกัดเซาะ จึงย้ายมาปลูกบ้านที่ปากบาง คิดว่าจะปลอดภัยมากกว่าอยู่ริมทะเล ตอนแรกก็ย้ายมาอยู่แค่หลังสองหลัง ต่อมา ก็ตามกันขึ้นมาจับจองที่ดินที่นี่

ถ้าบ้านปากบางมีพื้นที่แค่นี้ คลังน้ำมันก็ต้องใช้พื้นที่หมู่บ้านใกล้เคียงด้วย แถวนี้มีหมู่บ้านอะไรบ้าง?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : มีบ้านหลอมปืน บ้านปากละงู บ้านท่าชะมวง บ้านหัวหิน ถัดจากบ้านหัวหิน ก็บ้านบากันโต๊ะทิด บ้านนาพญา บ้านตีหยี ผมได้ข่าวว่า ถ้าเกิดท่าเรือน้ำลึกปากบารา ต่อไปเขาจะตัดถนนเลี่ยงเมืองตรง 3 แยกไฟแดงบ้านในเมือง ทางเข้าอำเภอละงูตรงไปปากบารา

แล้วชาวบ้านหลอมปืน บ้านปากละงู บ้านหัวหิน รู้เรื่องคลังน้ำมันละงู 5,000 ไร่แล้วยัง?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : บ้านหลอมปืนน่าจะรู้ บ้านหัวหินก็น่าจะรู้ เพราะผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 หมู่บ้านเป็นผู้ใหญ่บ้านมานาน มีการต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารามานานกว่า 2 ปี ชาวบ้านแถวนั้นน่าจะรู้เรื่องบ้าง ผมเองเพิ่งมาเป็นผู้ใหญ่บ้านราว 3 เดือน ก่อนหน้านี้ก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้เท่าไหร่

คลังน้ำมันละงูกินพื้นที่ 5,000 ไร่ ขณะที่บ้านปากบางมีพื้นที่แค่ 2,000 ไร่ เท่ากับหายไปทั้งหมู่บ้าน ชาวบ้านจะไปอยู่ที่ไหน?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : นั่นแหละคือปัญหา ตอนนี้ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลเรื่องคลังน้ำมัน บางส่วนที่พอรู้ก็รู้แบบงูๆ ปลาๆ คิดว่าจะสร้างในทะเล ไม่กินอาณาเขตเข้ามาในหมู่บ้าน ถ้ารู้ว่าบ้านปากบางหายไปทั้งหมู่บ้าน เป็นไปได้ที่ชาวบ้านจะลุกขึ้นมาต่อต้าน ถ้ารู้ลึกจริงๆ ชาวบ้านมีสิทธิเข้าร่วมขบวนต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพราะเขาไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน

ในฐานะผู้ใหญ่บ้านคิดอย่างไรเมื่อคลังน้ำมันมาตั้งที่บ้านปากบาง แล้วปากบางหายไปทั้งหมู่บ้าน?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : ในฐานะผู้ใหญ่บ้านผมต้องยึดชาวบ้านส่วนใหญ่ ยึดชาวบ้านเป็นที่ตั้ง ตอนนี้ชาวบ้านเขาไม่รู้ ถ้าหากเขารู้ปุ๊บเขาก็เดือดร้อนอยู่ไม่ได้ ต้องปรึกษากันแน่นอน ทั้งลูกบ้าน และผู้ใหญ่บ้านว่าจะเอาอย่างไร เสียงข้างมากชาวบ้านว่าอย่างไร ผมก็เอาด้วยตามนั้น ผมคิดเองไม่ได้ ต้องยึดลูกบ้านเป็นหลัก

จะแก้ไขปัญหาชาวบ้านอย่างไร?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : ถ้าพื้นที่ตรงนี้หายไปจริงๆ ชาวบ้านจะไปอยู่ไหนกัน ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเอง ชาวบ้านมีที่อยู่ และที่ทำกินแค่ตรงนี้ ถึงไปไหนไม่ได้ ถ้าเป็นแบบนี้คงต่อต้านอย่างเดียว ถ้าชาวบ้านมีพื้นที่ข้างนอกอาจย้ายหนีออกไปได้ ส่วนคนที่ไม่มีก็ไม่รู้ไปอยู่ไหน

ถ้าโครงการคลังน้ำมันเกิดขึ้นที่นี่ ผู้ใหญ่บ้านจะย้ายไปอยู่ที่ไหน?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : ถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ ผมก็ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะที่ดินที่อื่นผมก็มี แต่ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินล่ะ?

 
หน่วยงานรัฐเคยเข้ามาให้ข้อมูลคลังน้ำมันละงู 5,000 ไร่ กับข้อมูลท่าเรือน้ำลึกปากบาราบ้างหรือไม่?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : ไม่เคยมีเลย ไม่มีข้อมูลอะไรเลย ผมอยากให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนี้มาให้ข้อมูล มาชี้แจงกับชาวบ้านให้ชัดเจน ชาวบ้านจะได้เตรียมรับมือแก้ปัญหาได้ พูดถึงชาวบ้านที่นี่ยังนิ่ง เพราะไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะต้องทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ รัฐบาลจะทำอะไรก็ต้องเห็นใจประชาชนบ้าง ถ้ามีการให้ความรู้แลกเปลี่ยนกับชาวบ้านคงจะดีกว่า บางคนบอกมีข้อมูลอย่างนี้ บางคนบอกมีข้อมูลอย่างโน้น ไม่รู้จะเชื่อใคร

นักพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ เข้ามาให้ข้อมูลเรื่องคลังน้ำมันละงูบ้างไหม?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : ไม่มี แต่เมื่อก่อนน่าจะมีอยู่ครั้งหนึ่งในสมัยผู้ใหญ่คนเก่า แต่ตอนที่ผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ยังไม่มี

ถ้าเอ็นจีโอจะลงมาให้ข้อมูลชาวบ้านล่ะ?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : ถ้าเอ็นจีโอเข้ามา ผมต้องบอกลูกบ้าน ผมตัดสินใจลำพังตัวเองไม่ได้ ต้องมีการหารือว่าเราจะรับฟังข้อมูลจากเอ็นจีโอดีไหม ถ้าชาวบ้านยินดีให้ชี้แจงก็เอาเลย ถ้าชาวบ้านไม่รับ ผมก็ไม่สนใจ คิดว่าชาวบ้านคงมีเหตุผล ถ้าเอ็นจีโอจะเข้ามาให้ข้อมูล คงไม่โดนปฏิเสธดื้อๆ

ระหว่างกระทรวงพลังงานกับเอ็นจีโอเข้ามาให้ข้อมูล ฝ่ายไหนน่าเชื่อถือมากกว่ากัน?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : คงจะเป็นกระทรวงพลังงาน เพราะเป็นเจ้าของโครงการ น่าเชื่อถือมากกว่า คือ เอ็นจีโอเขาอาจไม่รู้จริงก็ได้ ชาวบ้านเองก็ไม่รู้ว่าเอ็นจีโอคืออะไร กลุ่มไหนที่มา เข้ามาต่อต้านเพื่ออะไร ทำอะไรกัน

แล้วถ้าหน่วยงานภาครัฐเข้ามาชี้แจงแต่ข้อดี ไม่บอกข้อเสียล่ะ?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : ถ้าหากไม่บอกด้านเสียเลย คนก็ไม่มีข้อเปรียบเทียบสิ มุ่งแต่ชี้แจงด้านดีอย่างเดียวเน้นไม่ให้คนต่อต้าน ทำให้ดูเหมือนเจริญ มันไม่ยุติธรรมสำหรับชาวบ้าน

ถ้าหากท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิด คลังน้ำมันละงูเกิด คิดว่าอาชีพประมงพื้นบ้านหายไปหรือไม่?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : น่าจะไม่หายไปเสียทีเดียว คงจะหลงเหลืออยู่บ้าง ถ้าส่งผลกระทบมากๆ ชาวประมงคงประกอบอาชีพไม่ได้เหมือนกัน ก็มีชาวบ้านบางส่วนกังวล แทนที่จะหาปลาบริเวณน้ำตื้นใกล้ฝั่ง ก็ต้องออกหาปลาบริเวณน้ำลึกไกลฝั่ง ค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมันก็สูงขึ้น บางส่วนก็ไม่กังวล เพราะคิดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรมาก

ถ้าหากท่าเรือน้ำลึกปากบาราเกิด คลังน้ำมันละงูเกิด คิดว่ามีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไหม?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : มีผลกระทบแน่นอน ปากบาราน่าจะโดนเต็มๆ เรือขนส่งสินค้า น้ำมันรั่วคงต้องมี อาจส่งผลเสียทั้งอ่าวปากบารา อ่าวละงู ทั้งใต้ทะเล และบนผิวทะเล ธรรมชาติก็เสีย ท่องเที่ยวเสียแน่นอน ธรรมชาติก็โดน คนก็โดน ถ้าเสียมากกว่าจะทำไปทำไม ถ้าเสียน้อย แต่ผลดีมากคงไม่เป็นไร เสียกับดีอะไรมากกว่าล่ะ

พอจะทราบข่าวท่าเรือน้ำลึกปากบาราบ้างหรือไม่?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : ได้ยินคนพูดเรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารามานานแล้ว รู้สึกว่านายนาวี พรหมทรัพย์ อดีตสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ เมื่อวันที่ 9-10 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็มีขบวนชาวบ้านออกมาต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา รณรงค์โบกธงเขียว ส่วนเรื่องคลังน้ำมันละงู 5,000 ไร่นี่ผมเพิ่งรู้ ตั้งที่บ้านปากบางแน่หรือ?

รู้รายละเอียดท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างไรบ้าง?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : ไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ 2-3 ปีก่อน นายนาวี พรหมทรัพย์ และคณะเสนอให้สร้างท่าเรือน้ำลึก ต่อมามีการขึ้นป้ายข้างถนนทั่วจังหวัดสตูล แล้วมีกลุ่มนักพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอประท้วงหลายครั้ง เพราะเกรงผลกระทบจากการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ผมไม่รู้นะว่าจะส่งผลกระทบด้านใดบ้าง เพราะผมไม่ได้สนใจอะไรมาก่อน

คิดอย่างไรกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : ผมว่าถ้ามันเกิดจริงๆ แล้วไม่มีผลกระทบต่อชาวบ้าน ชาวบ้านเห็นด้วยหมด ผมอยากให้เกิด เพราะเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดสตูล อาจจะดีขึ้นเจริญขึ้นมาก็ได้ ยกตัวอย่าง ในหมู่บ้านปากบางเอง ห่างไกลจากตัวตลาด ตัวเมือง ไม่มีร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ถ้ามีการพัฒนาจะทำให้ที่นี่มีสภาพกลายเป็นเมือง ได้รับผลดีไปด้วยกันหมด คนมันจะพลุกพล่านมากกว่า จะมีการสร้างงานให้ชาวบ้านทำมากขึ้น คนว่างงานจะลดลง

 
รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ระบุว่าแหล่งทรายบริเวณปากละงู ปากบางหัวหิน 10 ล้านคิว จะถูกนำไปถมทะเลสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : หากขุดทรายพื้นที่ทะเลจะกว้างขึ้นหรือไม่ ทะเลจะกินอาณาเขตแผ่นดินล้ำหมู่บ้านมากขึ้น จะมีผลกระทบในช่วงมีคลื่นลม มีมรสุม นี่ขนาดบ้านผมอยู่ห่างจากทะเล 500 เมตร เวลามีคลื่นลมก็นอนไม่หลับ ถ้าหากทะเลล้ำเข้ามา จะพูดอะไรอีก ชาวบ้านได้รับผลกระทบอยู่แล้ว บางคนเขาคิดว่าจะมีการดูดทรายจากทะเลไปถม คงไม่กระทบอะไรมาก แต่ถ้าตั้ง 10 ล้านคิว ผมว่ามีผลกระทบแน่ๆ

มองขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างไร?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : มีคนต่อต้านไม่มากเท่าไหร่ ไม่รู้เหมือนกันว่าขบวนต่อต้านเขาอยู่กันอย่างไร ธรรมดาหากมีผลกระทบชาวบ้านต่อต้านอยู่แล้ว สำหรับชาวบ้านที่นี่ยังไม่รู้ว่ามีผลกระทบ จึงไม่ได้ออกไปเคลื่อนไหว

วันที่ 9-10 มิ.ย.ที่ผ่านมา คนปากบางเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับเอ็นจีโอ และชาวบ้านที่ปากบาราบ้างไหม?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : มีคนเข้าร่วมแต่ไม่มาก มีชาวบ้านบางส่วนออกไปร่วม

เพราะอะไรชาวบ้านปากบางจึงออกไปร่วมไม่มาก?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : เพราะเขาคิดว่า เป็นไปไม่ได้ที่โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะกินพื้นที่มาถึงบ้านปากบาง จึงไม่มีคนไปร่วม ชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลว่าผลกระทบมันกินพื้นที่แค่ไหน ถ้าหากรู้ว่าคลังน้ำมันจะมาสร้างที่บ้านปากบาง คนคงจะไปร่วมต่อต้านกับคนปากบารามากกว่าที่ผ่านมาก็ได้ เพราะไม่รู้จึงไม่มีใครออกไปต่อต้าน

มองเอ็นจีโออย่างไร?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : เคยได้ยินว่า พวกเอ็นจีโอรับเงินมาปลุกระดมชาวบ้านต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา แต่สำหรับผม ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาอยู่กันอย่างไร บางทีเขาอาจจะลงมาให้ความรู้เป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านก็ได้

ได้ยินว่ามีกระบวนการสกัดไม่ให้ชาวบ้านปากบางออกไปร่วมต่อต้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา เมื่อวันที่ 9-10 มิ.ย.ที่ผ่านมา?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : ที่ปากบางไม่มีใครบล็อกใครหรอก คนปากบางไปร่วมก็มี คนที่คิดว่าจะส่งผลกระทบกับเขาแน่เขาก็ออกไป แต่น้อยกว่าคนที่ไม่ไป ไม่มีการบล็อกนะ พื้นที่ตรงนี่ยังนิ่งอยู่ ไม่เหมือนกับปากบารา

เมกะโปรเจกต์จังหวัดสตูล ทั้งแลนด์บริดจ์สตูล-สงขลา ท่าเรือน้ำลึกปากบารา คลังน้ำมัน ฯลฯ คิดว่าจะพลิกโฉมหน้าจังหวัดสตูลไปจากปัจจุบันไหม?

นายนรินทร์ สมันตกาญจน์ : พลิกจังหวัดสตูลแน่นอน ปัญหาที่สำคัญก็คือ แรงงานต่างด้าวจะไหลเข้าจังหวัดสตูลมากขึ้น ใจหนึ่งผมอยากได้ความเจริญ แต่ใจหนึ่งผมก็ไม่ต้องการให้ชาวบ้านเดือดร้อน อันนี้สำคัญที่สุด

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น