ตรัง - นายก อบต.ไม้ฝาด จังหวัดตรัง เรียกร้องให้ภาครัฐเร่งผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ก่อนที่ต้นสน สัญลักษณ์ริมหาดปากเมง จะถูกคลื่นกัดเซาะจนโค่นล้มไปทั้งหมด
นายเสริฐ ทองย้อย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง กล่าวว่า ขณะนี้ ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งบริเวณชายหาดปากเมง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และถือเป็นประตูสู่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัดตรัง กำลังมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าขั้นวิกฤตแล้ว เนื่องจากได้ทำต้นสนที่มีอายุยาวนานกว่า 50 ปี และถือเป็นสัญลักษณ์ของหาดปากเมง ต้องถูกคลื่นกัดเซาะจนโค่นล้มลงไปหลายต้นแล้ว จากจำนวนต้นสนที่มีเหลืออยู่ทั้งหมดประมาณ 200 ต้น และหากปล่อยไว้เช่นนี้ เชื่อว่าอีกไม่เกิน 1 ปี ต้นสนก็มีความเสี่ยงที่จะโค่นล้มลงไปทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ อบต.ได้เคยเสนอข้อมูลไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งต่อมาก็ได้จ้างบริษัทเอกชนลงมาสำรวจสภาพพื้นที่เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา และเห็นควรทำการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง จนได้มีการออกแบบ และจัดทำประชาคม หรือประชาพิจารณ์ และได้ผ่านความเห็นชอบของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งชาวบ้านในตำบลไม้ฝาด เนื่องจากรูปแบบของเขื่อนดังกล่าวมีความสวยงาม และไม่ได้ทำให้ทัศนียภาพของชายหาดปากเมงเสียหายไปอย่างใด แต่ท้ายสุด โครงการนี้ก็ต้องล้มพับเงียบหาย เนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาล รวมทั้งข้าราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ นายอำเภอ หน.อุทยานฯ
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ในการประชุมภาคส่วนต่างๆ ที่จังหวัดภูเก็ต ได้มีการหยิบยกถึงปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทะเลอันดามันมาหารืออีกครั้ง พร้อมเสนอให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ไปทำการวิเคราะห์ และออกแบบเขื่อนป้องกันตลิ่ง เพื่อนำมาเสนอ รวมทั้งจัดทำประชาคม หรือประชาพิจารณ์ ซึ่งขณะนี้ อบต.ไม้ฝาดก็กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อพยายามผลักดันโครงการนี้เกิดขึ้นให้ได้ จากข้อมูลพบว่า จะต้องใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท ต่อการก่อสร้างเขื่อนในระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ซึ่งแม้จะใช้เงินสูงแต่ก็คุ้มค่ากับการอนุรักษ์ชายหาดปากเมง และเป็นวิธีการที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่มากที่สุด
ทั้งนี้ อบต.ไม้ฝาด เคยไปศึกษาดูการแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง เช่น ที่หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา หาดชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อจัดการกับต้นสนที่มีสภาพเก่าแก่ และเสี่ยงต่อการโค่นล้มจนเกิดอันตราย แต่ต้องใช้งบประมาณในการตัดแต่ง หรือขนย้ายถึงต้นละ 5 พันบาท หากรวมต้นสนทั้งหมดตลอดแนวชายหาดปากเมง ก็จะต้องใช้เงินสูงนับล้านบาท ซึ่งเกินกว่ากำลังที่ทาง อบต.จะรับได้ และทำให้สภาพของชายหาดเสียไป อีกทั้งขณะนี้ คลื่นก็เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น จนต้องสูญเสียพื้นดินหายไปถึงปีละ 5 เมตร และอาจลุกลามไปถึงถนนริมชายหาดในเร็วๆ นี้ ฉะนั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือ การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง
นายพงศ์ภวัน จิตรบรรเจิดกุล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตรัง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ออกแบบเขื่อนป้องกันตลิ่ง ที่บริเวณชายหาดปากเมงเสร็จสิ้นลงเรียบร้อยแล้ว เหลือแค่ขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นการก่อสร้างที่มีระยะทางเกิน 200 เมตรขึ้นไป แต่ขณะนั้นทราบว่า ทางอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมเจ้าของพื้นที่ ได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน ทั้งที่การออกแบบมีความกลมกลืนกับสภาพธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หรือชายหาดเดิม เพราะเป็นการฝังลงไปในพื้นทราย ซึ่งไม่ได้ทำให้มองดูน่าเกลียด แต่แล้วจนถึงล่าสุด โครงการนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ