xs
xsm
sm
md
lg

เกาะติด “เชฟรอนฯ” ถอยหรือเตรียมรุกใหม่ อย่าหลอกสร้างภาพทางเศรษฐกิจ (3)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
โดย...ทรงวุฒิ  พัฒแก้ว
 
 
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 7 ธันวาคม 2555 ที่ร้านอาหารครัวน้ำชุบ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช มีรายงานข่าวหลายฉบับรายงานตรงกันว่า เชฟรอนฯ ประกาศยุติโครงการท่าเรือที่บ้านบางสาร แต่ทุกอย่างเหมือนจะไม่จบแค่นั้น เพราะเหมือนว่าจะถอยง่ายเกินไป หรือหลายคนมองว่า แค่สับขาหลอก หรือลดกระแสต้านของมวลชน
 
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า “เราได้เริ่มการศึกษาในโครงการนี้มาตั้งแต่ก่อนปี 2550 ซึ่งขณะนี้ด้วยเงื่อนไขเวลาที่ผ่านมาค่อนข้างนาน ทำให้ปัจจัยต่างๆ ที่เคยเป็นตัวแปรสำคัญในการพิจารณาการย้ายชอร์เบสเปลี่ยนแปลงไป เช่น ต้นทุนการดำเนินการก่อสร้างโครงการที่เพิ่มสูงขึ้นมากจนไม่มีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ หากจะดำเนินการต่อไปของข้อจำกัดเดิม ในการที่เราไม่สามารถขยายพื้นที่ หรือใช้ท่าเรือเพิ่มเติมในจังหวัดสงขลา รวมถึงระยะเวลาเริ่มต้นในการใช้งานจริงของศูนย์สนับสนุนแห่งใหม่ ไม่ทันต่อการใช้งานในช่วงที่มีความต้องการสูงสุด”
 
นางหทัยรัตน์ อติชาติ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เผยว่า “ทางผู้บริหารมีการประกอบธุรกิจด้านพลังงานที่ทำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่มาถึงโครงการนี้มีความรู้สึกว่าเป็นโครงการที่ใช้เวลายาวนาน และยากมากที่สุดในโลก เพราะมีขั้นตอนต่างๆ มากมายจนเวลาล่วงเลยมากว่า 5 ปี หากจะดำเนินการต่อไปก็ต้องฝ่าฟันอีกหลายขั้นตอน ซึ่งเมื่อผ่านขั้นตอนครบถ้วนเริ่มลงมือก่อสร้างก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 5 ปี มันจึงล่วงเลยระยะเวลาที่จำเป็นต้องใช้งานในโครงการนี้ไปแล้ว ในทางการดำเนินธุรกิจจึงไม่คุ้มกับระยะเวลา และค่าใช้จ่าย ผู้บริหาร และผู้ร่วมทุนจึงตัดสินใจระงับโครงการนี้”
 
จากการที่ผู้บริหารระดับสูงของเชฟรอนฯ ของประเทศไทยประกาศระงับ หรือยุติโครงการตามที่หลายสื่อรายงานมาข้างต้น ในเชิงสาธารณะเหมือนจะจบลงเพียงแค่นั้น แต่ในเชิงกฎหมาย และขั้นตอนทางความจริงยังไม่จบ เพราะ EHIA ฉบับนี้ยังอยู่ที่สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) และไม่มีเวลาหมดอายุ ทางผู้บริหารจะจับมาปัดฝุ่นเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะที่เหลือเป็นขั้นตอนทางราชการเท่านั้น ก็จะเริ่มสร้างโครงการได้ทันที
 
ในเหตุผลที่เชฟรอนฯ ต้องเผชิญอีกหลายด่าน อีกหลายเรื่องของบริษัทยักษ์ใหญ่ทางพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นกรณีสารกัมมันตรังสีที่ จ.สงขลา การขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย การสัมปทานที่ไม่เป็นธรรม ล้วนเป็นศึกหนักของบริษัทที่ต้องแบกรับภาระ และโจทย์ใหญ่ที่ออกมากระทุ้งเชฟรอนฯ ก็มีต้นเรื่องคือ ท่าเรือที่ท่าศาลา เพราะตามขุดคุ้ย เปิดโปงเชฟรอนฯ มาอย่างต่อเนื่อง และทำให้เชฟรอนฯ กลายเป็นผู้ร้ายของสังคม
 
ในขณะที่กลุ่มบริษัททางพลังงานอื่นๆ ลอยตัว เพราะเป็นโจทย์ใหญ่ระดับประเทศ แต่ไม่มีปัญหาระดับรูปธรรมพื้นที่คอยกระทุ้ง วันนี้เชฟรอนฯ จึงประกาศถอยท่าเรือเพื่อลอย หรือแขวนปัญหาเรื่องอื่นๆ ไว้ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของการเป็นนายทุนมากระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชไว้ก่อน
 
จากการถอย เชฟรอนฯ ได้เชื่อมสื่อ และวงนักธุรกิจไว้เป็นปากเสียง มองเรื่องการสูญเสียการลงทุนในระยะยาว ประเด็นนี้สร้างภาพลักษณ์คำโตให้หลายฝ่ายเต้นตาม หากเชฟรอนฯ จะกลับมานั้นคือ เป็นความต้องการของภาคธุรกิจ และคนเมืองคอน การเน้นเรื่องราคาที่ดินที่ถีบตัวสูงขึ้น จากหลักแสนเป็นหลักล้าน การเข้ามาของเจ้าหน้าที่หลายพันคนที่มีกำลังการใช้สอย การเข้าพักตามโรงแรมต่างๆ เป็นจุดขายที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ ผ่านแนวร่วมของสื่อและคนดังๆ ภายในจังหวัด แต่ก็เป็นเสียงส่วนน้อยอยู่ดี
 
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยพูดถึงคือ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ที่เป็นต้นทุนสำคัญของชีวิตคนอีกหลายหมื่นคนที่ทำมาหากินตลอดแนวชายฝั่ง คนส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินที่จะขาย ไม่มีรีสอร์ตให้ใครพัก ไม่มีความรู้พอที่จะเข้าทำงาน ไม่ได้มีอาชีพอื่นใด นอกจากทะเลที่เป็นแหล่งทำงานที่หาเลี้ยงครอบครัว บางคนมีที่ดินแค่ปลูกบ้าน
 
ดังนั้น ทั้งชีวิต และครอบครัวจึงมีความหวังที่ทะเลเท่านั้น และชาวประมงรู้ดีว่าหากมีการก่อสร้างท่าเรือจะมีผลกระทบทันที การขุดลอกตะกอนเลน การเปลี่ยนทิศทางน้ำ การวิ่งเข้าออกของเรือลำใหญ่ การรบกวนปากแม่น้ำ จึงเป็นผลกระทบของเรือประมาณ 2 พันลำ คนอีก 5 พันครอบครัว ประชากรหลายหมื่นคน รวมทั้งเศรษฐกิจการต่อเนื่องทางการประมง จึงเป็นเหตุผล และหลักความจริงที่มากกว่ามองด้านธุรกิจ หรือเม็ดเงินลงทุนของเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และเป็นคนส่วนน้อยที่เสียประโยชน์
 
แท้จริงการมีอยู่ของเชฟรอนฯ การมีอยู่ของคนงานเชฟรอนฯ การมีอยู่ของสนามบินเฮลิคอปเตอร์ที่คอยส่งคนขึ้นฝั่ง การมีอยู่ของที่พักของผู้คนเชฟรอนฯ เศรษฐกิจต่างๆ ยังมีอยู่เหมือนเดิม การจับจ่าย การเข้าพักยังมีอยู่เหมือนเดิม แค่สร้างท่าเรือเพิ่มเพื่อคนไม่กี่คนเท่านั้น แต่ทำลายผู้คนอีกจำนวนมากมาย เวลานี้หากมองเศรษฐกิจไม่ได้เสียหายอะไรเลย เว้นเสียแต่ว่าเชฟรอนฯ จะสร้าง หรือมีโครงการต่อเนื่องอื่นมากกว่าท่าเรือเพียงอย่างเดียว หรือภาคธุรกิจไปล่วงรู้โครงการต่อเนื่องที่จะตามมาอีกมากกว่านั้นหรือไม่
 
การออกมาโหมโรง และกระพือด้านเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้มองตัวแปรการมีอยู่จริงของเชฟรอนฯ ไม่ได้มองว่าภาคธุรกิจต้องการเรื่องคนงานเชฟรอนฯ แต่ไม่ใช่ท่าเรือ หากมองตรงไปตรงมา คนนครศรีฯ วันนี้มีแต่ได้กับได้ ไม่สูญเสียเสียโอกาสใดๆ
 
หากมองทุกด้านแล้ว การไม่สร้างท่าเรือเชฟรอนฯ เรารักษาสิ่งแวดล้อมที่เป็นต้นทุนชีวิตที่สำคัญของชาวประมงไว้ได้ เราได้ประโยชน์จากคนงานเชฟรอนฯ ที่เข้ามาพัก จับจ่ายใช้สอย ราคาที่ดินไม่ได้ลดลงจากเดิม เพราะโครงการขนาดใหญ่ แต่ยังคงตัวเท่าเดิม เพราะการขยายของเมืองท่าศาลา ในการมีมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในพื้นที่ การสร้างเป็นที่พัก และรีสอร์ตชายทะเลยังเป็นจุดขาย นี่แหละที่เป็นเส้นทางการพัฒนาที่ทุกคนร่วมเดิน เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนของฐานทรัพยากรที่เป็นชัยชนะกันของทุกฝ่าย
 
หลังจากนี้ หากมีการโหมโรงทางเศรษฐกิจ การขายที่ดิน นั่นหมายความว่า เชฟรอนฯ มีแนวโน้มกับการพยายามจะสร้างท่าเรือให้ได้ในที่เดิม หรือดึงโครงการขนาดใหญ่ตามหลังเข้ามา เพราะลำพังเชฟรอนฯ ที่มีที่ดิน 300 ไร่กว่าก็เพียงพอแล้ว
 
การไม่ถอน EIA จากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) และการสร้างภาพลักษณ์ทางเศรษฐกิจ จึงเป็นกลยุทธ์ และวิธีการแบบใหม่ที่ถูกเลือกใช้สำหรับการกลับมาอีกครั้งหนึ่งของเชฟรอนฯ ก็เป็นได้ หลังจากนี้จึงต้องจับตาการเคลื่อนไหวของนายทุนระดับโลก หรือจนกว่าจะยอมถอน EIA เพื่อจบกระบวนการ ทั้งหมดถือเป็นตัวชี้วัดอย่างแท้จริง
 

 

กำลังโหลดความคิดเห็น