คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส
เวลาทุ่มกว่าๆ ของวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 ร่างของนายพีระ ตันติเศรณี นายกเทศบาลนครสงขลาก็หงายหลังล้มลงเสียชีวิตด้วยแรงปะทะของคมกระสุนปืนอาวุธสงครามที่พุ่งเข้าใส่จุดสำคัญของชีวิต คือ ตรงศีรษะ และที่ลำตัว เวลาผ่านไปเดือนกว่าๆ วันนี้ คดีความไม่มีความคืบหน้า มีแต่การมอบตัวของผู้ที่ถูกหมายจับของศาล สร้างความกังวลให้แก่ญาติๆ และคนที่รักใคร่คุณพีระ มากไปกว่านั้น คือ ผู้คนที่รู้สึกว่าผู้ที่กระทำการในครั้งนี้ ช่างโหดร้ายใจดำอำมหิต ไม่เกรงกลัวกฎหมายของบ้านเมือง ทำให้ต่างคิดไปว่า คนระดับนายกเทศมนตรีของบ้านเมือง ยังถูกยิงด้วยอาวุธร้ายแรงกลางใจเมือง และเรื่องราวของคดีก็เริ่มเงียบหายไป แล้วประชาชนตาดำๆ จะมีความมั่นใจในชีวิตของตัวเองได้แค่ไหน
หลังจากที่คุณพีระ ตันติเศรณี ได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารเทศบาลนครสงขลา ความคิดในการพัฒนาเมืองของเขาแตกต่างจากผู้บริหารท้องถิ่นคนอื่นๆ ที่ผ่านมา ที่มักเน้นการก่อสร้างสิ่งใหม่สอดแทรกขึ้นทีละอย่างสองอย่าง ท่ามกลางความเก่าแก่ของเมือง หรือพยายามผลักดันให้เกิดโครงการขนาดใหญ่รูปแบบต่างๆ กระเช้าลอยฟ้าข้ามฝั่งแหลมสนอ่อนไปยังฝั่งหัวเขาแดง มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท คืออีกหนึ่งโครงการที่ถูกกำหนดไว้ในแผนการทำงานของผู้บริหารในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้กำหนดไว้ แต่มาใช้พื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของเทศบาลนครสงขลา ที่มีคุณพีระ ในฐานะนายกเทศมนตรีฯ ความพยายามผลักดันให้โครงการนี้เดินหน้าไปให้ได้
ในขณะที่คุณพีระก็ได้ประกาศชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการดังกล่าว เขาได้ทำหนังสือคัดค้านโครงการไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สั่งรื้อป้ายโฆษณาโครงการ การไม่ยอมให้ผู้รับเหมาเข้ามาปักเขตกำหนดพื้นที่ในการก่อสร้าง ผู้คนในเมืองสงขลามองว่านี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ที่สูญเสียผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการดังกล่าว หากว่าโครงการดังกล่าวจะต้องสะดุดหยุดลง ทางเดียวที่จะทำให้โครงการดำเนินต่อไปได้อย่างสะดวก นั่นก็คือ ฆ่าคุณพีระ
นอกเหนือจากประเด็นความขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว บทบาทในฐานะนายกเทศมนตรีของเมือง คุณพีระยังได้เข้าไปจัดระเบียบบ้านเมืองที่สำคัญ เช่น การไม่ยินยอมให้บริษัท ชลัมเบเจอร์ โอเวอร์ซี เอสเอ จำกัด สร้างหลุมเก็บสารกัมมันตรังสีเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในพื้นที่กลางใจเมือง เพราะมองเห็นถึงอันตรายจากสารกัมมันตรังสีที่จะกระทบต่อชีวิตของผู้คน ชุมชน ซึ่งอยู่กันหนาแน่นในบริเวณดังกล่าว จนสื่อมวลชนนำมาขยายผลให้ผู้คนได้รับรู้ และตระหนกตกใจกันว่า ในพื้นที่กลางใจเมืองสงขลาที่สร้างกำแพงล้อมรั้วรอบขอบชิดนั้น ภายในคือ สถานที่เก็บกากสารเคมี สารกัมมันตรังสีมากว่า 30 ปี โดยที่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทางกฎหมาย อย่างน้อยๆ รั้วรอบบริเวณก็ไม่ได้มีเครื่องหมายที่บอกให้แก่ประชาชนได้รับรู้ตามที่มีกฎหมายบังคับไว้ให้ต้องกระทำ
การนำเสนอข้อเท็จจริงออกสู่สาธารณะของสื่อมวลชนซึ่งได้รับการหนุนจากคุณพีระ ทำให้ทางบริษัทต้องออกมาประกาศย้ายสถานที่เก็บสารกัมมันตรังสีออกไปให้พ้นจากพื้นที่ใจกลางเมืองภายใน 1 ปี นี่ก็ถือได้ว่า เป็นอีกปมหนึ่งของความขัดแย้งที่คุณพีระได้เข้าไปจัดการกับปัญหาของบ้านเมืองตามบทบาทหน้าที่ของเขา แต่ก็ไปกระทบกับผลประโยชน์ของผู้ที่ได้รับจากการเฉยเมยของผู้ปกครองคนอื่นๆ ที่ผ่านมา
ยังมีหลักฐานปรากฏอีกอย่างก็คือ คุณพีระได้เข้าไปแสดงความไม่เห็นด้วย กับบริษัทสัมปทานขุดเจาะน้ำมันหลุมใหม่ซึ่งอยู่ห่างชายฝั่งสงขลาออกไปทางด้านเกาะหนู เกาะแมว ระยะห่างไม่เกิน 30 กิโลเมตร บทเรียนจากหลุมขุดเจาะน้ำมันห่างฝั่งอำเภอสทิงพระ ที่ทำให้อาชีพประมงชายฝั่งต้องล่มสลาย พื้นที่ชายหาดสกปรกจากคราบน้ำมันที่หาใครออกมารับผิดชอบไม่ได้ ทำให้เขาหยิบยกประเด็นดังกล่าวออกมาคัดค้านการให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันแปลงดังกล่าวอย่างเปิดเผย เพราะเขาเกรงว่า หาดสมิหราจะได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันโดยหาคนรับผิดชอบไม่ได้เหมือนที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรสทิงพระ นักวิเคราะห์เหตุการณ์มองว่า เหตุการณ์ทั้ง 3 กรณี ไม่ว่าการขัดขวางการสร้างกระเช้าลอยฟ้า การไม่อนุมัติให้มีการสร้างบ่อเก็บกักสารกัมมันตรังสีใจกลางเมือง และการประกาศขัดขวางการขุดเจาะน้ำมันหลุมใหม่ ล้วนมีมูลเหตุสำคัญที่ผู้ที่เสียผลประโยชน์พร้อมที่จะลงมือจัดการกับผู้ที่ลุกขึ้นมาขัดขวางได้ทุกกรณี เพราะแต่ละกรณี ล้วนมีผลประโยชน์มหาศาลเป็นเดิมพันทั้งสิ้น
แต่ประเด็นการสร้างกระเช้าลอยฟ้าดูจะเป็นประเด็นที่กำลังคุกรุ่น เพราะมีการดำเนินการไปมาก เสมือนอ้อยที่กำลังเข้าปากช้าง แต่ถูกขัดขวางอย่างเอาจริงเอาจังจากคุณพีระทุกรูปแบบ ไม่ว่าการนำเสนอสิ่งที่เขาคิดดีกว่าที่ควรจะมีขึ้นในบริเวณนั้น คือ การอนุรักษ์ป่าสนสันทรายแหล่งสุดท้ายกลางเมืองเอาไว้สำหรับกิจกรรมที่สอดคล้องกับพื้นที่ ที่ไม่ใช่การทำลายแล้วนำสิ่งปลูกสร้างใหญ่โตเข้ามาในพื้นที่ หรือการสร้างเป็นปอดของเมือง สถานที่ออกกำลังกาย ศูนย์ศึกษาทางธรรมชาติ ฯลฯ แนวคิดของเขาชัดเจนว่า พื้นที่นั้นจะต้องปลอดจากสิ่งก่อสร้าง และเขายืนยันจะรักษามันไว้เพื่ออนาคตของเมืองที่เขาบอกว่าสงขลาต้องเป็นเมืองที่กลมกลืนกับธรรมชาติให้มากที่สุด หรือนิเวศนาครที่เขาใฝ่ฝันจะผลักดันให้เกิดขึ้น ถึงวันนี้เขาก็ได้สังเวยชีวิตให้แก่ความคิด ความเชื่อ และคดีความจากกรณีการเสียชีวิตของเขาก็เริ่มหายไปกับสายลม