ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวสงขลารวมตัวประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัด หลัง อบจ.สงขลาปรับปรุงพื้นที่แหลมสนอ่อนรองรับการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้า ระบุ ทำประพิจารณ์ไม่ทั่วถึง และยังไม่มีการสำรวจ EIA รวมทั้ง EHIA ที่แน่ชัด ด้านผู้ว่าฯ สงขลา สั่ง อบจ.ระงับโครงการชั่วคราวแล้ว ขณะที่ม็อบลั่นสู้ไม่ถอยเตรียมตั้งเวทีประท้วงอีกพรุ่งนี้หาก อบจ.ยังดื้อแพ่ง
วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา ประชาชนชาวสงขลากว่า 150 คน ได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วง และตั้งเวทีปราศรัยคัดค้านการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าของ อบจ.สงขลา ซึ่งมีโครงการก่อสร้างจากแหลมสนอ่อน อ.เมืองสงขลา ข้ามทะเลสาบสงขลาไปยังหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา โดยในวันนี้ ทาง อบจ.สงขลา นำโดยนายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา ได้เริ่มถมที่ปรับปรุงภูมิทัศน์แหลมสนอ่อนบางส่วนเพื่อเตรียมการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าแล้ว
โดยจากการสัมภาษณ์นายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา ที่มาคุมไซต์งานด้วยตัวเองในวันนี้ระบุว่า ทาง อบจ.สงขลา ได้เริ่มต้นเดินหน้าโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าดังกล่าวนี้ เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์แก่คนสงขลาอย่างแท้จริง ทั้งในส่วนของการดึงดูดนักเที่ยว และการสร้างงานสร้างรายได้แก่คนในพื้นที่ ทั้งนี้ เป็นโครงการที่ตนสานต่อมาจากสมัยที่นายนวพล บุญญามณี ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ซึ่งได้จัดให้มีโครงการศึกษาความเป็นไปได้ และต่อมา จัดทำเป็นแผนแม่บท “โครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสงขลาเก่า อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา” ขึ้น โดยได้มีการศึกษาผลกระทบ และทำประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งมีการจัดทำเอกสารเป็นรูปเล่มชัดเจน
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวที่ออกมารวมตัวคัดค้านกระเช้าลอยฟ้าของ อบจ.สงขลา กลับระบุว่า ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ทั้งในเขต อ.เมืองสงขลา และ อ.สิงหนคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นไม่ทราบเรื่องการทำประชาพิจารณ์ ทั้งนี้ อาจมีการทำประชาพิจารณ์จริงตามที่ อบจ.สงขลาระบุ แต่อาจจะไม่ทั่วถึง
ขณะที่เครือข่ายพลเมืองสงขลาปกป้องแหลมสนอ่อน ระบุว่า จากการล่ารายชื่อประชาชนชาวสงขลาเพื่อถวายฎีกาคัดค้านการก่อสร้างโครงการกระเช้าลอยฟ้าดังกล่าว ประชาชนส่วนใหญ่ต่างให้ความเห็นว่า การที่ อบจ.สงขลา จะก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวนั้นควรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมศึกษาถึงที่มาที่ไปของโครงการ ว่ามีผลดี ผลเสีย และกระทบต่อเนื้อที่ป่าสนเกือบ 200 ไร่อย่างไรบ้าง
“โครงการนี้อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ในอนาคต แต่ประชาชนอยากรู้ว่าแหลมสนอ่อน เนื้อที่ 200 ไร่ตรงนั้นมีความสำคัญกับชาวสงขลา และระบบนิเวศอย่างไรบ้าง ถ้าเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานีกระเช้าลอยฟ้าจะได้ประโยชน์อย่างไร คุ้มหรือไม่ ความจริงแล้วประชาชนบางส่วนอยากให้ชะลอโครงการนี้ไว้ก่อนเพื่อให้ภาคประชาสังคมได้เรียนรู้ และศึกษาผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการมากขึ้น เพราะเป็นโครงการใหญ่ลงทุนหลายร้อยล้านบาท และการก่อสร้างก็จะส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่โดยรอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย” แหล่งข่าวระบุ
จากนั้นแหล่งข่าวได้เปิดเผยต่อว่า โครงการกระเช้าลอยฟ้าดังกล่าวนี้ยังไม่ได้มีการสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และและผลกระทบต่อสุขภาพ (EHIA) แต่อย่างใด ดังนั้น จึงยังวางใจไม่ได้ว่าเมื่อก่อสร้างโครงการนี้แล้วจะไม่เกิดผลกระทบแก่คนในชุมชนข้างเคียง ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ก็ได้มีคำสั่งให้ อบจ.สงขลา ระงับโครงการดังกล่าวไว้ก่อนชั่วคราว พร้อมให้เคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลหนักออกจากพื้นที่แหลมสนอ่อน ทั้งนี้ ก่อนสลายการชุมนุนม กลุ่มผู้ประท้วงระบุว่า หากในวันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค.) ทาง อบจ.สงขลา ยังไม่เคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลหนักออกจากแหลมสนอ่อน หรือยังดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อรองรับการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าอย่างต่อเนื่อง ก็จะนัดหมายรวมตัวชุมนุนประท้วงกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลาอีกครั้ง ในเวลา 13.00 น.