คำต่อคำเปิดใจ “อุทิศ ชูช่วย” เดินหน้าชน ยันกระเช้าลอยฟ้าเกิดประโยชน์ต่อสงขลาแน่ หนีบเอกสาร 2 เล่มชี้แจง อ้างสานโครงการต่อเนื่องจากนายก อบจ.คนที่แล้ว เชื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสงขลามากขึ้น ชูแหล่งประวัติศาสตร์เมืองเก่าหัวเขาแดงเป็นจุดขาย
หลังจาก อบจ.สงขลา นำโดยนายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา เดินหน้าโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าข้ามทะเลสาบสงขลา โดยเริ่มเข้าปรับปรุงพื้นที่บริเวณแหลมสนอ่อน อ.เมือง จ.สงขลา เตรียมการก่อสร้างเป็นสถานีกระเช้าลอยฟ้าข้ามไปยังหัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทีมข่าว “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ได้เดินทางลงพื้นที่แหลมสนอ่อน และสัมภาษณ์นายอุทิศ ชูช่วย เกี่ยวกับประเด็นการก่อสร้างดังกล่าว ซึ่งมีกระแสการต่อต้านจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ค่อนข้างชัดเจน
นายอุทิศ ชูช่วย นายก อบจ.สงขลา เปิดประเด็นสนทนาด้วยการเล่าข้อมูลเบื้องต้นของโครงการ พร้อมเอกสารประกอบการชี้แจง 2 เล่ม คือ เอกสาร“ศึกษาความเป็นไปได้โครงการกระเช้าลอยฟ้า จังหวัดสงขลา” ซึ่งเป็นรายงานฉบับย่อสำหรับผู้บริหาร จัดทำโดยบริษัท ซี เอ็ม ซี ยูนิเวอร์แซล จำกัด เมื่อปี 2548 (ปกสีขาว) และ“โครงการศึกษา และจัดทำแผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์เมืองเก่าหัวเขาแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา” ซึ่งจัดทำโดยบริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยี จำกัด แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 (ปกสีฟ้า) ดังนี้
“ข้อมูลโครงการกระเช้าลอยฟ้า เริ่มตั้งงบประมาณศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเมื่อปี 2548 รายละเอียดของโครงการตามข้อมูลที่ได้มีการศึกษาไว้จะใช้เงินลงทุน 583 ล้านบาท การศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าวนี้จัดทำขึ้นเมื่อปี 2548 สมัยที่นายนวพล บุญญามณี เป็นนายก อบจ.สงขลา ตั้งงบประมาณในการศึกษาความเป็นไปได้ 10 ล้านบาท ได้ข้อมูลความเป็นไปได้มาตามลำดับ (เอกสารเล่มสีขาว)
หลังจากนั้น ปี 2550 นายนวพล บุญญามณี ยังเป็นนายก อบจ.สงขลา ได้ตั้งงบอีก 10 ล้านบาท เพื่อศึกษาโครงการจัดทำแผนแม่บทศึกษาอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสงขลาเก่าหัวเขาแดง ซึ่งแผนแม่บทนี้มีหลายแผน ทั้งแผนการท่องเที่ยว กระเช้าลอยฟ้า และการรักษาโบราณสถาน และในกิตติกรรมประกาศระบุชื่อ นายนวพล บุญญามณี เป็นนายก อบจ.สงขลา นายพีระ ตันติเศรณี เป็นรองนายก อบจ.สงขลา
และในสมัยนั้น มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการกระเช้าลอยฟ้า หลังจากนั้น ก็จะมีการทำประชาพิจารณ์โดยนายกฯ นวพล บุญญามณี และนายกพีระ ตันติเศรณี เป็นการกระทำตามขั้นตอนของระเบียบ และกฎหมายถูกต้องทุกอย่าง นี่คือเอกสารหลักฐาน (เล่มสีฟ้า)”
“ผมมาเป็นนายก อบจ.สงขลา เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2552 ก็ได้นำเดินหน้าโครงการกระเช้าลอยฟ้านี้ต่อ เหตุที่ทำโครงการนี้ต่อเพราะเห็นว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อชาวสงขลาและ จ.สงขลา ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ก็ได้ขออนุญาตส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน และได้นำข้อบัญญัติเข้าสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ขออนุมัติสภาฯ ให้สภาฯเห็นชอบจัดสรรงบประมาณ 459 ล้านบาท ซึ่งมีมติเอกฉันท์ ไม่มีคนคัดค้าน ทั้งๆ ที่แต่เดิมมีการศึกษาไว้ว่าต้องใช้งบประมาณ 583 ล้านบาท ผมพยายามที่จะประหยัดงบประมาณ และให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็เลยตัดทอนโครงการ และจำกัดวงเงินอยู่ที่ 459 ล้านบาท” นายก อบจ.สงขลากล่าว
จากนั้น ได้ประชุมในปลายปี 2554 เพื่อตั้งงบประมาณในปี 2555-2556 เป็นเวลา 2 ปีต่อเนื่อง ก็มีมติเอกฉันท์ ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ ส.จ.ทั้ง 36 คน ไม่มีคนคัดค้าน เพราะเห็นด้วยกับโครงการที่จะให้มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามที่ได้ศึกษาไว้
ต่อข้อซักถามของผู้สื่อข่าวว่า ในส่วนนี้ได้ศึกษาผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือไม่?
นายก อบจ.สงขลา ตอบว่า “มีแล้ว (ในเล่มสีฟ้า) เขาได้ศึกษาไว้แล้วทั้งหมด ว่าจะต้องชดเชยอย่างไร สภาพพื้นที่ถ้ามีการตัดต้นสนออกจะต้องมีการปลูกทดแทนจำนวนเท่าไหร่ ที่ตรงไหนบ้าง มีในรายงานศึกษาผลกระทบทั้งหมด”
แล้วทำไมในช่วงหลังจึงมีแรงต้านจากประชาชน?
“จริงๆ แล้ว เป็นเรื่องการเมืองที่นักการเมืองบางคนไม่อยากจะเห็นโครงการนี้เกิด เพราะกลัวว่าผมจะได้คะแนนเสียงจากการพัฒนาโครงการนี้ ก็แน่นอนที่สุด เหมือนกับโครงการใหญ่ๆ บางโครงการ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ กว่าจะเกิดได้ก็ลำบากเพราะมีการขัดแข้งขัดขา ไม่อยากจะให้คนนี้ทำ ไม่อยากจะให้เป็นผลงานคนนั้น แต่ทุกวันนี้ถ้าไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิเราก็คงจะแย่เหมือนกัน เพราะว่าการขยายฮับการบินต่างๆ เราจะไปสู่ประชาคมอาเซียนมันก็ไม่สามารถทำได้ นี่ผมยกตัวอย่างเปรียบเทียบนะ
เช่นกันกับโครงการที่นักการเมือง หรือคนบางคนไม่อยากจะเห็น ไม่อยากจะให้เกิด เพราะกลัวจะเป็นผลงานของคนบางคน หรืออย่างกรณีนี้ไม่อยากจะให้เกิดเพราะจะเป็นผลงานผม ซึ่งผมคิดว่าผลประโยชน์ และโอกาสการพัฒนาของ จ.สงขลา จะสูญเสียไป”
แรงต้านของประชาชนเริ่มเด่นชัดขึ้นมาตอนไหน?
“ไม่มีนะผมว่า ก็มีบ้าง แน่นอนที่สุดเวลามีโครงการใหม่ๆ ก็มีทั้งคนเห็นด้วย และคนไม่เห็นด้วย ก็ต้องฟังครับ ถ้ามีข้อเสนอแนะที่เราคิดว่าจะปรับปรุงแก้ไขได้ไม่ให้เกิดผลกระทบ เราก็นำมาปฏิบัติ ปรับปรุงแก้ไข แต่จะบอกว่าให้เลิกทำเลยนี่ไม่ได้”
ทำไมถึงบอกว่า “เลิกทำเลยไม่ได้” เพราะเราศึกษามาแล้วหรืออย่างไร?
ใช่ครับ!
แสดงว่าท่านยืนยันว่าโครงการนี้มีผลดีมากกว่าผลเสียแน่นอน?
ใช่ แน่นอนครับ! ตามที่นายกนวพล บุญญามณี และนายกพีระ ตันเศรณี ศึกษาไว้
มองว่าโครงการกระเช้าลอยฟ้ามีส่วนกระตุ้นการท่องเที่ยว หรือเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างไรบ้าง?
แน่นอนครับ เป็นประโยชน์แก่คนในชุมชนในแง่ที่ว่า จ.สงขลา เป็นศูนย์กลางในการท่องเที่ยว คนก็จะเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.สงขลา มากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนา และเพิ่มรายได้ให้แก่คนทุกกลุ่มทุกเหล่า เพราะคนเข้ามา การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแน่นอนที่สุดว่าทุกคนต้องกิน ต้องใช้ ต้องจ่าย เมื่อคนเข้ามาในเมืองเรามาก คนปลูกผักหาปลา คนรับจ้าง ทุกอาชีพจะมีรายได้เพิ่มขึ้น มันส่งผลต่อเศรษฐกิจภาคครัวเรือนในจังหวัดของเราอย่างชัดเจนเลย”
ในพื้นที่ตรงนี้จะเป็นสถานีกระเช้าลอยฟ้า จะมีอย่างอื่นด้วยหรือไม่?
“ไม่มีครับ ตรงนี้ในพื้นที่ 5 ไร่ จะมีสเตชัน (สถานีกระเช้าลอยฟ้า) มีร้านค้าหรือไม่ แน่นอนที่สุดว่าร้านค้าขายน้ำดื่ม ขายกาแฟ ห้องน้ำห้องส้วมต้องมี ถ้าไม่มีก็ไม่สามารถบริการนักท่องเที่ยวได้ แต่ถามว่าจะเป็นบริการแบบนี้มั้ย (ชี้ไปที่ร้านขายของตรงข้ามพื้นที่ก่อสร้างโครงการบริเวณแหลมสนอ่อน) ไม่มี ก็เหมือนกับมาเลย์ สิงคโปร์ ก็จะทำเป็นแบบนั้น”
แล้วกระเช้าลอยฟ้าตรงนี้จะสร้างไปยังจุดใด?
“หัวเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ตรงภูเขาลูกนั้น (ชี้ไปยังภูเขาฝั่งตรงข้ามกับสถานที่ก่อสร้างโครงการ) จะมีเจดีย์อยู่ 2 องค์ โดยในพื้นที่หัวเขาแดงจะมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลักๆ 2 อย่าง คือ เมืองสงขลาเก่าหัวเขาแดง เกิดเมื่อ 410 ปีที่แล้ว เจ้าเมืองในสมัยนั้นชื่อสุลต่านสุไลมาน ชาห์ ตรงกับรัชสมัยของกรุงศรีอยุธยา
สมัยเมื่อ 410 ปีที่แล้ว เจ้าเมืองคือ สุลต่านสุไลมาน ชาห์ ได้สร้างสิ่งเหล่านี้ไว้ คือ ป้อมปืน เมืองเก่า โดยมีป้อมปืนทั้งหมด 14 ป้อมปืน ปัจจุบัน หลงเหลืออยู่ 8 ป้อมปืน เรียงรายอยู่บนยอดหัวเขาแดง และป้อมปืนที่หายไปวันนี้ยังขุดไม่เจอ คือ ป้อมปืนกลางน้ำที่อยู่ปากอ่าวสงขลา ผมได้ประสานกับกรมศิลปากรกำลังจะรื้อฟื้นดูว่าจุดที่ตั้งป้อมปืนตรงปากน้ำนี้อยู่ตรงไหน เพราะเป็นจุดที่สามารถป้องกันข้าศึกศัตรูจากการรุกรานจากภายนอกจากกรุงศรีอยุธยา หรือจากที่ใดก็แล้วแต่ เมื่อสมัย 410 ปีที่ผ่านมา ป้อมปืนป้อมนั้นจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ แต่บนหัวเขาแดงขณะนี้ก็ยังคงหลงเหลืออยู่อีกหลายป้อมปืน ตั้งอยู่ตามไหล่เขาต่างๆ เพื่อให้เข้ากับระยะยิง ข้าศึกเข้ามาในระยะนี้ต้องยิงปืนกระบอกนี้ ป้อมปืนนี้ นี่คืออุทยานแห่งชาติประวัติศาสตร์ศาสตร์เมืองเก่าหัวเขาแดง”
สถานที่เหล่านี้เราต้องไปฟื้นฟูเพื่อรองรับการท่องเที่ยวหรือไม่?
“ปัจจุบันก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอยู่แล้ว ดูแลโดยกรมศิลปากร ปรับปรุงให้สมบูรณ์อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว และเจดีย์ 2 องค์ที่อยู่บนยอดหัวเขาแดงนั้น มีเจดีย์องค์ดำ และเจดีย์องค์ขาว สร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ สมัยรัชการที่ 3 ให้แม่ทัพ 2 คนมาก่อสร้างเมื่อปี 2374 โดยเจดีย์องค์ดำเป็นเจดีย์องค์พี่ และเจดีย์องค์ขาวเป็นเจดีย์องค์น้อง และเป็นเจดีย์ที่อยู่สูงสุดของยอดหัวเขาแดง
จากเจดีย์ทั้ง 2 องค์นี้จะเป็นจุดชมวิวมองไปรอบๆ ริมททะเลสาบสงขลาทั้งหมด รวมทั้งมองไปถึงเมืองหาดใหญ่ด้วย ซึ่งวิวเหล่านี้เราสามารถเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเหมือนกับที่เราขึ้นไปชมเกาะลังกาวี บรรยากาศของเรามีสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์อยู่ที่ลังกาวีเขาให้แค่ดูวิวธรรมดา ไม่มีสิ่งปลูกสร้างเลย นี่คือความสำคัญว่าทำไมต้องสร้างกระเช้าลอยฟ้าไปตรงนั้น
และจากการศึกษาข้อมูลยืนยันจากผลการศึกษาสมัยปี 50 และปี 48 ว่า เป็นโครงการที่มีความเหมาะสม และมีความคุ้มค่าคุ้มทุน จึงเป็นที่มาของการสานต่อโครงการกระเช้าลอยฟ้าของ อบจ.สงขลา ในฐานะที่ผมมาเป็นนายก อบจ.สงขลา เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2552”
แล้วคิดจะต่อยอดไปเป็นการท่องเที่ยวอย่างอื่นที่สอดคล้องกับท้องถิ่นหรือไม่?
ก็ได้มีการศึกษาตามการจัดทำแผนแม่บทอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ว่าพื้นที่ตรงไหนบ้างที่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องของการท่องเที่ยว ก็จะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งหมด
ตอนที่ทำประชาพิจารณ์เรื่องกระเช้าลอยฟ้า ทำจากประชาชนทั้ง 2 ฝั่งหรือไม่?
ครับ ทำจากประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง
ทำประชาพิจารณ์นานแล้วยัง?
ก็ทำตามมาระเบียบกฎหมาย
คือทำมาโดยตลอด?
ครับ ใช่ครับ วารสารของ อบจ.สงขลา เกือบทุกฉบับเราก็พยายามบอกแก่พี่น้องประชาชนว่าจะมีโครงการกระเช้าลอยฟ้านะ เพราะการจัดทำโครงการประเภทนี้จะต้องสื่อสารให้ประชาชนทราบ
มีโมเดลกระเช้าลอยฟ้าที่ชนะการประกวด แต่เราไม่สามารถทำตามรูปแบบนั้นได้ เพราะใช้เงินลงทุนสูงมาก จึงจัดทำเป็นสเตชัน (สถานี) เหมือนกับเกาะลังกาวี โดยจะมีกระเช้าลอยฟ้าทั้งสิ้นจำนวน 17 กระเช้า
จะมีปักเสาลงไปในทะเลด้วยมั้ย?
ไม่มี
ตรงนี้นอกจากจะสร้างกระเช้าลอยฟ้าแล้ว เห็นปักป้ายว่ามีการก่อสร้างสำนักงานของมูลนิธิมิราเคิล ออฟ ไลฟ์ ด้วย เกี่ยวข้องกันหรือไม่?
“เป็นคนละส่วนกัน อันโน้นเป็นของมูลนิธิในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ”
ตรงส่วนนั้นมูลนิธิจัดสร้างเอง?
ใช่
แต่ว่าพื้นที่อยู่ใกล้เคียงกัน?
ใช่ ใกล้เคียงกัน
แล้วกระเช้าลอยฟ้าที่จะสร้างมีระยะทางทั้งหมดเท่าไหร่?
ระยะทางไป-กลับ 1.8 กิโลเมตร
คาดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่?
จะพยายามเร่งให้เสร็จปลายปี 2556
แล้วอีกสถานีตรงหัวเขาแดงเริ่มก่อสร้างไปพร้อมๆ กับแหลมสนอ่อนหรือไม่?
จะต้องทำการก่อสร้างบริเวณแหลมสนอ่อนก่อน
เม็ดเงินในส่วนของการท่องเที่ยว ประเมินว่าจะมีเงินสะพัดสักเท่าไหร่?
ตัวเงินนี่คงจะประเมินได้ยากสักนิดหนึ่ง เพราะการท่องเที่ยว ผมยกตัวอย่างว่าลิฟต์ขึ้นเขาตังกวน เวลานี้มีคนมาขึ้นลิฟต์ไปยังเขาตังกวนไม่น้อยกว่า 500 คน 500-1,000 คน รับได้ประมาณ 1,000 คน หลังจากนั้นรับไม่ได้แล้ว เพราะคิวจะยาวมาก นี่เฉพาะที่มาใช้จ่ายในเมืองสงขลา จำนวน 500 คน แน่นอนที่สุดจะต้องมาทานข้าว 1 มื้อ ต้องมาจับจ่ายซื้อของ พวกของที่ระลึกต่างๆ
ถ้าสมมติว่าเรามีสิ่งดึงดูดหลายๆ จุด ผมทำอะควาเรียม คนมาขึ้นเขาตังกวนเสร็จก็มาดูอะควาเรียม ใช้เวลานานขึ้น บางคนก็มาเช้า บางคนก็มาบ่าย บางคนก็มาเย็น จะทำให้การค้าขายของ จ.สงขลา ในเขตพื้นที่ตรงนี้ขายสินค้าได้มากขึ้น เทียบกับเราไม่ทำอะไรเลย คนมาสงขลาถามว่าจะไปไหน ก็ไปถ่ายรูปนางเงือกอย่างเดียว อย่างอื่นก็ไม่มีแล้ว แต่วันนี้มีอะไรบ้าง มีขึ้นลิฟต์ไปยังเขาตังกวน มาดูอะควาเรียมได้ ไปดูพญานาคพ่นน้ำได้ ดูอันนั้นได้ ดูอันนี้ได้ เที่ยวแบบ 1 Day Tour ได้สบายๆ ต่อไปถ้าเรามีกระเช้าลอยฟ้า คุณต้องนอนสงขลา 1 คืนเป็นอย่างน้อย อะไรทำนองนี้
มองว่าการที่มีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายจะดึงคนให้อยู่ในพื้นที่ และกระจายเม็ดเงินได้มากขึ้น?
ครับ
อยากจะฝากอะไรเกี่ยวกับการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าถึงชาวสงขลาบ้าง?
อยากจะเรียนพี่น้องชาวสงขลานะครับว่า ในฐานะที่ผม พี่น้องเลือกให้มาเป็นนายก อบจ.สงขลา ก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะขับเคลื่อนการพัฒนา จ.สงขลา ในทุกด้าน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของพี่น้องเป็นที่ตั้ง และคำนึงถึงผลกระทบเป็นที่ตั้ง สิ่งไหนที่กระทบก็ต้องหาทางแก้ไข สิ่งไหนที่ทดแทนจากการพัฒนาก็ต้องรีบดำเนินการ อย่างเช่นพื้นที่ตรงนี้ จะเห็นว่าไม่มีป่าสน แต่ถ้าจำเป็นจะต้องล้มต้นสนสักต้นหนึ่ง เราต้องปลูกทดแทนเป็น 10 ต้น อะไรทำนองนี้ นี่คือการชดเชย นี่คือการทดแทนของการพัฒนา
ก็ฝากถึงพี่น้องประชาชนว่า ในฐานะที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น นายก อบจ.สงขลา ก็มีความตั้งใจที่จะทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน
นอกจากนี้ นายอุทิศ ชูช่วย ยังแจกแจงรายละเอียดโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าดังกล่าวอีกว่า ในเอกสารแผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสงขลาเก่าหัวเขาแดง (เล่มปกสีฟ้า) มี 1 ในแผนแม่บทนั้นระบุโครงการกระเช้าลอยฟ้าอยู่ในโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทด้วย ซึ่งมีเอกสารเผยแพร่เป็นเอกสารขนาดใหญ่ ลงวันที่เป็นเดือนพฤษภาคม 2551
ตนมาเป็นนายก อบจ.เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2552 ต่อจากนายนวพล บุญญามณี ที่โดน กกต.แจกใบเหลือง และหลังจากที่ตนเข้ามาดำรงตำแหน่ง เนื่องจากว่าโครงการดังกล่าวนี้ตนมีส่วนร่วมคิด ร่วมเสนอนโยบายกับนายนวพล บุญญามณี มาตั้งแต่ต้น ว่าจะทำโครงการกระเช้าลอยฟ้า ให้ประชาชนชาวสงขลา เมื่อตนมาเป็นนายก อบจ.สงขลา ในปี 2552 ก็ได้หยิบผลการศึกษาของนายนวพล บุญญามณี มาขับเคลื่อนต่อ
โดยนำมาขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดสรรงบประมาณโดยเสนอสมาชิกสภา จ.สงขลา ทั้งนี้ ส.จ.ทั้งหมดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้า อนุมัติงบประมาณปี 2555 จำนวน 230 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 229 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายก อบจ.สงขลา ระบุว่า โดยระเบียบกฎหมายการก่อสร้างอาคาร ถ้าเป็นอาคารราชการ เนื่องจากหน่วยราชการท้องถิ่น อบจ.สงขลา มีกองช่าง มีสถาปนิก มีวิศวกร มีผู้เชี่ยวชาญที่จะดูแลเรื่องเหล่านี้ให้เป็นไปตามกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแค่แจ้งเพื่อทราบให้เทศบาลนครสงขลา ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ทราบว่า อบจ.สงขลา ได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโครงการเหล่านี้ในเขตพื้นที่ของท่าน ไม่ใช่การขออนุญาต แต่เป็นการแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 ธ.ค.2555 หลังจาก อบจ.เข้าเคลียร์พื้นที่แหลมสนอ่อนดังกล่าว กลุ่มประชาชนที่ต่อต้านการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าก็รวมตัวตั้งเวทีประท้วงที่หน้าศาลกลางจังหวัดสงขลา เพื่อเรียกร้องให้ อบจ.สงขลา ยุติการก่อสร้าง โดยระบุว่า โครงการกระเช้าลอยฟ้าดังกล่าวยังไม่ได้มีการสำรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบต่อสุขภาพ (EHIA) แต่อย่างใด
และเมื่อเวลา 16.30 น. วันเดียวกัน นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ก็ได้มีคำสั่งให้ อบจ.สงขลา ระงับโครงการดังกล่าวไว้ก่อนชั่วคราว พร้อมให้เคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลหนักออกจากพื้นที่แหลมสนอ่อนด้วย