โดย..สานนท์ เจริญพันธุ์
กว่า 5 ปีมาแล้วนับแต่ปี 2549 ที่ “ศูนย์การเรียนรู้บ้านนาโต่” วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย ได้ก่อตั้งขึ้น ตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จฯเยี่ยมพื้นที่ และทรงโปรดให้มีการเปิดสอนอาชีวศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนในพื้นที่ เพื่อเป็นการให้โอกาสแก่เด็กนักเรียนได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเอง และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของผู้ปกครองจากการเดินทางไปเรียนในสถานที่ห่างไกล ตลอดจนเมื่อจบการศึกษานักเรียนสามารถประกอบอาชีพอยู่ในท้องถิ่นและสามารถพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นตามสภาพปัญหาความต้องการและบริบทชุมชนของตนเอง เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญของการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับฐานรากและนำไปสู่ความความมั่นคงตามแนวชายแดน
ดังนั้น ศูนย์การเรียนรู้บ้านนาโต่ วษท.เชียงรายแห่งนี้ จะรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนสายสามัญ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเข้ามาเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มาจาก 6 ชนเผ่า ได้แก่ อาข่า ไทยใหญ่ จีนฮ่อ ล่าหู่ ลีซู และม้ง เพื่อเข้ามาเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งที่นี่จะเปิดสอนในสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ สาขางานเกษตรทั่วไป การจัดการเรียนการสอนนั้นจะเน้นให้ผู้เรียนวางแผนทำโครงงานด้านเกษตรกรรมและลงมือปฏิบัติจริง
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดย นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นหัวหน้าคณะนำทีมสื่อมวลชนลงไปร่วมสัมผัสประสบการณ์ และวิธิการเรียนการสอนของศูนย์การเรียนรู้บ้านนาโต่ เพื่อให้เห็นภาพการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ทางเกษตรอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ภายในศูนย์การเรียนรู้บ้านนาโต่ ไม่ได้สอนเพียงแค่ให้นักศึกษามีความรู้ทางวิชาการในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังจัดกิจกรรมการเรียนการสอนภายนอกห้องเรียน โดยเน้นการบูรณาการการเรียนรู้ด้วยการให้เด็กลงมือปฏิบัติจริง อาทิ การให้เด็กลงมือปลูกพืช เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ โดยยึดแนวทางการทำการเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสำคัญ รวมไปถึงสอนการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมใหญ่เมื่อเรียนจบไป
...สำคัญที่สุด คือ ครูผู้สอนไม่ลืมที่จะสอดแทรกเรื่องของการสำนึกรักบ้านเกิด…
นายหนุ่ม ซาวคำเขตร์ เจ้าหน้าที่วัดผลศูนย์การเรียนบ้านนาโต่ หรือที่เด็กๆ เรียกกันติดปากว่า “ครูหนุ่ม” เล่าว่า ตนจะปลูกฝังให้เด็กใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ภายในท้องถิ่นให้คุ้มค่า และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกัน ก็สอนให้เขารู้จักเรียนรู้จากสิ่งที่พบเจอ ที่นาโต่อาจจะเป็นเพียงแค่สังคมเล็กๆ แต่ถ้าคุณไปอยู่ในสังคมที่ใหญ่ขึ้น ก็จะมีทั้งคนที่ชอบเรา และไม่ชอบเรา เราจงทำตัวให้ดีเสมอต้นเสมอปลาย ถึงแม้เราจะทำไปแล้วคนอื่นไม่เห็น แต่เรารู้ตัวของเรา สักวันหนึ่งสิ่งที่เราทำไปก็จะกลับมาหาตัวของเราเอง และเมื่อเราไปอยู่ในสังคมเมืองใหญ่ เห็นอะไรที่แปลกใหม่ แล้วอยากได้อยากมีอย่างคนอื่นเขา เราต้องใช้นำพักน้ำแรงของเราหามา ไม่ควรหามาโดยใช้วิธีที่ผิดๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ปลูกฝังเด็กๆในทุกๆเช้าเวลาเข้าแถวเคารพธงชาติ
ด้าน น.ส.มาลี แซ่ลี ปวช.ปี 2 เล่าว่า ตนเป็นชาวเผ่าม้ง มีพื้นเพอาศัยที่นี่ พอเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติฯ ก็ตัดสินใจมาเรียนที่นี่เพราะอยู่ใกล้กับบ้านของตน การเดินทางมาเรียนก็สะดวกค่าใช้จ่ายการเรียนก็ไม่แพงช่วยลดภาระของพ่อแม่ได้มาก ซึ่งถ้าไม่มีศูนย์การเรียนรู้บ้านนาโต่ ตนคงไม่ได้เรียนต่อในระดับ ปวช.เพราะปัจจัยในหลายๆด้านไม่เอื้ออำนวย ที่สำคัญที่นี่สอนเกี่ยวกับเรื่องเกษตรกรรมก็เลยตั้งใจว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปช่วยเหลือพ่อกับแม่ด้วย
“ถ้าจบ ปวช.ก็จะเรียนต่อ ปวส.ที่นี่ อยากจะมีความรู้มากๆ แล้วนำความรู้ที่มีกลับไปช่วยพ่อกับแม่ ไปพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมของที่บ้าน เพราะทุกวันนี้การเกษตรที่พ่อแม่ทำอยู่เป็นแบบดั้งเดิมยังใช้สารเคมีในการปลูกพืชต่างจากที่เราได้มาเรียนรู้จากที่นี่จะไม่ใช้และเน้นให้ทำการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยซึ่งยั่งยืนกว่า อย่างไรก็ตาม เท่าที่เห็นเด็กส่วนใหญ่ที่จบ ปวช.ไปแล้วจากที่ศูนย์ก็มีทั้งที่ออกไปช่วยครอบครัวทำการเกษตรและก็เรียนต่อระดับ ปวส.”
เช่นเดียวกับ น.ส.พูนศรี อ่วยยื่อ ปวส.ปีที่ 1 ชาวอาข่า เล่าว่า บ้านของตนพ่อกับแม่มีอาชีพทำการเกษตร แบบดั้งเดิมเช่นกัน แต่เมื่อได้มาเรียนที่นี่จึงได้รู้ว่าการทำเกษตรโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะช่วยให้เราได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้นและเมื่อนำไปขายก็ทำให้เรามีกำไรจากการขายมากกว่า ในขณะที่ถ้าการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่พ่อแม่ตนทำอยู่ได้กำไรน้อยมาก ดังนั้น เมื่อจบ ปวช.จึงตัดสินใจเรียนต่อ ปวส.ทันทีและวางแผนด้วยถ้าจบ ปวส.ก็อยากจะสอบเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ด้านเกษตรโดยตรง เพื่อที่จะได้กลับไปช่วยและพัฒนาการทำเกษตรของที่บ้าน
ศูนย์การเรียนรู้บ้านนาโต่ แม้จะเป็นศูนย์การเรียนเล็ก ๆ แต่ก็เต็มไปด้วยคำสอนที่สอนให้เด็กๆ รักบ้านเกิด รักการทำเกษตร และเข้าถึงคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง รวมทั้งการสอนให้เข้าสังคม ทำให้เด็กๆที่เรียนที่นี่มีประสิทธิภาพและคุณภาพในการที่จะเติบโตและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง อีกทั้งยังสามารถกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนได้อีกด้วย