xs
xsm
sm
md
lg

ปลอดล้วง"กยอ."5พันล้าน ปชป.แฉ บริษัทร้างงาบงบขุดลอก 30 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(6 พ.ค.56)น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แผนการลงทุนการบริหารจัดการน้ำ ที่ใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นงบเงินกู้ก้อนใหญ่ที่ต้องตรวจสอบหนักมากขึ้น จึงขอเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนช่วนกันให้ข้อมูลและสกัดกั้นการทุตริตอย่างรุนแรง โดยขอตั้งข้อสังเกตเรื่องความโปร่งใสเพราะล่าสุดได้พบหลักฐานจากการร้องเรียนของประชาชน ประกอบกับการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและการรายงานข่าวของสำนักข่าวอิศรา พบข้อมูล คือ งบน้ำท่วมใหญ่ 1.2 แสนล้าน ส่วนหนึ่งมี หจก."ร้าง" รับงานขุดลอกคลอง 32 ล้านบาท ที่จังหวัดนนทบุรี โดยเป็นงบฯจากโครงการแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลักฐานสำคัญที่พบคือนายทะเบียนขีดชื่อออกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธุ์ พ.ศ.2554 แต่เข้าทำสัญญาว่าจ้าง ต้นปี พ.ศ.2555
สิ่งที่ปรากฏชัดเจนในขณะนี้ คือ การใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ในช่วงหลังเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ในช่วงปลายปี 2554 ได้เกิดปัญหาการใช้จ่ายงประมาณที่ส่อว่าจะไม่มีประสิทธิภาพ และเกิดการรั่วไหลชัดเจน เพราะในการดำเนินงานโครงการ ขุดลอกคูคลอง จังหวัดนนทบุรี จำนวนกว่า 32 สัญญา รวมวงเงินกว่า 150 ล้านบาท ซึ่งใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 งบกลางของนายกรัฐมนตรี รายการค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ โครงการสำคัญเร่งด่วน (Flagship) พื้นที่แก้ไขปัญหาอุทกภัย มีเอกชนเพียงไม่กี่รายที่ได้รับงานนี้
รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทเอกชน ที่ได้รับงานไปจำนวนมากที่สุด คือ บริษัทร้างที่นายทะเบียนขีดชื่อออกนั่นเอง โดยได้รับงานทั้งสิ้น 8 สัญญา รวมวงเงิน 32,841,000 บาท ทำงานโครงการขุดลอกคลองเจ๊ก อ.บางบัวทอง วงเงิน 6,138,000 บาท โครงการขุดลอกคลองสามวัง อ.บางบัวทอง วงเงิน 1,220,000 บาททโครงการขุดลอกคลองลำรี อ.บางบัวทอง วงเงิน 12,430,000 บาท โครงการขุดลอกคลองเจ๊กเล็ก อ.บางบัวทอง วงเงิน 3,000,000 บาท โครงการปรับปรุงซ่อมแซมแหล่งน้ำ ต.บางคูรัด อ.บางบัวทอง วงเงิน 2,000,000 บาท โครงการขุดลอกคลองเส้นทางที่กีดขวางทางน้ำ คลองตะเคียน, คลองใหญ่,คลองงิ้วค่อม,คลองขวางศาลากลาง,คลองบ้านกล้วย,คลองบางพลู,คลองบ้านดอน,คลองเขมร วงเงิน 4,445,000 บาท โครงการขุดลอกคลองยายด๊ะ อ.บางบัวทอง วงเงิน 608,000 บาท โครงการขุดลอกคลองสาธารณะ ต.พิมลราช อ.บางบัวทอง วงเงิน 3,000,000 บาท
แต่จากการรายงานของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ระบุการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า หจก.ที่รับงานนั้น จดทะเบียน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2544 แจ้งประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ทุนจดทะเบียน 750,000 บาท ตั้งอยู่อ.บางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี แต่ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า ห้างหุ้นส่วนนี้เป็นห้างหุ้นส่วนร้างซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนแล้ว ตามความในมาตรา 1273/3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 น่าสังเกตว่าการลงนามในสัญญาว่าจ้าง หจก.นี้ให้รับงานว่าจ้าง ขุดลอกคูคลอง จำนวนหลายสิบล้านบาท เกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม–เมษายน 2555 หลังจากที่ หจก.แห่งนี้ ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็น หจก.ร้าง
" คำถามคือ แล้วโครงการอื่นๆในเงิน 1.2 แสนล้านมีโครงการใดโปร่งใสบ้างหรือไม่ การส่อทุจริตและทุจริตลงไปกับงบขุดลอกหรือขุดแปะในแต่ละพื้นที่นั้นเอามาถลุงหากินกับความเดือดร้อนของประชาชนใช่หรือไม่ ขอให้ประชาชนในพื้นที่ขุดลอกช่วยกันตรวจสอบหาหลักฐานส่งสตง.หรือส่งมาที่พรรคประชาธิปัตย์ จากนี้ไปงานที่ใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทจะไปต่อหรือไม่ก็ไว้วางใจไม่ได้เลเหมือนฝากปลาย่างไว้กับแมว ฟาดเรียบปากมันเลย " นางสาวมัลลิกา กล่าว

**' งัด'โกร่ง' ดึงงบเงินกู้ลงทุนน้ำผ่านกบอ.
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน เกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกที่ กยอ.ต้องการเป็นผู้บริหารจัดการโครงการนี้และต้องการขอรับการจัดสรรงบประมาณจาก กบอ. ซึ่งได้ชี้แจงให้ กยอ.ทราบในที่ประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายหน้าที่ในการดูแลการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ในภาพรวมทั้งหมดให้ กบอ. ดังนั้นแผนงานเกี่ยวกับการทรัพยากรน้ำทุกเรื่องจะต้องผ่านการพิจารณาของ กบอ. ดังนั้น หาก กยอ.จะเสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของ กบอ. ตนก็จะคัดค้านเรื่องนี้ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
"ขณะนี้แผนจัดการน้ำต่างๆ แม้แต่ของกรมชลประทานก็ต้องเสนอให้กบอ.พิจารณาเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน ซึ่งกยอ.ต้องทำแผนแม่บทจัดการน้ำภาคตะวันออกมาเสนอให้กบอ.พิจารณา เพราะแผนงานจะต้องสอดรับกับแผนบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของประเทศ" นายปลอดประสพกล่าว
ทั้งนี้ นายอำพน จึงเสนอให้แบ่งงบเงินกู้ของ กยอ.มาให้กับ กบอ. จำนวน 5,000 ล้านบาท จากทั้งหมด 1 หมื่นล้านบาท เพื่อไม่ให้นายปลอดประสพ คัดค้านแผนงานและโครงการลงทุนสร้างอนาคตของ กยอ. ในที่ประชุม ครม. เพราะหากมีการคัดค้านแผนงานและโครงการของ กยอ. และ ครม.ไม่อนุมัติโครงการ จะทำให้ กยอ.ไม่สามารถใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท จาก พ.ร.ก.ได้ทันตามที่กฎหมายกำหนด โดยรัฐบาลได้จัดสรรเงินกู้ 3.4 แสนล้านบาทให้กับ กบอ.
สำหรับแผนงานจัดการน้ำภาคตะวันออกเป็นแผนงานที่นายวีรพงษ์ ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ หากมีน้ำจืดไม่เพียงพอจะกระทบต่อการผลิตอุตสาหกรรม โดยเบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณในการพัฒนาราว 5 หมื่นล้านบาท
มีรายงานว่า ในที่ประชุมร่วมของ กยอ.และกบอ.ได้มีการถกเถียงเรื่องอำนาจในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำตะวันออก โดย กบอ.ยืนยันว่าโครงการนี้ กบอ.จะต้องเป็นผู้ดำเนินการ แต่ กยอ.ก็ชี้แจงว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์หนึ่งของ กยอ.และเกี่ยวข้องกับการดูแลความพร้อมของในแหล่งผลิตอุตสาหกรรมของประเทศที่กำลังขยายตัว ขณะที่นายอำพน กิตติอำพล เลขาฯคณะรัฐมนตรี ได้ให้กรรมการทั้ง 2 ชุดไปหารือกันนอกรอบเพื่อให้ได้ข้อสรุป ก่อนที่จะทำเรื่องมาเสนอครม.
อนึ่ง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 350,000 ล้านบาท ทาง กยอ.ได้รับวงเงินไปดำเนินการตามยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ วงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งตามเงื่อนไขจะต้องมีการกู้เงินจำนวนนี้ให้เสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย. 2556 ประกอบด้วย 6 โครงการหลัก วงเงิน 9,240 ล้านบาท คือ 1.สนับสนุนการทำโซนนิ่งเกษตร 3,000 ล้านบาท 2.การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานสำหรับอนาคต 1,200 ล้านบาท 3.การพัฒนาการท่องเที่ยววงเงิน 2,360 ล้านบาท 4.การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกและบริหารจัดการพื้นที่อ่าวไทย 120 ล้านบาท 5.การบริหารจัดการกากของเสียและมลพิษทั้งระบบวงเงิน 1,000 ล้านบาท 6.การพัฒนาบุคลากรภาคการผลิตและภาคการบริการวงเงิน 1,560 ล้านบาท

**นายกฯตั้ง"วิม"โฆษกเศรษฐกิจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เซ็นคำสั่งแต่งตั้งนายวิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายประสานงานและเผยแพร่นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ(โฆษกเศรษฐกิจ) เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางด้านเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ครอบคุมงานทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมติครม.โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ตามร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .....วงเงิน 2 ล้านล้านบาท และโครงการตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำ
วันเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพตส์เฟซบุ๊ค Thaksin Shinawatra ระบุว่า
เมื่อวานนี้ไปมาเก๊ามา ผู้คนเยอะมาก คนจีนหวังมาเสี่ยงโชคเช่นเคย ตรงข้ามกับมาเก๊า ซึ่งถือเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน จีนได้กำหนดให้เมืองจูไห่ซึ่งขับรถข้ามจากมาเก๊าไปนิดเดียวก็ถึง ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งน่าสนใจมากครับ
จีนกำลังเร่งพัฒนาจูไห่ โดยเข้าใจว่าจะมีใบอนุญาตพิเศษหลายอย่างรวมทั้งสถาบันการเงินด้วย เลขาพรรคคอมมิวนิสต์ประจำจูไห่ ซึ่งเขาให้เป็นเทียบเท่ารัฐมนตรีว่าการ เป็นคนหนุ่ม เคยเป็นเลขาพรรคคอมมิวนิสต์ประจำเมืองเหมยเซี่ยน เมืองเล็กๆในมณฑลกวางตุ้งที่คนจีนแคะอยู่กันและเคยไปเยี่ยมบ้านและที่ฝังศพบรรพบุรุษสายแม่ผม ท่านผู้นี้เคยนำผมทัวร์เมื่อปี ค.ศ.2005 เขาเชิญผมไปดูเมืองจูไห่ ซึ่งถ้าผมไปได้รายละเอียดที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยก็จะมาเล่าให้ฟัง
มีพรรคพวกคนหนึ่งจะเอาเทคโนโลยีสร้างตึกรวดเร็วที่ทำจากโรงงานมาประกอบที่ผมเคยเล่าให้ฟังไปสร้างที่จูไห่ แล้วจะขอเชิญทีมที่สร้างตึกสูงที่สุดในโลกของดูไบมาบริหารเพื่อให้เกิด Brand เพื่อการขาย ซึ่งก็เป็น idea ที่ดี
วันนี้เรื่อง Brand เรื่อง Synergy เรื่องการทำ Value Creation เรื่องของ Economy of speed เป็นหัวใจของการช่วงชิงตลาดและการกำหนดราคา ก็อยากจะฝากเป็นการบ้านให้นักธุรกิจ นักบริหาร และนักวิชาการของไทย ได้นำไปคิดครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น