โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท คงยังเป็นเรื่อง Talk of the Town ไปอีกนาน และไม่อยากให้นานเป็น 50 ปี ! สังคมอาจเริ่มเห็นว่าใครกัน ที่อยู่เบื้องหลังความคิดสร้างหนี้ประเทศขนาดนี้
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กThaksin Shinawatra ว่า อีกแง่มุมเพื่อความเข้าใจ โครงการ 2 ล้านล้านบาท ตอนสมัยตนทำธุรกิจ เวลาจะกู้หนี้ยืมสิน เขาจะดูสัดส่วน ของหนี้ต่อทุนเพื่อรักษาไว้ไม่ให้เกิน 2 หรือมากสุด 2.5 เท่าต่อ 1 เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะแข็งแรง ส่วนเศรษฐกิจประเทศนั้นเขาจะรักษาสัดส่วนของหนี้ต่อจีดีพีของประเทศไม่ให้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าดีเยี่ยม ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ถือว่ายังดีอยู่ แต่ประเทศที่มีฐานรายได้ทางภาษีใหญ่ๆเขายอมให้สูงกว่านี้ เช่น ญี่ปุ่น มีหนี้เกือบ 200 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี แต่ตัวเลขของสัดส่วนย่อมเปลี่ยนไปถ้าจีดีพีหรือเศรษฐกิจประเทศโตขึ้น
พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล คือการลงทุนให้เศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นทั้งทางตรงทางอ้อม ทางตรงคือเงินที่ลงทุนและไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทางอ้อมคือโครงสร้างพื้นฐานนั้นไปลดค่าใช้จ่ายทางการขนส่ง ลดการใช้พลังงาน ลดความสึกหรอของถนนที่มีอยู่เดิม ไปเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านความสะดวกในการสัญจร การเกิดกิจกรรมการค้าการขายมากขึ้น ที่ดินราคาดีขึ้นตามความเจริญที่เข้าถึง ความเชื่อมั่นที่ต่างประเทศนำเงินเข้ามาลงทุน การแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรกับค่าเครื่องจักร ค่าก่อสร้าง ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวว่าหนี้จะพุ่งข้างเดียว เพราะรายได้ก็พุ่งด้วย สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี จึงจะไม่สูงอย่างที่วิตก และก็ไม่ต้องรอว่าจะต้องใช้หนี้อีก 50 ปีจะหมด ดูตัวอย่างหนี้ไอเอ็มเอฟที่เราใช้ได้เร็วกว่ากำหนด ทั้งนี้อยู่ที่ ใครสร้างเศรษฐกิจเป็น กับใครเป็นแต่ใช้จ่ายอย่างเดียว วิธีมองจึงต่างกันไป
ผมคิดว่า มีหลายประเด็นที่น่าจะเสริม เพื่อคุณค่าของความคิด และข้อเท็จจริง ที่ครบถ้วน ดังนี้
1. การก่อหนี้ ภาครัฐ ควรมีเวลาที่เหมาะสม บทเรียนการกู้วิกฤตเศรษฐกิจ ตั้งแต่ยุค “วิบัติเศรษฐกิจ” Great Depression ในปี 1930 คือ ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
... ในยามที่เศรษฐกิจซบเซาหลังวิกฤต ประชาชนขาดกำลังซื้อ ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการเป็น “ผู้ใช้จ่าย” หรือ “ผู้ลงทุน” ช่วยทำให้เกิดการจ้างงาน การซื้อของต่างๆก็ไม่แย่งกับภาคเอกชน การกู้เงิน หรือ ระดมทุนก็ไม่แย่งกับเอกชน ทำให้ได้โครงการต่างๆในเวลาที่เหมาะสม และต้นทุนที่เหมาะสม
... ในยามที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู เอกชนกำลังขยายธุรกิจได้ดี ภาครัฐก็อาจลงทุนไปด้วยงบประมาณที่มี (ไม่ใช่หยุดลงทุน) “ไม่ต้อง” และอาจจะ “ไม่ควร” กู้เงินจำนวนมาก แข่งแย่งเม็ดเงินกับภาคเอกชน และอาจแย่งทรัพยากรอื่นๆ เช่น ปูน เสาเข็ม วิศวกร ช่างฝีมือแรงงาน ฯลฯ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีอยู่แล้วพอสมควร ควรเป็นเวลาที่ดีของภาคเอกชน แต่การที่ภาครัฐอาจมีลงทุนสูง แทนที่จะเป็นการเพียงสร้างความ “เติบโตที่พอเพียงและยั่งยืน” กลับอาจกลายเป็นการสร้างความ “เติบโตแบบร้อนแรงเกินตัว” เป็นลูกโป่งรอแตกก็ได้
2. การซ่อนหนี้ สร้างหนี้ ทำให้ประเทศอ่อนแอ ควรคำนึงถึงลูกหลาน ผมเห็นด้วยที่ อดีตผู้นำตั้งข้อสังเกตว่า หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ที่ไม่เกิน 60% ก็ยังน่าจะอยู่ในระดับที่ดี แต่ทำไม เราจึงต้องพาประเทศไปสู่จุดนั้น ? ในเมื่อเรามีสถานภาพที่ดี หนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ดี รัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์รับต่อมาจากรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ ที่ประมาณ 40-41% ในเมื่อเอกชนกำลังลงทุน และจับจ่ายกันได้ดี ภาครัฐก็ไม่จำเป็นต้องก่อหนี้ไปจนถึงระดับ “ค่อนข้างสูง” สำหรับประเทศกำลังพัฒนาแบบเรา
... ย้ายหนี้ FIDF นับล้านล้านบาท ก็ซ่อนหนี้รัฐร่วม 10% ของจีดีพี แม้จะบิดเบือนว่า เป็นหนี้ภาคสถาบันการเงิน แต่มันเกิดจากสถาบันการเงินไม่ดี ไม่ควรต้องให้สถาบันการเงินที่ดีมารับใช้หนี้ ทุกประเทศที่กำลังแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กลับมาดี จะดูแลให้สถาบันการเงินกลับ มาทำงานได้ แม้รัฐต้องใช้เงินช่วยเหลือ จึงไม่ควรผลักภาระให้สถาบันการเงิน ซึ่งก็จะเป็นภาระต่อกับผู้กู้ แทนที่จะกู้ได้ถูกลง และผู้ฝากแทนที่จะได้ผลตอบแทนที่ขึ้น แต่กลับต้องมารับภาระหนี้นี้ไป
...โครงการ “รถคันแรก” นับล้านคัน ก็ผลักดันสนับสนุนให้ประชาชนก่อหนี้ นับครึ่งล้านล้านบาท และรัฐเองก็มีหนี้แฝงในการลดภาษีให้อีกหลายปี ก็เป็นการสร้างสมหนี้ทั้งหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นไปอีก
...โครงการ “จำนำข้าว” ก็กำลังมีแนวโน้มจะสร้างการขาดทุนและเป็นภาระหนี้รัฐอีกหลายแสนล้านบาท
ภาระหนี้เหล่านี้ รวมกับอีก 2 ล้านล้านบาท อาจสะสมถึงรุ่นลูกหลานที่เราจะเห็นแก่ตัวเพียงรุ่นเราจริงๆหรือ ?
3. การบริหารหนี้ประเทศ ควรคิดแบบบริหารความเสี่ยงประเทศด้วย การกู้เงินอีก 2 ล้านล้านบาทนี้ในจังหวะนี้ นอกจากจะมีความเสี่ยงในการแย่งแหล่งเงินและทรัพยากรต่างๆจากภาคเอกชน การก่อหนี้ไปถึงขอบร้อยละ 60 สำหรับประเทศระดับเรา ก็อาจจะผลักประเทศไปที่ “ขอบเหว” มากเกินไป หากโลกกลับมาสู่วิกฤตอีกรอบ แทนที่เราจะมีกำลัง ความแข็งแรงแก้ไขปัญหาได้ อย่างที่รัฐบาลอภิสิทธิ์แก้ปัญหาผ่านวิกฤตการเงินโลก หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มาได้อย่างดี เราก็อาจจะทรุดไม่มีกำลังจะเตรียมฟื้นฟูประเทศได้ หากเราก็มีหนี้สูงมากเกินไปด้วย
มันเหมือนเรื่องการ “จัดการน้ำ” ตอนที่คิดจะกั้นน้ำ สะสมน้ำในเขื่อนภูมิพลสูงจากระดับตอนชนะเลือกตั้ง 58% เป็น 69% ช่วงถวายสัตย์ปฏิญาณ และ เขื่อนสิริกิติ์จาก 65% เป็น 85% แต่ต่อมา ยังมีมติ ครม. ให้ระบายน้ำน้อยอีก จนสะสมไปใกล้ๆขอบ ร้อยละ 100 เพื่อให้เกษตรกรท้ายเขื่อนเก็บเกี่ยวข้าวไว้จำนำ ก็ทำให้ไม่มีช่องว่าง ให้จัดการความเสี่ยง กรณี “น้ำมามาก” มาซ้ำเติมได้
และปีนี้ ก็สะสมน้ำให้น้อยตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ให้ดูเหมือนว่า หากจะแก้ไข ต้องมีน้ำน้อยกว่ายุค ประชาธิปัตย์ แต่เราก็กำลังจะเห็นว่า หากไม่เป็นอย่างที่คิด น้ำแล้งขึ้นมา น้ำในเขื่อนที่เตรียมไว้น้อยถึงขอบจะแก้ไขปัญหาความเสี่ยงกรณี “ภัยแล้ง”อย่างไร
รัฐบาลจึงควรมีนโยบายที่ไม่สุดขั้ว ให้ประเทศอยู่ในระดับที่แข็งแรง ดูแลความเสี่ยงต่างๆได้เสมอ
4. อย่าให้ “ความเท็จ” ว่ารัฐบาลทักษิณ เป็นผู้กู้วิกฤตเศรษฐกิจ ผมติดตามวิกฤตเศรษฐกิจจนได้เขียนหนังสือ “ร่วมกันคิดกู้วิกฤตเศรษฐกิจไทย” ด้วยเห็นชัดว่า วิกฤตเศรษฐกิจลูกโป่งแตกนั้น อยู่ในสมัยรัฐบาลบิ๊กจิ๋ว ซึ่งมี พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นรองนายกฯ สะสมหนี้มากมาย สร้างความเสียหายให้กองทุนสำรองฯ และอาจมีกองทุนลับส่วนตัวได้ประโยชน์ จึงไม่ควรบิดเบือนว่า เป็นผู้เร่งคืนหนี้ ทั้งๆที่ประเทศแข็งแรงขึ้น โดยรัฐบาลนายกฯชวน ซึ่งมีคุณธารินทร์ และ ดร. ศุภชัย ร่วมเป็นเรี่ยวแรงสำคัญ บัดนี้ การก่อหนี้ การซ่อนหนี้ การผลักดันให้ประชาชนสะสมหนี้ ก็ดูเป็นร่องรอยแห่งการสะสมปัญหาจนอาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจกันอีกครั้ง
5. ในการสร้างหนี้ประเทศ ก็ขออย่าให้มีการ “กู้มาโกง” ให้อายลูกหลาน ภาระหนี้มากมายในรุ่นเรา อาจส่งต่อให้ลูกหลานของเราเป็นคนชดใช้แทน จึงอยากจะฝากรัฐบาลให้ล้างค่านิยม “รัฐบาลโกงได้ ถ้าประชาชนได้ประโยชน์” ในสังคมออกไปด้วย เพราะประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการโกง แต่ได้ประโยชน์จากภาษี หรือ กรณีนี้ จากหนี้ของชาติซึ่งอาจผูกพันไปถึงลูกหลาน การโกงมีแต่ทำให้ประโยชน์ประชาชนน้อยลง และทำให้จิตใจคนในสังคมตกต่ำลง
ก็อยากจะสรุปอีกครั้งว่า กู้เงิน 2 ล้านล้าน อาจเป็นภาระถึงลูกหลาน ขอให้อย่าให้เป็นการสร้าง “ลูกโป่งเศรษฐกิจ” อย่าสร้างหนี้ ซ่อนหนี้มากเกินไป บริหารโดยควบคุมความเสี่ยง และ ระวังให้ดีอย่าให้มี “กู้มาโกง” ครับ !
โดยมนตรี ศรไพศาล (montree4life@yahoo.com; www.oknation.net/blog/richwithlove; @montrees)