ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-หัวข่าว “โคราชแล้งหนัก ลุ่มน้ำมูล-ชี ลดฮวบ! หลายพื้นที่ไม่มีดื่ม-ใช้”
ทั้งหมดมาจาก ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งเกิดจากฝนทิ้งช่วง และ ฝนที่ตกในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยน้อยกว่าเกณฑ์กำหนด ส่งผลให้น้ำดิบในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และกลาง จำนวน 27 โครงการ ของสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา ( สน.ชลประทานที่ 8 นม. ) รวมทั้งในลุ่มน้ำมูล-ชี และห้วยหนอง คลองบึงธรรมชาติ มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง
พบว่า วันที่ 1 พฤษภาคม ระดับน้ำคงเหลือร้อยละ 33 ของพื้นที่ความจุรวม 1,164 ล้าน ลบ.เมตร ทำให้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่ง ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และ ระบบนิเวศน์ ใน คลองน้ำธรรมชาติ
จังหวัดนครราชสีมา ยังได้ประกาศพื้นที่ภัยแล้ง 29 อำเภอ 224 ตำบล ประชาชนเดือดร้อน 2,379 หมู่บ้าน โดยมีเพียง 3 อำเภอที่ยังไม่ประกาศพื้นที่ภัยแล้ง คือ ปากช่อง ครบุรี และเสิงสาง
ราวเดือนเมษายน นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผวจ.นครราชสีมา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จังหวัดนครราชสีมา บอกว่าว่า ได้รับรายงานจากศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จังหวัดนครราชสีมา ถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนใหญ่ 5 แห่งของจังหวัดนครราชสีมา
เขื่อนลำตะคอง อ.สี้คิว ความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำเหลือ 90.84 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28% ,เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ความจุ 109 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำเหลือ 33.77% คิดเป็น 30% ,เขื่อนมูลบน อ.ครบุรี ความจุ 141 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำเหลือ 40.19 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28% ,เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี ความจุ 275 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำเหลือ 118.92 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 43% ,เขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง ความจุ 98 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำเหลือ 54.14 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 55%
ปริมาณน้ำรวมทั้ง 5 เขื่อน ความจุ 938 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำเหลือ 337 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 36%
ขณะที่ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีจำนวน 22 โครงการ คิดเป็นปริมาณน้ำรวมกันทั้งหมด มีร้อยละ 40 ในด้านการเตรียมการป้องกันและให้ความช่วยเหลือ
แค่ตัวอย่างบางพื้นที่ ในจังหวัดนครราชสีมา
แว่วว่า! คนนอกเขตอำเภอเมือง จะได้ใช้น้ำจาก “เขื่อนลำตะคอง”เป็นหลัก ส่วนคนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาจะได้ใช้น้ำจาก “เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี” เพราะต้องกันน้ำดิบส่วนหนึ่งป้อนโรงงานอุตสาหกรรม ในพื้นที่
ขณะที่ภาครัฐ ล่าสุด นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) โชว์ทุบถังน้ำจาก 4 บริษัท ที่ได้จัดซื้อ เพื่อแจกจ่ายไปยังจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง 15 จังหวัดที่มีผู้เดือดร้อนจากภัยแล้งเกินร้อยละ 50 ของจังหวัด
โดยใช้งบประมาณ 200 กว่าล้านบาทใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ เป็นถังเก็บน้ำ ความจุ 2000 ลิตร จำนวน 22,800 ถัง เพื่อเก็บน้ำดิบที่หลายหน่วยงานกำลังลงไปแจกจ่าย ตลอดเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน
จนกว่าฝนห่าใหญ่จะตกในเดือน สิงหาคมที่คนของรัฐคาดหมาย
สัปดาห์ก่อนมีข่าวชิ้นหนึ่ง “ชง 3.8 พันล้านเสนอกบอ.แก้น้ำแล้ง19พื้นที่อีสาน ครอบคลุม 7 จังหวัดนำร่อง”
ข่าวระบุว่า เป็นแผนระยะยาวของภาครัฐ ต่อความพยายามในการแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ที่ยังคงผลักดันให้เกิดผลในเชิงรูปธรรมได้
โดยเมื่อวันที่ 29 เม.ย. กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้แถลงผลการศึกษาโครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤติน้ำ 19 พื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น
หลังจากใช้งบประมาณ 865 ล้านบาทในการศึกษามาแล้ว 1 ปี
นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ บอกว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือว่ามีความแห้งแล้งมากกว่าภาคอื่นๆ ปริมาณน้ำที่มีอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ จะมีเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ทำให้ไม่มีน้ำพอสำหรับการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ที่ผ่านมารัฐพยายามหารูปแบบในการจัดหาน้ำให้กับเกษตรกรโดยเฉพาะ ระดับลุ่มน้ำโขง-อีสาน ชี มูล
กำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานพัฒนาตามแผนประมาณ 20 ปี งบประมาณ 3.18 ล้านล้านบาท โดยในระยะแรกจะงบประมาณจากรัฐบาล 3,815 ล้านบาท ในการสร้างอาคารเพื่อบริหารจัดการน้ำด้วยการผันน้ำโขงในช่วงปลายฤดูฝน เพื่อทำการกักเก็บในแหล่งน้ำที่มีอยู่หรือสร้างขึ้นใหม่มาใช้ในฤดูแล้ง โดยใช้ระบบคลองส่งน้ำ และกระจายน้ำโดยระบบท่อร่วมกับการปรับปรุงประสิทธิภาพแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ และการขุดสระเก็บน้ำเพื่อใช้ในไร่นา โดยโครงการทั้งหมดนี้จะมีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนและชุมชน ก่อนการลงมือทำเสมอ
แต่แผนงานในอดีตก็ประสบปัญหาหลายด้านทั้งงบประมาณ การสานต่อโครงการ และปัญหาดินเค็มในภาคอีสาน ทำให้ช่วงปีที่ผ่านมา กรมทรัพยากรน้ำได้ว่าจ้างให้คณะที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาความเหมาะสมของระบบเครือข่ายและระบบกระจายน้ำในพื้นที่วิกฤติ 19 พื้นที่ของภาคอีสาน ครอบคลุมพื้นที่104 ล้านไร่ใน 13 จังหวัด คือ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ สกลนคร บึงกาฬ นครพนม มหาสารคาม วงเงิน 865 ล้านบาท
โดยผลการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบโครงการ รวมทั้งการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) พบว่าประชาชนเห็นด้วยกับการจัดหาน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และคณะที่ปรึกษานำเสนอ 7 แผนงานหลักที่จะบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการในลุ่มน้ำ โขง ชีมูล มี 7 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย
1.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ จะเน้นการพัฒนาตามแผนงานของหน่วยงานเดิมเน้นระบบเครือข่ายน้ำ และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งแบ่งเป็นการพัฒนาในโครงการผ้นน้ำจากแม่น้ำโขง และระบบเครือข่ายน้ำ ซึ่งภายใน 20 ปีคาดว่าต้องใช้งบราว 2แสนล้านบาท
2.ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูป่าไม้ในภาคอีสานให้ได้26 ล้านไร่หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่ เพื่อก่อสร้างฝายต้นน้ำสำหรับเก็บกักน้ำ
3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่การเกษตรชลประทานโดยเสนอให้มีการปลูกพืชอาหารและพืชพลังงานรวม9 ชนิดคือ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปลาล์มน้ำมัน ข้าวฟ่างหวาน ถั่วเหลือง และไม้ผล โดยกำหนดการใช้น้ำให้อยู่ที่ 500 ลบ.ม.ต่อไร่ต่อปี
4.ยุทธศาสตร์การพัฒนาฐานการผลอตอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานของประเทศเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตวัตถุดิบให้เพียงพอกับความต้องการของโรงงานเอทานอล
5. ยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทางเลือก เพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิล
6. ยุทธศาสตร์การส่งเสริมให้ภาคอีสานเป็นแหล่งผลิตอาหารและเป็นศูนย์กลางรองรับเออีซี
7. ยุทธศาสตร์การจัดผังการใช้ที่ดินการปิดล้อมพื้นที่ชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจหลักและการแก้ปัญหาดินเค็ม
ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำ เตรียมสรุปข้อมูลการบริหารจัดการพื้นที่วิกฤติน้ำ ให้กับนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีทส. เสนอขอวงเงินเบื้องต้นจำนวน 3,814 ล้านบาท ผ่านทางคณะกรรมการบริหาจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) โดยพื้นที่นำร่องทั้ง 19 พื้นที่จะ ครอบคลุม 7 จังหวัด
ได้แก่ ห้วยน้ำโสม, ห้วยหลวง, ลุ่มน้ำสงครามตอนบน, น้ำสงครามตอนบน จ.อุดรธานี ห้วยน้ำโมง ลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู พื้นทเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ จ.เลย ลำน้ำเชิญ-น้ำพรม ,ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ฝั่งซ้ายและขวา,ห้วยสายบาตร จ.ขอนแก่น น้ำสงครามตอนล่าง จ.นครพนม น้ำสงครามตอนกลาง,ริมน้ำโขง จ.บึงกาฬ น้ำยาม และน้ำอูน จ.สกลนคร, ลำปาวฝั่งซ้ายและขวา จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเบื้องต้นจะมีการขุดสระน้ำขนาด 3,000-9,000 ลบ.ม. และการใช้ระบบท่อเพื่อเชื่อมเครือข่ายการกระจายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรราว 72,045 ไร่ที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้"
ขณะที่ในบางพื้นที่อาจต้องเวนคืนที่ดินกรรมสิทธิ์ เพื่อวางระบบท่อซีเมนต์ขนาดความกว้างราว 1 เมตร และประชาชนยังต้องต่อระบบท่อเข้าพื้นที่การเกษตรเอง
เขาอ้างว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้โครงการเกิดขึ้น และพร้อมจะลงทุนเอง แต่พื้นที่ต้องตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นด้วย ขณะที่การผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาเติมในระบบเครือข่ายน้ำ ยังเป็นแผนระยะยาว เพราะปัจจุบัน
สามารถใช้น้ำโขงในช่วงฤดูฝนในบริเวณพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ที่มีปริมาณน้ำส่วนเกิน1.3 แสนล้านลบ.ม. และน้ำ ในเขตพื้นที่โขงเจียม จ.อุบลราชธานี 2 แสนล้าน ลบ.ม.ต่อปีมาใช้ได้อยู่แล้ว และปัจจุบันเรานำน้ำมาใช้แค่เพียง100 ล้านลบ.ม. เท่านั้น
โครงการทั้งหมดนี้ ไม่เกี่ยวกับแผนเงินกู้วงเงิน 3.5 แสนล้านบาทที่ภาคประชาชนกำลังจับตา แต่เป็นภาษีของประชาชนจากงบประมาณจากรัฐบาล 3,815 ล้านบาทที่ ทส.กำลังจะขอในอนาคต