ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชของบฯ 1,000 ล้าน รื้อสร้างใหม่ทำนบปิดกั้นเส้นทางน้ำตลอด “ลำตะคอง” กว่า 45 แห่ง แก้ปัญหาศึกแย่งชิงน้ำหน้าแล้ง ขณะแหล่งน้ำผลิตประปา อ.โนนสูง พื้นที่ปลายน้ำแห้งขอดเดือดร้อนหนัก ผู้ว่าฯสั่งชลประทานเร่งช่วยเหลือ ยังมั่นใจแผนบริหารจัดการน้ำช่วยโคราชพ้นวิกฤตแล้งไปได้
วันนี้ (1 มี.ค.) นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งใน จ.นครราชสีมา ล่าสุดได้ประกาศพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้งแล้ว 29 อำเภอ จากทั้งจังหวัด 32 อำเภอ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, อำเภอ, ชลประทานจังหวัด, กองทัพภาคที่ 2 และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้เร่งระดมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นกันอย่างเต็มที่
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้คือ ลำน้ำมูลแหล่งน้ำดิบผลิตประปาของ อ.โนนสูง มีปริมาณน้อยแห้งขอดไม่เพียงพอต่อการผลิตประปาให้บริการประชาชน เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่น้ำจากลำตะคองส่งไปไม่ถึง เบื้องต้นได้ให้ชลประทานจังหวัดช่วยเหลือด้วยการปล่อยน้ำจากเขื่อนลำตะคองส่งไปให้ถึงแม่น้ำมูลพื้นที่ อ.โนนสูง ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนไปได้บ้าง แต่ในอนาคตต้องหามาตรการอื่นมารองรับด้วย
ส่วนการประสานหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เข้ามาทำฝนหลวงในพื้นที่นั้น ทราบว่าตอนนี้ยังไม่สามารถขึ้นบินทำฝนหลวงได้ เพราะสภาพอากาศไม่มีความชื้นเพียงพอ แต่หากในพื้นที่ อ.ปากช่อง มีความชื้นพอก็อาจขึ้นบินทำฝนหลวงก่อน เพื่อให้มีฝนตกลงมา และมีน้ำไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำลำตะคอง จะได้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นและทยอยปล่อยลงสู่พื้นที่อำเภออื่นๆ ต่อไป
นายวินัยกล่าวอีกว่า โดยภาพรวมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของ จ.นครราชสีมา ขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 43% โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำละตะคอง อ.สีคิ้ว มีน้ำเหลือแค่ 34% ส่วนอ่างเก็บน้ำอื่นๆ ปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ขณะที่ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ออกระเบียบใหม่เรื่องอำนาจในการเบิกจ่ายงบฉุกเฉินของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ลดลงเหลือ 20 ล้านบาท จาก 50 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งจังหวัดจะได้ของบส่วนนี้มาช่วยเหลือประชาชนต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่เหลืออยู่น้อยดังกล่าวต้องบริหารจัดการให้ดีเพื่อให้เพียงพอใช้ในหน้าแล้งนี้ให้ได้ โดยให้ความสำคัญกับการจัดสรรน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ซึ่งหากทุกคนช่วยกันประหยัดและมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี เชื่อว่าชาวโคราชไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างแน่นอน
สำหรับการแก้ไขปัญหาเรื่องฝ่ายและทำนบกั้นน้ำ ที่ประชาชนพากันสร้างขึ้นอย่างไม่ถูกต้องตลอดเส้นทางน้ำลำตะคอง ตั้งแต่ อ.สีคิ้ว- อ.เฉลิมพระเกียรติ รวมกว่า 45 แห่ง จนเกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำและส่งน้ำไปไม่ถึงพื้นที่ปลายน้ำ ซึ่งตนได้สั่งให้ชลประทานจังหวัดเข้าไปทำการรื้อทำนบดังกล่าวออกเพื่อสร้างทำนบกั้นน้ำใหม่ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการขึ้นมาแทนนั้น
ล่าสุด ชลประทานจังหวัดฯได้ทำโครงการเสนอของบประมาณดำเนินการไปยังส่วนกลางแล้วโดยใช้งบกว่า 1,000 ล้านบาท หากได้รับการอนุมัติก็พร้อมเข้าไปทำการรื้อทิ้งและสร้างใหม่ทันที คาดว่าน่าจะดำเนินการทันหน้าฝนปีนี้เพื่อให้ได้ใช้งานในหน้าแล้งปีหน้า