xs
xsm
sm
md
lg

โคราชแล้งหนัก 29 อำเภอ น้ำเขื่อนใหญ่ฮวบ-“แม่มูล” แห้ง ประปาโนนสูงวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ลดฮวบต่อเนื่องล่าสุดเหลือปริมาณน้ำเพียง   121 ล้าน ลบ.ม .คิดเป็นร้อยละ 38 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. วันนี้ ( 31 ม.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชแล้งทวีรุนแรงต่อเนื่อง ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้งเพิ่มเป็น 29 อำเภอ ราษฎรเดือดร้อน 2,214 หมู่บ้าน กว่า 5 แสนคน เผยสองเขื่อนใหญ่น้ำลดฮวบเหลือไม่ถึง 40% แถมชาวนา “ลำตะคอง” ดื้อปลูกนาปรังกว่า 2 หมื่นไร่สูบสกัดไหลไม่ถึงปลายน้ำ ขณะ “แม่มูล” แห้ง ประปา อ.โนนสูงวิกฤตเหลือน้ำดิบป้อนแค่ 2 สัปดาห์ ไม่เว้นบ้าน นอภ.ต้องอาบน้ำขุ่นโคลน ผู้ว่าฯ กำชับเร่งช่วยเหลือ ปชช.อย่าให้ขาดน้ำดื่มน้ำใช้

วันนี้ (31 ม.ค.) ที่หอฯ เปรม ติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมานายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เรียกหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่น เข้าร่วมประชุม เพื่อมอบนโยบายการดำเนินงานและติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด จ.นครราชสีมาได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้งแล้ว จำนวน 29 อำเภอ 217 ตำบล 2,214 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 130,865 ครัวเรือน จำนวนกว่า 500,000 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 864,811 ไร่

โดยนายวินัยได้กำชับให้ทุกอำเภอเร่งเข้าไปช่วยเหลือประชาชนไม่ให้ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเด็ดขาด และให้รายงานทางจังหวัดฯ ได้ทราบทุกระยะ พร้อมให้หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาวด้วย

ม.ล.อนุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของ จ.นครราชสีมาว่า ล่าสุดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 5 โครงการมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 444.25 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุที่ระดับเก็บกักรวม 938.12 ล้าน ลบ.ม.โดยเฉพาะเขื่อนมูลบน อ.เสิงสาง และเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำเหลือไม่ถึง 40% คือ เขื่อนมูลบนเหลือน้ำเพียง 46 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุที่ระดับเก็บ 141 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำตะคองมีปริมาณน้ำ 121 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 38 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 22 โครงการ มีปริมาณน้ำรวม 113.48 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุ ที่ระดับเก็บรวม 226.74 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีจำนวน 575.79 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49.43 ของความจุที่ระดับเก็บกักรวมทั้งหมด

ม.ล.อนุมาศกล่าวต่อว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกแห่งลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำที่เหลืออยู่ปริมาณน้อยนี้ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยจะปล่อยน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในพื้นที่ใต้เขื่อนลำตะคอง ซึ่งทางโครงการประกาศงดทำนาปรังโดยเด็ดขาด แต่ยังมีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังมากกว่า 20,000 ไร่ จึงทำให้มีปัญหาเรื่องน้ำส่งไปไม่ถึงปลายน้ำที่จะไหลลงไปยังแม่น้ำมูล ทำให้ประชาชนพื้นที่ปลายน้ำเดือดร้อน

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่เขื่อนมูลบนซึ่งมีปริมาณน้ำเหลือน้อยต้องเก็บไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้นและได้งดการส่งหล่อเลี้ยงระบบนิเวศโดยสิ้นเชิง จึงทำให้น้ำในลำน้ำมูลมีปัญหาแห้งขอด ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตประปาในพื้นที่ อ.โนนสูง มีน้ำดิบไม่เพียงพอ

ด้าน นายสุชาติกิตติ์ สุทธิกาศนีย์ธร นายอำเภอโนนสูง เปิดเผยว่า ล่าสุดได้รับการประสานจากการประปาส่วนภูมิภาค สาขาโนนสูง ว่า แหล่งน้ำดิบในลำน้ำมูลที่นำมาใช้ผลิตประปาส่งให้บริการประชาชนชาว อ.โนนสูงมีปริมาณน้ำเหลือใช้สำหรับผลิตประปาได้อีกแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น ขอให้ทางอำเภอเร่งหาแหล่งน้ำอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน ซึ่งล่าสุดได้รับแจ้งว่าพื้นที่ปลายน้ำมีปัญหาน้ำประปาไม่ไหลแล้วและบางแห่งน้ำไหลไม่เป็นเวลา แม้แต่บ้านพักนายอำเภอเองบางวันต้องไปตักน้ำจากบ่อที่เหลืออยู่ปริมาณน้อยและขุ่นเป็นโคลน มาแกว่งสารส้มเพื่อใช้อาบเช่นกัน

ล่าสุด อ.โนนสูงได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งแล้ว 7 ตำบล 61 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อนกว่า 50,000 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 31,464 ไร่ และยังขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง เพราะปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักแห้งขอดเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา ส่วนน้ำใต้ดินไม่สามารถสูบขึ้นมาใช้ได้เนื่องจากเป็นน้ำเค็ม
 
ขณะนี้ทางอำเภอได้ประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาโดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ด้วยการนำน้ำมาแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น และร้องขอไปยังจังหวัดฯ เพื่ออนุมัติงบช่วยเหลือเพิ่มเติม เนื่องจากงบประมาณในอำนาจของนายอำเภอ 5 แสนบาทได้ใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนไปหมดแล้ว
แม่น้ำมูล แหล่งน้ำดิบผลิตประปา อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา กำลังวิกฤต

กำลังโหลดความคิดเห็น