xs
xsm
sm
md
lg

โคราชพิบัติแล้งแล้ว 26 อำเภอ น้ำ “เขื่อนลำตะคอง” ฮวบ - ประปาเมืองไม่ไหล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพเขื่อนลำตะคอง อ.สิคิ้ว จ.นครราชสีมา แหล่งน้ำดิบผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองโคราช  ล่าสุดปริมาณน้ำเหลือ 130.14 ล้าน ลบ.ม. หรือ 41.38 % ของความจุ  314 ล้านลบ.ม. วันนี้ ( 7ม.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา-โคราชประกาศภัยพิบัติแล้งแล้ว 26 อำเภอ 190 ตำบล ราษฎรเดือดร้อนร่วม 1 แสนครัวเรือน พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 8.6 แสนไร่ ล่าสุด 12 อำเภอ ขอเงินอุดหนุนจากจังหวัดฯสู้แรงเพิ่มอีก 130 ล้าน ส่วนน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ลดฮวบลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “เขื่อนลำตะคอง” เหลือแค่ 41% ส่งผลประปาเมืองโคราชบางพื้นที่ไม่ไหลมานานนับเดือน เหตุน้ำดิบไม่เพียงพอขณะ “เขื่อนลำมูลบน” แห้งสุด หยุดปล่อยเพื่อเกษตรสิ้นเชิง

วันนี้ (7 ม.ค.) นางปิยะฉัตร อินทร์สว่าง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและเบาเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้ง จ.นครราชสีมา ว่าล่าสุดทางจังหวัดฯ ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้งกรณีฉุกเฉินแล้วจำนวน 26 อำเภอ 190 ตำบล 1,895 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 32 อำเภอ ราษฎรประสบภัยเดือดร้อน 99,132 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 863,285 ไร่

อำเภอที่ประสบภัยแล้งรุนแรง ได้แก่ อ.ปักธงชัย มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 14 ตำบล 148 หมู่บ้าน รองลงมา คือ อ.ด่านขุนทด ประสบภัยแล้ง 14 ตำบล 108 หมู่บ้าน, อ.ประทาย ประสบภัยแล้ง 13 ตำบล 147 หมู่บ้าน, อ.เมืองนครราชสีมา ประสบภัยแล้ง 11 ตำบล 57 หมู่บ้าน และ อ.บัวใหญ่, อ.คง ประสบภัยแล้ง 10 ตำบล 146 หมู่บ้าน และ 156 หมู่บ้านตามลำดับ

สำหรับการช่วยเหลือนั้น คณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จ.นครราชสีมา ได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนโดยให้ความสำคัญต่อการจัดหาน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่ง นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าฯนครราชสีมา ได้สั่งการให้อำเภอที่ประสบภัยแล้งเร่งดำเนินการสูบน้ำเพื่อกักเก็บเป็นน้ำต้นทุนผลิตประปา พร้อมซ่อมบำรุงแหล่งน้ำ ประปาหมู่บ้าน วางแผนและกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำกำหนด ที่สำคัญให้งดการทำนาปรังและหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย

ทั้งนี้ ในแต่ละอำเภอได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย และใช้จ่ายเงินทดรองราชการฯ ในอำนาจของนายอำเภอไปแล้วจำนวน 13 อำเภอ รวม 142 โครงการ วงเงิน 11,807,469 บาท และได้ ขอสนับสนุนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ จากจังหวัดฯ เพิ่มเติมอีกจำนวน 12 อำเภอ รวม 60 โครงการ วงเงิน 129,753,759 บาท (ไม่รวมด้านพืช 9,323,872 บาท)

ด้านนายไพศาล พันพึ่ง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของ จ.นครราชสีมา ว่าล่าสุดวันนี้ (7 ม.ค.) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 โครงการ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 480.48 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 51.22 % ของความจุที่ระดับเก็บกักรวม 938.12 ล้าน ลบ.ม.

โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปาของเทศบาลนครนครราชสีมาหล่อเลี้ยงเมืองโคราช มีปริมาณน้ำเหลือ 130.14 ล้าน ลบ.ม. หรือ 41.38% ของความจุที่ระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. และลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ขณะนี้ในบางพื้นที่ของเขตเทศบาลนครนครราชสีมา น้ำประปาไหลเบาและไม่ไหลมาเป็นเวลานานนับเดือนแล้ว เนื่องจากน้ำดิบสำหรับผลิตประปาไม่เพียงพอ

ส่วนเขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 77.60 ล้านลบ.ม. หรือ 70.78% ของความจุที่ระดับกักเก็บ 110 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือในอ่างเพียงแค่ 48.09 ล้าน ลบ.ม. หรือ 34.11% ของความจุที่ระดับกักเก็บ 141 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ของ จ.นครราชสีมา ที่มีปริมาณน้ำน้อยที่สุด และหยุดปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรโดยสิ้นเชิงแล้ว

ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 22 โครงการ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 121.61 ล้าน ลบ.ม. หรือ 53.64% ความจุที่ระดับเก็บกัก 226.74 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งรวมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 602.09 ล้าน ลบ.ม. หรือ 51.69% ความจุที่ระดับเก็บกักรวมทั้งหมด

“ขณะนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด รวมทั้งแนะนำการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และทางจังหวัดฯ ได้สั่งการให้อำเภอทุกอำเภอเตรียมการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจพร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์โดยให้ดำเนินการตามมาตรการที่วางไว้และให้ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด” นายไพศาลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น