ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ว่าฯ โคราชเรียกถกด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือภัยแล้งเชิงรุก เผยสถานการณ์รุนแรงขยายวงกว้างต่อเนื่อง ล่าสุดประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้งแล้ว 4 อำเภอ ชี้โซนที่ดอนแล้งหนัก ยันไม่ยอมให้ราษฎรอดน้ำตายแน่ ขณะชลประทานเผยเขื่อนใหญ่ 5 โครงการโคราชน้ำลดฮวบ สองเขื่อนต่ำกว่า 50% ลดปล่อยน้ำเหลือน้อยที่สุดเพื่อรักษาระดับน้ำไว้อุปโภคบริโภค
วันนี้ (8 พ.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ห้องประชุมสำนักชลประทานที่ 8 อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เรียกประชุมด่วนมอบนโยบายด้านการเกษตรและเตรียมการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จ.นครราชสีมา โดยมี ม.ล.อนุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการชลประทานที่ 8 พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องใน จ.นครราชสีมาเข้าร่วมประชุมรวมกว่า 150 คน โดยที่ประชุมมีความห่วงใยวิตกกังวลเรื่องสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ 29 อำเภอของ จ.นครราชสีมา ในจำนวนนี้ล่าสุดได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้งแล้ว 4 อำเภอ และภัยแล้งยังขยายวงกว้างออกไปอย่างต่อเนื่อง
นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าฯ นครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งของ จ.นครราชสีมาขณะนี้ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้งแล้วจำนวน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ประทาย, อ.เทพารักษ์, อ.บัวใหญ่ และ อ.พระทองคำ และกำลังมีการขยายพื้นที่ไปอีกหลายอำเภอ วันนี้จึงเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นการด่วนเพื่อทำงานในเชิงรุก โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังไม่ประสบภัยต้องเตรียมการรับสถานการณ์หรือเป็นพี่เลี้ยงให้แก่พื้นที่ที่ประสบภัยด้วย
ทั้งนี้ ได้มีการบูรณาการการทำงานของอำเภอเป็นกลุ่ม 6 กลุ่มอำเภอ แยกตามพื้นที่ภูมิประเทศที่ใกล้เคียงติดต่อกัน และมีปัญหาคล้ายกัน เช่น อยู่ในที่ดอนประสบภัยแล้ง ซึ่งโซนที่อยู่ในพื้นที่แหล่งน้ำหรือเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 5 เขื่อนเป็นพื้นที่อาจจะไม่ประสบภัยแล้ง หรือประสบภัยแล้งน้อยมาก แต่พื้นที่ดอน โซนด้านเหนือขึ้นไปจะเป็นพื้นที่น่าเป็นห่วงการประสบภัยแล้งรุนแรง
นอกจากนี้ยังมีการตั้งเกณฑ์ระดับภัยแล้งโดยท้องถิ่นเป็นผู้สำรวจพื้นที่ และการตั้งศูนย์เฉพาะกิจในระดับจังหวัด, อำเภอ และท้องถิ่น โดยรายงานให้ผู้ว่าฯ ทราบทุกระยะ ส่วนพื้นที่ประกาศภัยพิบัติแล้งไปแล้วให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เข้าไปดำเนินการสำรวจพื้นที่เสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป
ส่วนการแก้ไขเฉพาะหน้าเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค หรือน้ำประปานั้น พื้นที่ใดพบว่า แหล่งน้ำดิบผลิตประปาลดน้อยลงก็สั่งการให้สูบน้ำจากแหล่งน้ำอื่นมาสต๊อกไว้เพื่อให้เพียงพอสำหรับผลิตประปาบริการประชาชนในช่วงฤดูแล้ง สำหรับพื้นที่ที่ประปาไปไม่ถึงและไม่มีน้ำอุปโภค บริโภค ให้ทางท้องถิ่นจัดรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายพี่น้องประชาชนให้ทั่วถึงทุกพื้นที่
“พี่น้องประชาชนไม่ต้องกังวลว่าเวลามีปัญหาแล้วทางราชการจะไม่ได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือ หากยังขาดตกบกพร่องขอให้แจ้งท้องถิ่น, อำเภอ และจังหวัดได้ตลอด 24 ชั่วโมง เราจะจัดเจ้าหน้าที่ไป ยืนยันว่าเราจะไม่ยอมให้พี่น้องประชาชนอดน้ำตายหรือขาดน้ำอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค พี่น้องประชาชนจะไม่ขาดน้ำอย่างแน่นอน” นายวินัยกล่าว
ม.ล.อนุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 เปิดเผยถึงสถานการณ์ระดับน้ำภายในอ่างเก็บน้ำของ จ.นครราชสีมา ล่าสุดพบว่าปริมาณน้ำในแต่ละอ่างฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางชลประทานจำเป็นต้องลดการระบายเพื่อรักษาระบบนิเวศให้น้อยที่สุดเท่าที่จะระบายได้ เนื่องจากต้องรักษาระดับน้ำในแต่ละอ่างฯ เพื่อกักเก็บไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค
ล่าสุดวันนี้ (8 พ.ย.) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของ จ.นครราชสีมา 5 โครงการ มีปริมาณน้ำรวม 517.56 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 55.17% ของความจุรวม 938.12 ล้าน ลบ.ม. โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งที่มีปริมาณน้ำเหลือไม่ถึง 50% ของความจุ คืออ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำ 149 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47.67% ของความจุที่ระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออกเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 6.91 แสน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 53 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 37.94% จากความจุระดับกักเก็บทั้งหมด 141 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออกเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 4.69 แสน ลบ.ม.
ขณะที่อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ปริมาณน้ำ 88 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 80% ของความจุที่ระดับกักเก็บ 110 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออกเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 2.44 แสน ลบ.ม., อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 150 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 54.81% ของความจุที่ระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออกเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 8.61 แสนลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีปริมาณน้ำ 45 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 76% ของขนาดความจุ 98 ล้าน ลบ.ม. งดการระบาย