xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ โคราชขึ้น ฮ.บินสำรวจน้ำเขื่อนใหญ่รับมือวิกฤตแล้ง-สั่งงดทำนาปรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าฯนครราชสีมา นำคณะ ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจแหล่งน้ำเขื่อนขนาดใหญ่รับมือวิกฤตแล้ง เผยประสบภัยแล้งแล้ว 29 อำเภอ ปชช. เดือดร้อนกว่า 2.8 แสนครัวเรือน วันนี้ ( 26 ต.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ผู้ว่าฯ โคราช ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจแหล่งน้ำเขื่อนขนาดใหญ่รับมือวิกฤตแล้ง เผยโคราชประสบภัยแล้งแล้ว 29 อำเภอ ปชช. เดือดร้อนกว่า 2.8 แสนครัวเรือน ล่าสุด ประกาศเป็นพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้ง 1 อำเภอ คือ อ.ประทาย เหตุ ปชช. เดือดร้อนหนัก วอนใช้น้ำประหยัด งดทำนาปรัง พบ 5 เขื่อนใหญ่โคราชยังมีปริมาณน้ำระดับพอใจ แต่เป็นห่วงภัยแล้งรุนแรงขึ้น สั่งทุกอำเภอตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือ และติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

วันนี้ (26 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จ.นครราชสีมา ภายในกองบิน 1 อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เดินทางมาติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยมี ม.ล.อนุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 พร้อมด้วย นายประสพ พรหมมา หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ และแผนการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง

นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากรายงานพบว่าในช่วงระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-15 ก.ค.55 ที่ผ่านมา จ.นครราชสีมามีพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 29 อำเภอ 252 ตำบล 2,984 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 284,968 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ 658,292 ไร่ และมีพื้นที่ประสบภาวะฝนทิ้งช่วง (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.-23 ต.ค.55 ) จำนวน 6 อำเภอ 48 ตำบล 586 หมู่บ้าน 29,646 ครัวเรือน ได้แก่ อ.หนองบุญมาก, คง, จักราช, ขามสะแกแสง, โนนไทย และ อ.สีดา ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 8.3 แสนคน มีพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย กว่า 6.5 แสนไร่

นอกจากนี้ ยังมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคจำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.คง, อ.เมือง และ อ.บัวใหญ่ ล่าสุด อ.พระทองคำ ได้ร้องขอรับการสนับสนุนเนื่องจากพื้นที่ ต.สระพระ ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง

นายวินัย กล่าวอีกว่า ล่าสุด ขณะนี้ จ.นครราชสีมาได้ประกาศพื้นที่ประสบพิบัติภัยแล้งแล้วจำนวน 1 อำเภอ คือ อ.ประทาย ส่วนพื้นที่อื่นๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีศักยภาพในการดูแลได้อยู่ ซึ่งได้สั่งการให้ทุกอำเภอเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้การช่วยเหลือ

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นั้น ปัจจุบันมีน้ำเฉลี่ยประมาณร้อยละ 60 น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคยังไม่มีปัญหา ที่มีปัญหาคือน้ำเพื่อการเกษตร ขณะนี้ทางจังหวัดฯได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนงด และลดการทำนาปรัง เพราะต้องใช้น้ำมาก ให้หันไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยแทน

ส่วนแนวโน้มภัยแล้งใน จ.นครราชสีมานั้น ปีนี้อาจไม่รุนแรงมากเท่าปี 2547-2548 ซึ่งมีปริมาณน้ำในอ่างฯ ไม่ถึงร้อยละ 50 ฉะนั้น หากมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี และประชาชนให้ความร่วมมือก็จะผ่านพ้นวิกฤตแล้งไปได้แน่นอน ประกอบกับเรายังมีความหวังว่าในช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้จะมีพายุผ่านเข้ามาทางประเทศเวียดนาม และอิทธิพลจากพายุดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่อีสานตอนล่างมีฝนตก คาดว่า จ.นครราชสีมาจะได้รับผลดีจากพายุลูกนี้ด้วย โดยเฉพาะภาวะอากาศจะเอื้อต่อการขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวง

จากนั้น คณะของนายวินัย และผู้สื่อข่าวได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์แบบ “คาราแวน”ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ จ.นครราชสีมา บินสำรวจแหล่งน้ำสำคัญซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา ทั้งเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี เขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง และเขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย พร้อมกันนี้ ได้บินสำรวจผืนป่าที่ถูกบุกรุกใน อ.วังน้ำเขียวด้วย โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวภายหลังจากบินสำรวจแหล่งน้ำว่า ภาพรวมทั้ง 5 เขื่อนจากการขึ้นเครื่องบินสำรวจในครั้งนี้ ตนมองว่ายังมีปริมาณน้ำที่น่าพอใจ แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้เกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอทุกอำเภอออกประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปรังในระยะนี้ เนื่องจากขณะนี้เขื่อนเก็บน้ำหลายแห่งเริ่มงดปล่อยน้ำหรืออาจมีการปล่อยบ้างแต่น้อยลง ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังจะได้รับผลกระทบจากข้าวขาดน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้ข้าวไม่เจริญเติบโตเต็มที่ และบางพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ปลายน้ำนาข้าวจะได้รับความเสียหาย ซึ่งขอความร่วมมือเกษตรกรให้หันไปปลูกพืชชนิดอื่นเป็นการชั่วคราว หรือหากเป็นไปได้ควรมีการขุดบ่อกักเก็บน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง

สำหรับสถานการณ์น้ำของจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้ถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วง โดยได้สั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประสานงาน และนำข้อมูลมาประชุมร่วมกันทุกสัปดาห์เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ส่วนระดับอำเภอได้สั่งการให้ทุกอำเภอตั้งศูนย์ช่วยเหลือชาวบ้านระดับอำเภอ ระดับตำบล หากพื้นที่ใดประสบภัยแล้งก็ให้ออกช่วยเหลือชาวบ้านได้ทันที

“พื้นที่ที่น่าเป็นห่วงขณะนี้มีอยู่ 3 อำเภอคือ อ.ประทาย อ.บัวใหญ่ และ อ.ห้วยแถลง ซึ่งคาดว่าหากฝนหมดเร็วกว่าปกติ อาจจะมีการอีกหลายอำเภอที่จะประสบภัยแล้งรุนแรงอย่างแน่นอน” นายวินัยกล่าว

นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าฯนครราชสีมา



เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว
เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว

เขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง





กำลังโหลดความคิดเห็น