xs
xsm
sm
md
lg

“ชลประทาน 8” ชี้น้ำเขื่อนโคราชเหลือน้อยแล้งหนักแน่-เตือนงดทำนาปรังสิ้นเชิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาพเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา แหล่งหลักสำคัญของโคราช ล่าสุดมีปริมาณน้ำ 162 ล้านลบ.ม.  ของขนาดความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. วันนี้ ( 27 ต.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “ชลประทานที่ 8” ชี้น้ำเขื่อนโคราชเหลือน้อย เตือนปีนี้แล้งหนักแน่ เร่งวางแผนบริหารจัดการน้ำให้ผ่านวิกฤตไปให้ได้ เน้นน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เตือนเกษตรกรงดทำนาปรังโดยสิ้นเชิง เผยเรียกทุกภาคส่วนประชุมใหญ่เพื่อวางแผนจัดการน้ำร่วมกัน พ.ย.นี้ ด้านศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงอีสานระบุอากาศไม่เอื้อทำฝนเทียม รอพายุ “เซินตินห์” เพื่อขึ้นปฏิบัติการทำฝนหลวงครั้งสุดท้ายของปีช่วยนาข้าวชาวอีสานและเติมน้ำในเขื่อน

วันนี้ (27 ต.ค.) ม.ล.อนุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของจังหวัดนครราชสีมาว่า โดยภาพรวมอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 5 โครงการ เช่น เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี, เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี, เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว และเขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง ขณะนี้มีน้ำเหลือกว่า 40-50% ส่วนเขื่อนที่มีน้ำเต็มคือเขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 22 แห่งขณะนี้มีน้ำเฉลี่ย 60-70%

จากสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าปีนี้จังหวัดนครราชสีมาจะเข้าสู่ภาวะแล้งแน่นอน มาตรการต่างๆ ต้องนำออกมาใช้เพื่อบริหารจัดการน้ำให้ได้ดีที่สุด ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่ จากนั้นค่อยมาดูว่าน้ำในแต่ละอ่างมีปริมาณเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งหรือไม่

สำหรับอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่งที่มีน้ำเหลือไม่ถึง 50% คงต้องมีการลดหรืองดการทำนาปรังโดยสิ้นเชิงเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ส่วนเขื่อนลำพระเพลิงคาดว่าไม่น่ามีปัญหาเพราะมีน้ำเต็มอ่างอยู่แล้ว อาจมีพื้นที่ทำนาปรังบ้างแต่คงไม่มากนัก เพราะส่วนหนึ่งต้องปล่อยน้ำมาช่วยลำน้ำมูลด้วย ซึ่งอ่างต่างๆ มีน้ำค่อนข้างน้อย ฉะนั้นเขื่อนลำพระเพลิงจะต้องรับภาระตรงนี้ด้วย

ม.ล.อนุมาศกล่าวว่า ภัยแล้งปีนี้คงไม่น่ากลัวเท่ากับปี 2547 เพราะปีนี้เรามีน้ำในอ่างขนาดใหญ่อยู่ประมาณ 548 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หากตัดเรื่องของการทำนาปรังไปก็มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ แต่เขื่อนลำมูลบนคงต้องผันน้ำจากอ่างอื่นมาช่วยด้วยเพราะมีเหลืออยู่แค่ 40% ขณะนี้ได้มีการกำหนดแผนบริหารจัดการน้ำไว้ทุกอ่างแล้ว ทั้งอ่างขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อบริหารจัดการน้ำ หรือ JMC (Joint Management Committee for Irrigation)

คณะกรรมชุดนี้ประกอบด้วยทุกภาคส่วน มีทั้งฝ่ายปกครอง เอกชน กลุ่มเกษตรกร และนักวิชาการ โดยนัดประชุมปีละ 2 ครั้ง คือต้นฤดูแล้งกับต้นฤดูฝน ในปีนี้จะประชุมกันประมาณเดือน พ.ย. เพื่อให้ความเห็นชอบแผนการจัดการน้ำของชลประทาน หากได้รับความเห็นชอบหรือมีข้อท้วงติงอย่างไรที่ประชุมจะมีมติร่วมกัน จากนั้นจะนำแผนบริหารการจัดการน้ำที่ผ่านการพิจารณาไปใช้ โดยจะเริ่มในเดือนธันวาคมเป็นต้นไป

ต่อข้อถามหากชาวนายังดึงดันที่จะทำนาปรังในพื้นที่ที่มีน้ำน้อยจะมีมาตรการอย่างไร ม.ล.อนุมาศกล่าวว่า คงจะมีบ้างสำหรับกลุ่มที่อยู่ริมน้ำ แต่ขอแจ้งเตือนไว้ก่อนว่าในเขตชลประทานปีนี้ก็สุ่มเสี่ยงต่อความเสียหายที่เกิดจากภัยแล้ง ประชาชนจะเชื่อหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน หากยังดึงดันที่จะปลูกก็ต้องยอมรับต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาด้วย

สำหรับน้ำดิบเพื่อนำมาใช้ในการผลิตประปาของเทศบาลนครนครราชสีมา จากเขื่อนลำตะคองที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำ 162 ล้าน ลบ.ม.ของขนาดความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. นั้นขอยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน ซึ่งในแต่ละปีทางเทศบาลนครนครราชสีมาจะใช้น้ำไปทำประปา 10 ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วรักษาระบบนิเวศ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดว่าน่าจะเพียงพอไม่มีปัญหา

ม.ล.อนุมาศกล่าวอีกว่า สำหรับการช่วยเหลือประชาชนนอกเขตชลประทานนั้นได้มีการวางแผนไว้แล้ว โดยเฉพาะการกักเก็บน้ำไว้ในลำน้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำมูล จุดใดที่เป็นอาคารระบายน้ำเราก็จะปรับลดบานลง จุดใดที่เป็นสายยางเราก็ผ่อนสายขึ้น จุดไหนที่เป็นฝายคอนกรีตเราก็มีการเสริมกระสอบทราย ประเด็นแรกคือจะเก็บน้ำในลำน้ำมูลไว้ให้มากที่สุด รวมถึงลำน้ำสาขาต่างๆ ด้วย โดยแต่ละเขื่อนจะปล่อยน้ำเข้าสู่ระบบเพื่อรักษาระบบนิเวศ

ส่วนพื้นที่นอกเขตชลประทาน ขณะนี้สำนักชลประทานที่ 8 ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ขนาด 6 นิ้ว 8 นิ้ว 12 นิ้ว ไว้ประมาณ 110 เครื่อง โดยจัดสรรให้ จ.นครราชสีมาประมาณ 35 เครื่อง จ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ และ จ.บุรีรัมย์ จังหวัดละ 20 เครื่อง และยังมีเหลืออยู่อีกเพื่อเสริมในพื้นที่ต่างๆ

“อย่างไรก็ตาม เรายังมีความหวังจากพายุลูกสุดท้ายในปีนี้ที่กำลังจะเข้ามาจากเวียดนาม คือ พายุโซนร้อน “เซินตินห์” คาดว่าอิทธิพลของพายุดังกล่าวจะมาเติมน้ำให้เขื่อนต่างๆ ของโคราชได้บ้าง” ม.ล.อนุมาศกล่าว

ด้าน นายประสพ พรหมมา หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 5 หน่วย คือที่ จ.นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี และมีฐานเติมสารอยู่ที่บุรีรัมย์ เป้าหมายการดำเนินการขณะนี้อยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง เช่น จังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุดรธานี และขอนแก่น

ปกติฝนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะตกในช่วงกลางเดือน ต.ค.ส่งผลต่อการทำฝนหลวงได้ดี แต่ตอนนี้หมดช่วงฝนแล้ว การปฏิบัติการฝนหลวงในปัจจุบันเป็นการทำนอกแผน ซึ่งสภาพอากาศไม่ค่อยเอื้อต่อการขึ้นทำฝนหลวงมากนัก เนื่องจากว่าอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมเป็นระยะ ฉะนั้นตรงนี้เองเป็นส่วนที่ทำให้ลักษณะอากาศมีผลกระทบต่อการทำฝนหลวงโดยตรง

ดังนั้น คงต้องรอจังหวะและสภาพอากาศที่เอื้อต่อการขึ้นทำฝนหลวง เช่น จะมีพายุตัวใหม่เข้ามาในพื้นที่อีสานประมาณวันที่ 29-31 ต.ค. ตรงนี้ทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือและหน่วยที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดจะติดตามสภาพอากาศ หากสภาพอากาศเหมาะสมก็จะปฏิบัติการช่วงชิงที่จะให้มีฝนตกในช่วงสุดท้ายของปี 2555 ให้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบที่เกษตรกรได้รับอยู่ขณะนี้

สำหรับพื้นที่ จ.นครราชสีมาส่วนใหญ่มีปัญหาฝนทิ้งช่วงเวลายาวนานและมีฝนตกค่อนข้างน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร โดยเฉพาะใน อ.คง, บัวใหญ่, โนนสูง, โนนไทย, เทพารักษ์ และ อ.ด่านขุดทน ต้นข้าวของเกษตรกรกำลังยืนต้นตายเนื่องจากขาดน้ำอย่างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวในปีนี้

“สำหรับการขึ้นทำฝนหลวงน้ำจะเน้นในพื้นที่การเกษตรและเติมน้ำให้เขื่อนหลักๆ ของจังหวัดนครราชสีมา ทั้ง 5 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนลำตะคอง, ลำพระเพลิง, ลำแชะ, ลำมูลบน และเขื่อนลำปลายมาศ” นายประสพกล่าว

ม.ล.อนุมาศ ทองแถม ผอ.สำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา
นายประสพ พรหมมา  หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคอีสาน
กำลังโหลดความคิดเห็น