xs
xsm
sm
md
lg

อุดรฯ เผชิญแล้งรุนแรงแล้ว 8 อำเภอ สั่งงดทำนาปรัง กักน้ำใช้บริโภคอย่างเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุดรธานี - จังหวัดอุดรธานีประกาศ 8 อำเภอ 72 ตำบล 773 หมู่บ้านเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งพิบัติฉุกเฉิน เบื้องต้น อปท.นำน้ำไปแจกบรรเทาทุกข์แล้ว สั่งงดทำนาปรังเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้บริโภคหน้าแล้ง ระบุพื้นที่ใดประสบปัญหาแล้งขั้นวิกฤต พืชผลเกษตรเสียหาย ทางจังหวัดพร้อมให้ความช่วยเหลือ 606 บาทต่อไร่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำและภัยแล้งของจังหวัดอุดรธานีในห้วงนี้ อ่างเก็บน้ำหลายแห่ง โดยเฉพาะที่อ่างเก็บน้ำกุดลิงง้อ อ.เมือง ซึ่งมีความจุน้ำจำนวน 6.440 ล้าน ลบ.ม.นั้นพบว่ามีน้ำจุอยู่ในอ่างเพียง 2.207 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียง 34.28% ของความจุอ่าง ขณะที่รายงานระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก-ใหญ่ทั้ง 15 แห่งของชลประทานในวันนี้ (24 ต.ค.) มีอยู่เพียง 118.349 ล้าน ลบ.ม. หรือ 45.76% ของความจุอ่างทั้งหมด

นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางจังหวัดอุดรธานีและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี ได้ประกาศให้พื้นที่ 8 อำเภอ 72 ตำบล 773 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 2 แสนไร่ ประชากรประมาณ 7 หมื่นคนเศษ เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินฝนทิ้งช่วง คือ อ.นายูง เพ็ญ น้ำโสม ทุ่งฝน บ้านดุง กุมภวาปี หนองหาน สร้างคอม และ อ.บ้านผือ ส่วนการช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น จังหวัดได้สำรองจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการนำเอาน้ำเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนแล้ว

นอกจากนี้ ได้กระจายส่งน้ำไปให้พี่น้องเกษตรกรที่เดือดร้อนจากกรณีฝนทิ้งช่วงและสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรกรรม โดยในวันนี้ (24 ต.ค.) จังหวัดได้เชิญให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดมาร่วมประชุมกันในการวางแผนให้การช่วยเหลือทั้งในระยะสั้น กลาง และระยะยาว ทั้งนี้ ในส่วนระยะกลางนั้นจังหวัดจะหันมาเน้นในเรื่องน้ำเพื่อการบริโภคเป็นอันดับแรก เนื่องจากประเมินแล้วเป็นห่วงเรื่องน้ำดิบเพื่อนำเอามาทำน้ำประปาที่จะขาดแคลน

ทั้งนี้ ได้มีการวางแผนการใช้น้ำในช่วงต่อไปนี้ว่าทุกคนจะต้องช่วยประหยัดการใช้น้ำ โดยเฉพาะน้ำประปา และแผนการของจังหวัดก็คือ ให้มีการสำรองน้ำเอาไว้ทำน้ำประปา 1 ล้าน ลบ.ม., 10 ล้าน ลบ.ม.เพื่อการเกษตร และอีก 10 ล้าน ลบ.ม.เพื่อการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง

ซึ่งในเดือนเมษายนปีหน้าน้ำในอ่างห้วยหลวงจะต้องมีน้ำจุอยู่ไม่ต่ำกว่า 8 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกันนี้ทางจังหวัดได้สั่งการลงไปยังทุกพื้นที่ว่ามีพื้นที่ใดที่ประสบภัยถึงขั้นวิกฤต เพื่อที่จะได้นำเอาพื้นที่ดังกล่าวมาทำการแก้ไขแบบครบวงจร อย่างเช่นพี่น้องเกษตรกรชาวนาที่ที่นาเกิดความเสียหายสิ้นเชิงก็จะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงิน 606 บาทต่อไร่ รวมไปถึงให้ทำการสำรวจปศุสัตว์ทุกชนิดด้วย และให้มีการเตรียมการสำรองอาหารแห้งเอาไว้เลี้ยงดูวัว ควายและปศุสัตว์อื่นๆ ให้เพียงพอ

สำหรับการทำนาปรังในปีนี้ได้กำชับไปยังชลประทานว่า ขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่ทำนาปรังจะต้องงดทำนาปรังเอาไว้ก่อนเพื่อที่จะได้เก็บน้ำเอาไว้เพื่อการบริโภค แต่ก็จะส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชหน้าแล้งที่ใช้น้ำน้อยแทน เช่น ถั่วเหลือง ฯลฯ

ด้านนายชูชาติ กลีบบัว ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ในปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้าน่าเป็นห่วงว่าจังหวัดอุดรธานีและใกล้เคียงน่าที่จะประสบภัยแล้ง เนื่องจากว่าพายุไม่ได้เข้าพื้นที่อีสานตอนบนเลย และมีฝนตกน้อยอีกด้วย

จึงขอเตือนประชาชนในเขตพื้นที่ชลประทานห้วยหลวงที่เคยปลูกอยู่ประมาณ 2 หมื่นไร่เศษ ขอให้ลดพื้นที่การเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งลง

กำลังโหลดความคิดเห็น