ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชแล้งทวีรุนแรง น้ำเขื่อนใหญ่ “ลำตะคอง” แห้งฮวบเหลือ 48% ขณะ “ลำมูลบน” เหลือน้อยสุดแค่ 36% ระบุส่งผลกระทบน้ำดิบผลิตประปาป้อนเมืองย่าโมแน่ เหตุมีแหล่งน้ำดิบเพียงแหล่งเดียว ด้านนายกเล็กนครโคราช ยอมรับขณะนี้น้ำประปาเริ่มขุ่นและบางพื้นที่น้ำไม่ไหล เหตุต้นทุนน้ำมีน้อย ดิ้นหาแหล่งน้ำเพิ่มเพื่อช่วยเหลือประชาชนกว่า 5 หมื่นครอบครัว และรับมือเมืองขยายตัวโตรวดเร็ว
วันนี้ (9 พ.ย.) นายจักรกฤษ แจ้งกรณ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะการส่งน้ำดิบให้เทศบาลนครนครราชสีมาผลิตน้ำประปาว่า ทางโครงการฯ ได้ประสานวางแผนร่วมกับเทศบาลนครนครราชสีมามาโดยตลอด
เทศบาลนครฯ ได้สูบน้ำดิบจากเขื่อนลำตะคองไปผลิตประปารวม 3 จุด คือ จากตัวเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ซึ่งสูบไปโดยตรงผ่านท่อมากรองที่โรงกรองน้ำมะขามเฒ่า, จุดที่ 2 สูบน้ำจากลำตะคองที่บริเวณหน้าเขื่อนมะขามเฒ่า ต.บ้านใหม่ อ.เมืองนครราชสีมา และจุดที่ 3 คือ บริเวณหน้าอ่างอัษฎางค์ เขตเทศบาลนครฯ รวมน้ำที่ส่งให้เทศบาลนครฯ ใช้เพื่อการผลิตประปาวันละ 51,188 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งสามารถรองรับได้ส่วนหนึ่งเท่านั้นเนื่องจากในเขตเทศบาลนครฯ มีการขยายตัวและเติบโตสูงมาก จำเป็นจะต้องนำน้ำจากแหล่งน้ำแห่งอื่นมาช่วยด้วย แต่การผันน้ำมาจากเขื่อนลำแชะ อ.ครบรี มาผลิตประปา ทุกวันนี้ยังมีปัญหากันอยู่
ฉะนั้น คาดว่าในช่วงหน้าแล้งนี้การผลิตประปาของเทศบาลนครนครราชสีมาอาจได้รับผลกระทบอยู่บ้าง เพราะความสามารถในการผลิตประปาของเทศบาลฯ ทำงานได้ไม่ถึง 100% แต่ในส่วนของน้ำดิบที่เคยส่งให้ก็ยังสามารถส่งได้เต็มที่เหมือนเดิม และแหล่งน้ำที่มีอยู่ของชลประทานก็ถูกแบ่งไปให้การประปาส่วนภูมิภาคนำไปผลิตประปาด้วยเช่นกัน อาจส่งผลให้น้ำดิบในการผลิตประปามีปัญหาอยู่บ้าง
ปัจจุบันน้ำในเขื่อนลำตะคองเหลือไม่ถึง 50% ของความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าในช่วงที่แล้งที่สุดเดือน มี.ค.-เม.ย. 56 จะเหลือน้ำในอ่างประมาณ 138 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาน 40% ของความจุ
ด้าน นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวยอมรับว่า ปัญหาภัยแล้งโดยเฉพาะน้ำดิบจากเขื่อนลำตะคองที่นำมาผลิตประปาในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาซึ่งมีประชากรกว่า 1.2 แสนคนได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งแล้ว เรื่องนี้ได้หารือกับทางชลประทานว่าจะจัดหาแหล่งน้ำจากลำมูลในช่วงบ้านหนองบอน อ.โชคชัย ตอนนี้เรามีโรงกรองน้ำเพื่อผลิตประปาอยู่แล้วจากน้ำ 2 แห่ง คือฝั่งลำตะคอง และฝั่งแม่น้ำมูล ที่บ้านหนองบอน อ.โชคชัย อีกชุดหนึ่ง ตรงนี้จะหารือกับทางชลประทานอีกครั้งว่าจะสามารถส่งน้ำมาเสริมให้ได้หรือไม่เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน
“แต่ตอนนี้ยืนยันว่าเรายังสามารถดูแลประชาชนในเขตเทศบาลนครฯ ได้ แต่อาจมีปัญหาเรื่องน้ำขุ่นหรือไม่ไหลบ้างในบางพื้นที่ เนื่องจากแหล่งน้ำดิบมีน้อย แต่รับรองว่าน้ำที่ส่งออกจากโรงกรองน้ำของเทศบาลฯ สะอาด ผ่านการฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว” นายสุรวุฒิกล่าว
นายสุรวุฒิกล่าวต่อว่า ทางเทศบาลนครฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในการบริหารจัดการน้ำและหาแหล่งน้ำมาช่วยเสริมเพื่อผลิตประปาจ่ายให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ตอนนี้เรากำลังรักษาแหล่งน้ำที่มีอยู่ให้สามารถผลิตน้ำประปาให้เพียงพอ แต่ต้องยอมรับว่าเมืองโคราชมีการขยายตัวค่อนข้างสูง ส่งผลให้มีการใช้น้ำสูงขึ้นเช่นกัน ต้องเรียนว่าประปาเทศบาลนครฯ สามารถผลิตน้ำได้มากขึ้น แต่มีการใช้มากกว่า ฉะนั้นจึงอยากให้ช่วยกันประหยัดน้ำ และเมื่อพบเห็นท่อน้ำตรงไหนรั่วหรือชำรุดให้รีบแจ้งเทศบาลนครฯ ทันที
ปัจจุบันมีผู้ใช้น้ำของเทศบาลนครนครราชสีมาประมาณ 4 -5 หมื่นราย เพิ่มจากปีที่แล้วประมาณ 5-10% นอกจากนี้ยังมีบางจุดที่เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ เทศบาลนครฯ อนุญาตให้ใช้ท่อใหญ่และมีมิเตอร์เดียวแต่จะเป็นมิเตอร์ขนาดใหญ่ก็เป็นผู้ใช้ 1 ราย สำหรับพื้นที่ที่อาจมีปัญหาน้ำไม่ไหลในบางครั้งคือ ชุมชนการเคหะแห่ชาติ (เซฟวัน) และชุมชนสืบศิริ เนื่องจากน้ำส่งไปไม่ถึง ตอนนี้กำลังเร่งแก้ไขปัญหาโดยการสร้างบ่อพักน้ำในพื้นที่ของกองทัพอากาศ
ทางด้าน ม.ล.อนุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมาว่า โดยภาพรวมปริมาณน้ำทุกอ่างฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางโครงการชลประทานจำเป็นต้องลดการระบายลงเพื่อรักษาระบบนิเวศ และพยายามบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และให้ผ่านพ้นฤดูแล้งที่ยาวนานกว่า 6 เดือนไปให้ได้
ล่าสุดวันนี้ (9 พ.ย.) ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของ จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง และอ่างเก็บน้ำมูลบน มีปริมาณน้ำเหลือไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของความจุ โดยอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้วมีปริมาณน้ำ 151 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 48% ของความจุที่ระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออกเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 6.91 แสน ลบ.ม., อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ปริมาณน้ำ 87.85 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 80.13% ของความจุที่ระดับกักเก็บ 110 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออกเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 1.72 แสน ลบ.ม.
อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 148.66 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 54.06% ของความจุที่ระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออกเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 8.57 แสน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี ซึ่งมีประมาณน้ำเหลือน้อยที่สุด คือมีปริมาณน้ำ 51.95 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 36.84% จากความจุกักเก็บทั้งหมด 141 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำออกเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 4.88 แสน ลบ.ม.