ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ภัยแล้งคุกคามชาวนา อ.พิมาย โคราช เดือดร้อนหนัก ต้นข้าวเริ่มเหี่ยวแห้งตายอื้อ เขื่อนพิมายงดปล่อยน้ำเพื่อการเกษตร ขณะปริมาณน้ำใน 5 เขื่อนใหญ่โคราชลดฮวบเหลือแค่ 30% ของความจุ ส่วน “เขื่อนลำตะคอง” เส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเมืองโคราชลดต่อเนื่องเหลือ 28%
วันนี้ (20 ส.ค.) นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้ทางศูนย์ส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ได้ออกประกาศแจ้งเตือนเกษตรกรให้ชะลอการทำนาออกไปในช่วงนี้ เนื่องจากน้ำในเขื่อนพิมายมีปริมาณน้อย
ประกอบกับสภาพอากาศปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนแปลงฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงมานานส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อย และในช่วง 1-2 ปีนี้เกษตรกรในอำเภอพิมายทำนามากถึงปีละ 3 ครั้ง ส่งผลให้น้ำมีไม่เพียงพอ และตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปทางเขื่อนจะไม่สามารถเปิดประตูระบายน้ำให้เกษตรกรได้อีก เนื่องจากจำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้ให้ประชาชนในเขตเทศบาลตำบลพิมายใช้สำหรับอุปโภค บริโภคเท่านั้น
ขณะที่นาข้าวของเกษตรกรใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ต่างเดือดร้อนเนื่องจากต้นข้าวเริ่มเหี่ยวเฉา ใบเหลืองรอยืนต้นตาย หากในช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ไม่มีน้ำต้นข้าวทั้งหมดจะทยอยตายเสียหายเป็นจำนวนมาก ฉะนั้นจึงเรียกร้องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ลงมาดูพื้นที่และหาทางช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร่งด่วนด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากภาวะภัยแล้งส่งผลให้น้ำในคลองส่งน้ำต่างๆ เริ่มแห้งขอด และทำให้ปลาที่อาศัยอยู่ในคลองน้ำเริ่มลอยขึ้นมาตาย นายชัย แบบพิมาย ชาวบ้านใน ต.ท่าหลวง อ.พิมาย อาศัยช่วงที่ปลาหนีอากาศร้อนโผล่ขึ้นเหนือน้ำ จับปลามาขายสร้างรายได้เสริมได้เป็นอย่างดี
ด้านฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทานโครงการชลประทานนครราชสีมา รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของจังหวัดนครราชสีมาว่า เขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 โครงการ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 288.48 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 30.75% ของความจุที่ระดับเก็บกักรวม 938.12 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักสำคัญที่ใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงเมืองโคราช และหลายอำเภอ มีปริมาณน้ำในอ่างฯเหลือ 88.28 ล้าน ลบ.ม. หรือ 28.08% ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 314 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 15.82 ล้าน ลบ.ม. หรือ 14.43% ของความจุที่ระดับกักเก็บ 110 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 22 โครงการ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 88.35 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 39.97% ความจุที่ระดับเก็บรวม 226.74 ล้าน ลบ.ม.