ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชตื่นตัวรับมือน้ำท่วม อ.พิมาย พื้นที่รับน้ำระดมขุดลอกเขื่อนและกำจัดวัชพืชขวางทางน้ำ ด้าน “ปราสาทหินพิมาย” โบราณสถานสำคัญของไทย เตรียมพร้อมทุกด้านและติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย แหล่งรวมโบราณวัตถุภาคอีสานใต้กว่า 3,000 ชิ้น ขณะปริมาณน้ำใน 5 เขื่อนใหญ่เริ่มเพิ่มระดับต่อเนื่อง แต่ยังรองรับน้ำฝนได้อีกมาก
วันนี้ (11 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมาเริ่มตื่นตัวเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูฝนปีนี้ หลังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ อ.พิมาย ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มรองรับน้ำส่วนท้ายสุดของ จ.นครราชสีมา ก่อนไหลลงสู่พื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่
นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่นำรถแบ็กโฮลงขุดลอกดินที่ตกตะกอนบริเวณหน้าประตูระบายน้ำเขื่อนพิมาย อ.พิมาย เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เตรียมรับมือป้องกันปัญหาน้ำท่วมจากมวลน้ำก้อนใหญ่ที่จะไหลลงมาจากพื้นที่ตอนบนของ จ.นครราชสีมา ในช่วงฤดูฝนเช่นทุกปีที่ผ่านมา
ขณะที่ นายดนัย ตั้งเจิดจ้า นายกเทศมนตรีตำบลพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ได้ระดมให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและบรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลพิมาย ลงกำจัดผักตบชวาและวัชพืชที่ติดอยู่บริเวณสะพาน สนามแข่งเรือยาวพิมาย ลำน้ำจักราช เพื่อเปิดทางน้ำให้ไหลได้สะดวก เช่นเดียวกับหน่วยงานต่างๆ ในอำเภอพิมาย ต่างตื่นตัวเตรียมความพร้อมป้องกันน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูฝนนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ อุทยานประวัติพิมาย ที่ตั้งปราสาทหินพิมาย โบราณสถานสำคัญของไทย ได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันโบราณสถานอย่างเต็มที่ โดย นายดุสิต ทุมมากร หัวหน้าอุทยานปราสาทหินพิมาย กล่าวว่า ทางอุทยานฯ ได้เตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมดแล้ว ทั้งเครื่องสูบน้ำ และกำลังเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ซึ่งก่อนหน้านี้ทางอุทยานฯ ได้ทำการซ่อมแซมกำแพงปราสาทหิน และสร้างกำแพงใหม่ขึ้นมา ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันน้ำเข้าไปสู่ตัวปราสาทได้อีกทางหนึ่ง
เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ซึ่งเป็นแหล่งเก็บโบราณวัตถุทั้งหมดในเขตพื้นที่จังหวัดภาคอีสานตอนล่างจำนวนมากกว่า 3,000 ชิ้น ได้เตรียมแผนรองรับน้ำท่วมไว้เช่นกัน ทั้งการเก็บวัตถุโบราณที่มีค่าไว้ในที่สูง และบางชิ้นได้เคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ในที่ปลอดภัย ส่วนวัตถุโบราณชิ้นใหญ่ที่เคลื่อนย้ายลำบากเจ้าหน้าที่ได้นำหินมาหนุนให้สูงเพื่อให้พ้นระดับน้ำ
ด้านโครงการชลประทานนครราชสีมารายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของ จ.นครราชสีมา วันนี้ (11 ก.ย.) พบว่า เขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 โครงการ มีปริมาณน้ำรวม 316.84 ล้านลูกบาศก์เมตร ( ลบ.ม.) คิดเป็น 33.77% ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 938.12 ล้าน ลบ.ม.
เขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ไหลผ่านตัวเมืองโคราชและหลายอำเภอ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 85.84 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 27.29% ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 314 ล้าน ลบ.ม., เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ซึ่งเคยล้นทะลักเข้าท่วมเมืองปักธงชัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 27.44 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 25.03% ของความจุที่ระดับกักเก็บรวม 110 ล้าน ลบ.ม
ทั้งนี้ โดยภาพรวมแล้วปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 โครงการ ดังกล่าวได้เริ่มเพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกจำนวนมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางชลประทานจังหวัดนครราชสีมาได้มีการปล่อยน้ำให้เกษตรกรได้ทำนา และทำการพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. นี้
ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 22 โครงการของ จ.นครราชสีมา ล่าสุดมีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 79.80 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 35.19% ของความจุที่ระดับเก็บกักรวม 226.74 ล้าน ลบ.ม. รวมแล้วปริมาณน้ำทั้งในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีจำนวนทั้งสิ้น 396.6 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 34.05% ความจุที่ระดับเก็บกักรวม 1,164.86 ล้าน ลบ.ม.