ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ประมงจังหวัดโคราชหอบหลักฐานเข้าแจ้งความดำเนินคดีโรงน้ำแข็ง “เอ็ม.พี.” ต้นตอทำปลา “ลำตะคอง” ตายเกลื่อนนับแสนตัว ที่ สภ.เมืองนครราชสีมา ในข้อหาเทวัตถุมีพิษลงในแหล่งน้ำ มีความผิดตาม ม.19 พ.ร.บ.ประมง เผยมีโทษหนักจำคุก 6 เดือน-5 ปี ปรับ 10,000-100,000 บาท ขณะ สนง.สิ่งแวดล้อมภาค 11 จ่อฟันคดีแพ่งซ้ำอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีเกิดเหตุปลาในลำตะคอง ช่วงไหลผ่านเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ลอยตายเป็นจำนวนนับแสนตัวเป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร (กม.) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ล่าสุดวันนี้ (19 ก.ค.) เมื่อเวลา 12.00 น. ที่ สภ.เมืองนครราชสีมา ว่าที่ ร.ท.สมพร กุลบุญ ประมงจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นายพงษ์ศิริ ใจสำราญ วิศวกร นายช่างสุขาภิบาล สำนักงานช่างเทศบาลนครนครราชสีมา และนายธนันชัย วรรณสุข นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) ได้หอบเอกสารหลักฐานเข้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.ตปธน กอพงษ์ พนักงานสอบสวน(สบ.3) สภ.เมืองนครราชสีมา ให้ดำเนินคดีต่อห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) โคราชไอซ์ เจ้าของโรงน้ำแข็งยี่ห้อ “เอ็ม.พี.” ในความผิดตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2490 กรณีปล่อยสารเคมีลงในลำน้ำลำตะคอง อันเป็นเหตุให้สัตว์น้ำ (ปลา) ตายเป็นจำนวนมาก มีความผิดจำคุก 6 เดือน ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท
พ.ต.ท.ตปธน กอพงษ์ พนักงานสอบสวน (สบ.3) สภ.เมืองนครราชสีมา กล่าวว่า ได้ลงบันทึกประจำวัน และทำการสอบปากคำเบื้องต้นไว้แล้ว โดยขอเวลาทำการตรวจสอบรายละเอียดของความผิดทั้งหมดก่อน รวมทั้งพยานและฝ่ายผู้กล่าวหาให้ชัดเจนทั้งหมดให้แน่ชัด จนน่าเชื่อได้ว่ามีการทำผิดจริงแล้วจะเรียกผู้ประกอบการมารับทราบข้อกล่าวหาเพื่อดำเนินคดี เพราะการดำเนินคดีเป็นระบบกล่าวหา เมื่อถึงขั้นตอนเรียกตัวมาหากไม่มาก็เป็นขั้นตอนออกหมายจับต่อไป
ด้านว่าที่ ร.ท.สมพร กุลบุญ ประมงจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาให้มาดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครราชสีมาในข้อหาตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2490 เกี่ยวกับความผิดตามมาตรา 19 เกี่ยวกับการเทวัตถุมีพิษลงในแหล่งน้ำของ หจก. โคราชไอซ์ (โรงน้ำแข็ง เอ็ม.พี.) จากนี้ไปเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา โดยมีหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ไปตรวจสอบโรงงานและพยานแวดล้อมด้วย
ทั้งนี้ ความผิดด้านประมงมาตรา 19 ข้างต้น มีบทลงโทษจำคุก 6 เดือน-5 ปี หรือ ปรับ 10,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ นายธนัญชัย วรรณสุข นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) กล่าวว่า สำหรับการดำเนินคดีแพ่งตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมามอบหมายให้เจ้าหน้าที่รวบรวมค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในเรื่องของการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การตรวจวิเคราะห์น้ำ การกำจัดซากปลา การกำจัดมลพิษทั้งหมดส่งให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมาภายในเวลา 12.00 น. พรุ่งนี้ (20 ก.ค.55) เพื่อเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากผู้ประกอบการ
“โดยเบื้องต้นเราจะแจ้งผู้ประกอบการไปก่อน แต่ถ้าหากผู้ประกอบการไม่ยอมชดใช้ก็ต้องดำเนินการฟ้องร้องตามมาตรา 96 กับ 97 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป” นายธนัญชัยกล่าว