รักษาการณ์โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ โทร.สั่งเลขาฯ ครม.ย้ำที่ประชุมระวังร่องความกดอากาศต่ำพาดภาคเหนือทำฝนตก จับตาสถานการณ์น้ำทุกวัน
วันนี้ (29 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น. นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์ถึงนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ย้ำผู้ที่เกี่ยวข้องและให้แจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในเรื่องสำคัญที่ไปพบร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านบริเวณตอนบนของประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นนั้นยังไม่พบนัยยะสำคัญที่จะส่งผลกระทบถึงสถานการณ์น้ำแต่อย่างใด
ประกอบกับวันนี้มีระเบียบเรื่องทราบจรเรื่องที่ 5 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้เสนอมา ซึ่งการประชุม ครม.ครั้งที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์น้ำได้เกาะติดเฝ้าสถานการณ์น้ำในเขื่อนทุกเขื่อน โดยในการประชุม ครม.ครั้งนี้กระทรวงทรัพยากรฯ ได้รายงานสภาพภูมิอากาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ ส่วนภาคตะวันตกและภาคกลางมีฝนตกปานกลาง
ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนแบ่งออกเป็น 3 ระดับ โดยระดับแรกน้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ปริมาณน้ำอยู่ระหว่างร้อยละ 51-80 ใน 9 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา เขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนหนองปลาไหล จ.ระยอง เขื่อนบางพระ จ.ชลบุรี เขื่อนรัชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และเขื่อนบางลาง จ.ยะลา
สำหรับเขื่อนที่มีปริมาณน้ำระหว่างร้อยละ 31-50 อยู่ในเกณฑ์น้ำพอใช้ มีทั้งหมด 14 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำมูลบน จ.นครราชสีมา เขื่อนสิริธร จ.อุบลราชธานี และเขื่อนกระแส จ.ระยอง
ขณะเดียวกัน เขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 31 มีจำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนทัพเสลา จ.อุทัยธานี เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก เขื่อนคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรีและเขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวเนื่องในการเฝ้าระวังกับสถานการณ์น้ำว่ามติ ครม.ใดๆที่มีก่อนหน้านี้เรื่องการระบายน้ำออกจากเขื่อนไม่สำคัญเท่ากับการประเมินสถานการณ์น้ำในทุกวัน ซึ่งขณะนี้มีรัฐมนตรีและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จับตาเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและรายงานเข้ามาทุกวัน หากมีสถานการณ์น้ำที่เปลี่ยนแปลงไปจะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรืออาจมีการประชุมผ่านระบบวีดีโอคอนฟอเรนท์