xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปัดฝุ่นตั้ง “จ.ชุมแพ” หวัง “เกียรติสุรนนท์”ครองเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนที่ จ.ขอนแก่น หากมีการแยกเป็น จ.ชุมแพ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-สัปดาห์ก่อนมีข่าว ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย เขต 5“สุชาย ศรีสุรพล” ที่ครองเก้าอี้มายาวนาน 4 สมัย ตั้งแต่ ปี 2544-55 สังกัดไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย ตามลำดับ เด็กในคาถาของ “ค้อนปลอม ตราดูไบ”สมศักดิ์ เกียรติสุนนท์ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.ขอนแก่น เขต 6
 

เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)จัดตั้ง จ.ชุมแพ โดยให้พื้นที่ 5 อำเภอ ของ จ.ขอนแก่น รวมเอา อ.ชุมแพ ,อ.ภูเวียง ,อ.สีชมพู, อ.หนองนาคำ และ อ.ภูผาม่าน รวมทั้ง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ มาจัดตั้งเป็นจังหวัดชุมแพ รวม 6 อำเภอ

อำเภอชุมแพ มีพื้นที่ 510.9 ตร.กม. ประชากร 122,685 คน (พ.ศ. 2553) มีเขตการปกครองย่อยเป็น 12 ตำบล 143 หมู่บ้าน อำเภอภูเวียง มีพื้นที่ 621.6 ตร.กม. ประชากร 71,743 คน (พ.ศ. 2552) มี 11 ตำบล 114 หมู่บ้าน อำเภอสีชมพู มีพื้นที่ 529.041 ตร.กม. ประชากร 77,736 คน (พ.ศ. 2552) มี 10 ตำบล 81 หมู่บ้าน
อำเภอหนองนาคำ มีพื้นที่ 158.9 ตร.กม. ประชากร 23,495 คน (พ.ศ. 2552) มี 3 ตำบล 34 หมู่บ้าน อำเภอภูผาม่าน มีพื้นที่ 284.6 ตร.กม. ประชากร 22,474 คน (พ.ศ. 2552) มี5 ตำบล 41 หมู่บ้าน

รวมทั้ง อำเภอภูเขียว จ.ชัยภูมิ ที่มีพื้นที่ 801.8 ตร.กม. ประชากร 124,314 คน (พ.ศ. 2552) มี 11 ตำบล 147 หมู่บ้าน

ส.ส.ผู้นี้ บอกว่า ในการประชุมสมัยสามัญสภาผู้แทนราษฎรที่จะถึงนี้ เขาจะเสนอวาระให้ชุมแพ เป็น จังหวัดที่ 78 ของประเทศไทย โดยอ้างว่าเป็นวาระที่ถูกเลื่อนมาแล้วหลายครั้งต่อจาก พ.ร.บ.จัดตั้ง จ.บึงกาฬ ที่ได้ตั้งเป็นจังหวัดที่ 77 ก่อนหน้านี้

เข้าอ้างว่า ร่างดังกล่าวเป็นการสนับสนุนและผลักดันจากประชาชนในพื้นที่

ประโยชน์ ที่ส.ส.ผู้นี้อ้างก็คือ หากมี จ.ชุมแพ ก็จะทำให้มี จำนวน ส.ส.ในพื้นที่รวม 2 คน ซึ่งปัจจุบันเป็น ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย คือนายสมศักดิ์ และ เขาเอง

แถมยังอ้างว่า ภาพรวมของ จ.ชุมแพ จะเป็นไปตามความต้องการของประชาชนเพราะปัจจุบันการติดต่อราชการที่ จ.ขอนแก่น ระยะทางรวมหลายร้อยกิโลเมตร ขณะที่งบประมาณจัดตั้งจังหวัดที่จะใช้ประมาณ 6,000 ล้านบาทจะมีการจัดสรรลงทุกอำเภอๆละ 1,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนา จ.ชุมแพให้ครอบคลุมทุกด้านและเป็นประตูสู่ภาคอีสานในเส้นทางที่เดินทางมาจากภาคเหนือและภาคกลางตอนล่าง

ส.ส.ผู้นี้บอกว่า พร้อมที่จะทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้ง จ.ชุมแพนั้น คาบเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้ง จ.ภูเวียง ในสมัยที่ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ อดีต กกต.เคยเสนอมาแล้วก่อนหน้านี้ในสมัยของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งยังค้างอยู่ในสภาฯ

หากย้อนกลับไปดูในอดีต ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้ง จ.ภูเวียง ถูกเสนอเมื่อปี 2546 เป็นจังหวัดที่ขอแยกออกจาก จ.ขอนแก่น เช่นกัน

มีการยื่นคำขอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.จัดตั้ง จ.ภูเวียง ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อแยก อ.ภูเวียง (ปัจจุบันแยกเป็น 2 อำเภอ คือ อ.ภูเวียง และอ.เวียงเก่า) อ.ชุมแพ อ.สีชมพู อ.หนองเรือ อ.ภูผาม่าน และ อ.หนองนาคำ รวมกันขึ้นเป็น จ.ภูเวียง โดยมีผู้เข้าชื่อเสนอร่างจำนวนประมาณ 70,000 คน ซึ่งเกินจำนวน 5 หมื่นคน ตามที่กฎหมายกำหนด

ขณะที่ ร่างพ.ร.บ.จัดตั้ง จ.ชุมแพ นั้น ไม่ใช้ครั้งแรกที่ถูกนำเสนอ เคยถูกเสนอใบปี 2546 เช่นกัน ช่วงนั้นร่างพ.ร.บ.ก่อตั้ง จ.ภูเวียง ก็อยู่ในระหว่างการผลักดันให้เข้าเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แต่เมื่อถึงขั้นตอนลงประชามติ ร่างพ.ร.บ.จัดตั้ง จ.ชุมแพ พบว่ามีผู้ลงชื่อไม่ถึงจำนวน 5 หมื่นคน ทำให้ ร่างพ.ร.บ.จัดตั้ง จ.ชุมแพ ตกไปก่อน

หากไปพลิกดูในวาระที่ค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ในการเสนอตั้งจังหวัดใหม่ ที่ยังค้างอยู่อีก 3 จังหวัด แต่ไม่ผ่านเกณฑ์ คือ ตั้งแต่ปี 2547 ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ จัดตั้ง จ.แม่สอด ที่จะแยกมาจาก จ.ตาก

ส.ส.ลพบุรี พรรคพลังประชาชน สมัยนั้น เสนอตั้ง จ.พระนารายณ์ หรือ จ.ชัยบาดาล ที่จะแยกมาจาก จ.ลพบุรี เมื่อ มี.ค. 2552 ขณะที่ส.ส.พรรคไทยรักไทย เช่นกันก็พยายามที่จะ เสนอตั้ง จ.ฝาง โดยแยกมาจาก จ.เชียงใหม่ ในปีเดียวกัน หวังผลเพื่อการเลือกตั้งใหญ่ในคราวนั้น

หลักเกณฑ์ การตั้งจังหวัดนั้น จะต้องเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2524 คือ 1.ต้องมีไม่น้อยกว่า 8 อำเภอ 2.มีประชากรไม่น้อยกว่า 3 แสนคน และ 3.หน่วยงานราชการที่จะมาเป็นจังหวัดใหม่มีความพร้อมหรือไม่ ที่สำคัญต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนทั้งจังหวัด ซึ่งขั้นตอนอาทิ อำเภอที่จะขอตั้งเป็นจังหวัดใหม่ต้องเสนอเรื่องไปยังจังหวัด จากนั้นต้องมีการตั้งเรื่องมายังกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำแบบสอบถามไปยังประชาชน และสอบถามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการต่างๆ ว่าเห็นชอบหรือไม่ หากส่วนใหญ่เห็นด้วยถือว่าผ่านเกณฑ์ ทางกระทรวงมหาดไทยจะเสนอต่อที่ประชุม ครม. เมื่อ ครม.พิจารณาเห็นชอบก็ต้องส่งเรื่องเข้ามาสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเสนอเป็นกฎหมาย พ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีความพยายาม ที่จะเสนออำเภออีกหลายแห่ง เพื่อยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดเช่น จ.นครสุวรรณภูมิ แยกจาก กรุงเทพมหานครกับจ.สมุทรปราการ จ.ไกลกังวล (จ.หัวหิน) แยกจาก จ.เพชรบุรีกับจ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สว่างแดนดิน (อ.สว่างแดนดิน) แยกจาก จ.สกลนคร จ.ทุ่งสง (อ.ทุ่งสง) แยกจาก จ.นครศรีธรรมราช จ.เทิงนคร (อ.เทิง) จ.เชียงของ (อ.เชียงของ) แยกจาก จ.เชียงราย และจ.ทองผาภูมิ ที่จะแยกจาก จ.กาญจนบุรี

ส.ส.ขอนแก่น อย่าง“สุชาย ศรีสุรพล” พูดเหมือนไม่ได้ย้อนไปดูอดีต พูดเหมือนว่า ประชาชนชาวชุมแพ หรืออีก 4-5 อำเภอ หรือคนภูเขียว เขาเห็นด้วย หากดูผู้ลงชื่อสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติในอดีตที่อ้างว่า มีกว่า 7 หมื่นคน แต่เอาเข้าจริง เวลาลงประชามติกลับมีคนมีไม่ถึง 5 พันคน ทำเอาร่างกฎหมายตกไป

หากจะพลิกปูมประวัติศาสตร์การเมืองในพื้นที่เลือกตั้ง ของเขต 5 และ 6 ของ จ.ขอนแก่น ก็ถือว่า มีการแข่งขันที่สูงมากอยู่แล้ว รวมถึง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเดิมก็เป็นพื้นที่ที่มีการแข่งขันดุเดือดเช่นกัน

โดยเขต 5-6 จ.ขอนแก่น เดิมทีเป็นของ “พรรคกิจสังคม” มี “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์”ครองพื้นที่มาตลอด ตั้งแต่ปี 2526 และต่อมาซบกับไทยรักไทยจองสนามนี้มาตลอด 28 ปี

ตลอดระยะเวลา “ลูกชายเถ้าแก่โรงสีเมืองชุมแพ”ต่อสู้กับคนของ “สุวิทย์ คุณกิตติ”มาตลอด แต่คะแนนเสียงก็ชนะขาดลอยมาตลอดเช่นกัน ถูกปูนบำเหน็จเป็นรองประธาสภาฯ ก้าวถึงขั้นรมว.วัฒนธรรม จนล่าสุดได้นั่งประธานสภาฯ แต่ไม่วาย “สมศักดิ์” ในขอนแก่น ยังต้องตกอยู่ใต้ร่มเงาของระดับแกนนำพรรค อย่าง “บิ๊ก ปื๊ด”เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช คนใกล้ชิดนายใหญ่

ขณะที่พื้นที่ จ.ชัยภูมิ ส.ส.พื้นที่ อ.ภูเขียว ก็ไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นคนของพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งมี “ประชาธิปัตย์” หนุนหลัง กรณีนี้ก็เหมือนกับการตัดเนื้อร้าย ที่พรรคเพื่อไทยสู้ยากแต่มาถอยไปก้าวหนึ่ง เอามารวมกับพื้นที่ที่เรียกว่าแบเบอร์กว่า อย่าง “ชุมแพ-ภูเวียง”

จะเห็นได้ว่า จ.ขอนแก่น นี้เคยมี “จารุบุตร เรืองสุวรรณ” เป็นประธานรัฐสภาคนแรก ที่เป็นชาวขอนแก่น ที่ปัจจุบันบุตรชายของเขาคือ “จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” เป็น เลขาธิการพรรคเพื่อไทย มีตำแหน่งเป็นรมว.คมนาคม เชื้อสายคนขอนแก่น แถมถ้า “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” ที่หากพ้นบ้านเลขที่ 111 ในเดือนพฤษภาคมนี้ “สมศักดิ์”คงมีคู่แย่งบารมีในขอนแก่น และตำแหน่งรัฐมนตรีเพิ่มขื้นอีก

หากดูผลเลือกตั้ง ส.ส. ขอนแก่น เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 เขต 5 ที่สุชาย ศรีสุรพล ได้คะแนนถึง 59,884 คะแนน บวกกับเขต 6 ที่สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ได้ 42,471 คะแนน นี้ไม่รวมกับ อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ที่ “เจริญ จรรย์โกมล”อดีต ส.ส.8 สมัย เจ้าของพื้นที่เขต อ.ภูเขียว ซึ่งขอย้ายฐานตัวเองหลบมาลงในเขต 5 อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ก็พร้อมจะช่วย เพราะเจริญ ก็ชิ่งจากภูเขียว ไปพื้นที่อื่น เพระเขตอ.ภูเขียว มี “คนของตระกูลเร่งไพบูลย์วงษ์” ที่ปัจจุบัน เป็น ส.ส.ชาติไทยพัฒนา เป็นก้างขวางคออยู่ แต่หากได้บารมีบ้านเกิดของคุณหญิงพจมาน(ชินวัตร)ดามาพงศ์ช่วยอีก คะแนนรวมมากกว่า 1 แสนคะแนน ก็จะได้ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออีก 1 คน ชัวร์!!

ดังนั้นฟันธง ได้เลยว่า ข้อเสนอร่างพ.ร.บ.จัดตั้ง จ.ชุมแพ นั้นเป็นการเปิดทางให้ “ตระกูลเกียรติสุรนนท์”ครอง จ.ชุมแพ หวังสร้างบารมีให้เทียบเท่า “สุพรรณบุรี” หรือ“บุรีรัมย์” ที่มีนักการเมืองครองจังหวัดอย่างถาวร
 สมศักดิ์ เกียรติสุรนน์
กำลังโหลดความคิดเห็น