ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- โคราชสรุปสาเหตุปลาลำตะคองลอยตายเป็นเบือ ฟันธงเกิดจากการปล่อยสารแอมโมเนียของโรงน้ำแข็ง “เอ็ม.พี.” เผยผลตรวจวัดค่าน้ำในวันเกิดเหตุพบความผิดปกติชัดเจน ขณะอุตสาหกรรมจังหวัดฯ สั่งปิดโรงงานผลิตน้ำแข็งชั่วคราว 30 วันแล้ววันนี้ พร้อมเปรียบเทียบปรับ ด้านประมงจังหวัดฯ และ สวล.ภาคที่ 11 เตรียมหอบหลักฐานแจ้งความ ตร.ดำเนินคดีเจ้าของโรงงานน้ำแข็งทั้งอาญา และแพ่ง
วันนี้ (18 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิท้าวสุรนารี ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานประชุมสรุปสาเหตุปลาในลำตะคอง ช่วงเขตเทศบาลนครนครราชสีมาลอยตายนับแสนตัว เป็นระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร (กม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในที่ประชุมมีข้อสรุปว่า โรงน้ำแข็ง หจก.โคราชไอซ์ (เจ้าของเดียวกับ หจก.มิตรภาพอุตสาหกรรมนครราชสีมา) ที่ผลิตน้ำแข็งยี่ห้อ เอ็ม.พี. ซึ่งมีการซ่อมแซมบำรุงเครื่องจักรระบบการผลิตน้ำแข็งในวันก่อนเกิดเหตุปลาตายวันที่ 13 ก.ค. ได้มีการระบายแอมโมเนียไนโตรเจนเป็นปริมาณมากลงลำน้ำลำตะคองในช่วงบริเวณหลังโรงงาน ทำให้ตรวจพบค่าความเข้มข้นของแอมโมเนียไนโตรเจนในน้ำที่จุดดังกล่าวสูงถึง 8.4 มิลลิกรัม/ลิตร
ความเข้มข้นของแอมโมเนียดังกล่าวมีศักยภาพทำให้เกิดมลภาวะในลำน้ำได้ 2 ลักษณะ คือ แอมโมเนียในน้ำเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ซึ่งเกิดได้ในภาวะที่ความเป็นกรดเป็นด่างในน้ำ (PH) สูงกว่า 8 เป็นต้นไป และแอมโมเนียในน้ำจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในน้ำ ซึ่งมีการถ่ายเทออกซิเจนมากกว่าการย่อยสลายสารอินทรีย์คาร์บอนโดยทั่วไปถึงประมาณ 5 เท่า
ทั้งนี้ จากการประมาณโดยข้อมูลทางกายภาพของลำน้ำและความเข้มข้นของแอมโมเนียไนโตรเจนในน้ำ คาดว่ามีการระบายแอมโมเนียไนโตรเจนลงสู่ลำตะคองในช่วงดังกล่าวเป็นปริมาณอยู่ในช่วง 10-100 กิโลกรัม ซึ่งปริมาณที่ค่อนข้างสูงนี้ไม่น่าจะเป็นการระบายจากน้ำเสียอันเกิดจากกิจกรรมการดำรงชีวิตตามปกติของชุมชนที่ระบายน้ำเสียหรือน้ำทิ้งลงยังลำตะคองแน่นอน
ด้าน นายวีระยศ อุตรนคร อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ได้มีหนังสือถึงเจ้าของโรงงานน้ำแข็ง หจก.โคราชไอซ์ ให้หยุดดำเนินกิจการชั่วคราวเป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันนี้ (18 ก.ค.) ไปจนถึงวันที่ 16 ส.ค.นี้เป็นการชั่วคราวเพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ และให้ดำเนินการปรับปรุงระบบดูดซับแอมโมเนียให้มีคุณภาพ
ส่วนการซ่อมบำรุงจะต้องมีการทำแผนการซ่อมส่งให้เจ้าพนักงานก่อนทุกครั้ง รวมถึงการนำออกน้ำมันเครื่องหรือสิ่งปฏิกูลจากโรงงานต้องแจ้งอุตสาหกรรมจังหวัดทุกครั้ง ส่วนการดำเนินการทางอาญา ได้ทำหนังสือให้เจ้าของโรงงานมารับทราบในการเปรียบเทียบปรับในแต่ละข้อกล่าวหาปรับไม่เกิน 2 แสนบาทแล้ว
ด้านนายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ในการแจ้งความเอาผิดโรงงานน้ำแข็ง เอ็ม.พี. นั้นได้มอบหมายให้ประมงจังหวัดนครราชสีมาไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนครราชสีมาเพื่อดำเนินคดีต่อ หจก.โคราชไอซ์ ในข้อหา “ปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ (ลำตะคอง) เป็นเหตุให้สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมากประมาณ 2 ตัน” มีความผิดตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2490 ห้ามมิให้บุคคลใด เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้วัตถุมีพิษตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาลงไปในที่จับสัตว์น้ำ หรือกระทำการใดๆ อันทำให้สัตว์น้ำมึนเมา หรือเท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงไปในที่จับสัตว์น้ำในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ หรือทำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษ เว้นแต่เป็นการทดลองเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์และได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ส่วนความผิดทางแพ่ง ได้มอบหมายให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 (นครราชสีมา) รวบรวมหลักฐานต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งความดำเนินคดีทางแพ่งตามมาตรา 96, 97 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวต่อไป