xs
xsm
sm
md
lg

สั่งปิดแล้ว! โรงน้ำแข็งต้นเหตุปลา “ลำตะคอง” ตาย-เร่งปล่อยปลา 3 แสนตัวคืนชีวิตลำน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุวัจน์  ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ผู้ว่าฯนครราชสีมา,นายชุมพล  ชีวะประภานันท์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และชาวโคราช ร่วมปล่อยพันธุ์ปลา กว่า 3 แสนตัวลงสู่ลำตะคอง หลังจากเกิดเหตุการณ์ปลาลอยตายเกลื่อนนับแสนตัว วันนี้ ( 17 ก.ค.ฉ
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “สุวัจน์” นำชาวโคราชปล่อยพันธุ์ปลากว่า 3 แสนตัวลงสู่ “ลำตะคอง” เร่งคืนชีวิตให้ลำน้ำ หลังเกิดเหตุปลานับแสนลอยตายเกลื่อน ด้าน “กรมโรงงานฯ” สั่งปิดชั่วคราวโรงงานน้ำแข็งต้นตอทำปลาตาย 30 วันให้แก้ไขจัดทำแผนบำรุงรักษาเครื่องจักรและทำบ่อบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐาน ส่วนด้านคดีจะเปรียบเทียบปรับตาม กม.และแจ้งให้มารับทราบข้อกล่าวหา ด้าน “สุวัจน์” ชี้เป็นอุทาหรณ์ให้หน่วยงานต่างๆ เข้มงวดในมาตรการดำเนินการ

วันนี้ (17 ก.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. ที่เขื่อนคนชุม อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายชุมพล ชีวะประภานันท์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยชาวจังหวัดนครราชสีมา ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลาตะเพียน ปลาค้าว ปลาเนื้ออ่อน กว่า 300,000 ตัวลงสู่ลำน้ำลำตะคอง หลังจากเกิดเหตุการณ์ปลาในลำตะคองลอยตายเกลื่อนนับแสนตัว เป็นระยะทางกว่า 3 กม.ตั้งแต่ช่วงชุมชนตรอกสำโรง ถึงหลังหมู่บ้านวีไอพี เขตเทศบาลนครนครราชสีมา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพื่อฟื้นชีวิตปลาในลำตะคองให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม โดยพันธุ์ปลาทั้งหมดสำนักงานประมงจังหวัดนครราชสีมาได้จัดหามาปล่อย ซึ่งได้รับบริจาคพ่อแม่พันธุ์ปลาตะเพียนจากวัดต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ตามโครงการแบ่งปันพันธุ์ปลาหลานย่าโม

นายชุมพล ชีวะประภานันท์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำแข็งริมลำตะคองทั้ง 4 แห่ง ที่ตั้งอยู่เหนือบริเวณเกิดเหตุปลาในลำตะคองลอยตายเป็นจำนวนมาก ได้ผลสรุปว่า โรงงานผลิตน้ำแข็ง หจก.โคราชไอซ์ (เจ้าของเดียวกับ หจก.มิตรภาพอุตสาหกรรมนครราชสีมา) ผลิตน้ำแข็งยี่ห้อ เอ็ม.พี. ซึ่งจดทะเบียนโรงงานเลขที่ 3-14-3/47 นม มี นางสมฤดี หริตวร เป็นเจ้าของ ตั้งอยู่เลขที่ 1274/2 ถ.มิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีกำลังในการผลิตน้ำแข็งซอง 1.46 แสนซอง น้ำแข็งหลอด 94,500 ตัน เงินลงทุน 6 ล้านบาท ที่มีการซ่อมบำรุงและแก้ไขเครื่องจักรก่อนมีเหตุการณ์ปลาในลำตะคองตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุการปนเปื้อนแอมโมเนียลงไปในแม่น้ำลำตะคองทำให้คุณภาพน้ำในลำตะคองลดต่ำลงจนทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่ไม่ได้

ทั้งนี้ จากการตรวจโรงงานพบความผิด 3 ประเด็น คือ 1. ทางโรงงานมีเพียงบ่อเก็บกักน้ำที่เกิดจากการล้างพื้นซึ่งมีการปนเปื้อนน้ำมันทำให้บ่อเก็บกักไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะดักไขมัน หรือน้ำมันก่อนที่จะทำการระบายออกจากโรงงาน

2. มีการนำน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วไปจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งตามกฎหมายการนำน้ำมันเครื่องใช้แล้ว ซึ่งถือเป็นสิ่งปฏิกูลที่ไม่ใช้แล้วออกนอกโรงงานต้องขออนุญาตก่อน

และ 3. ประเด็นหลักที่อาจเป็นสาเหตุของปลาตาย คือ เรื่องการบำรุงรักษาเครื่องจักร ซึ่งใช้ในการทำความเย็นนั้นมีสารแอมโมเนีย หากการบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมเครื่องจักรไม่ดีพอจะมีการปนเปื้อนของน้ำที่ใช้ในการดูดจับแอมโมเนีย หากปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลอง สารแอมโมเนียที่ปนเปื้อนในน้ำจะทำให้ออกซิเจนลดต่ำลงจนทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่ไม่ได้

นายชุมพลกล่าวต่อว่า ประเด็นหลังนี้จึงเป็นประเด็นหลักที่สั่งให้ทางโรงงานผลิตน้ำแข็งหยุดประกอบกิจการโรงงานชั่วคราว เพื่อดำเนินการแก้ไขด้วยการจัดทำแผนการบำรุงรักษาเครื่องจักร ตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องจักรที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น ซึ่งให้ดำเนินการแก้ไขรวมทั้งดำเนินการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานให้ได้มาตรฐานและแจ้งทางราชการให้ทราบภายใน 30 วัน หากดำเนินการแก้ไขก่อน 30 วันและผ่านการตรวจของเจ้าหน้าที่แล้วก็เปิดดำเนินกิจการได้

อย่างไรก็ตาม หากไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน30 วันก็จะมีมาตรการดำเนินการขั้นต่อไป เช่น อาจใช้ ม.39 คือ การสั่งปิดกิจการ หรือเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป แต่คาดหวังว่าด้วยกระบวนการที่ได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการไปแล้วคิดว่าภายใน 30 วันน่าจะแก้ไขได้ทัน

“โดยทางอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาจะมีหนังสือสั่งการให้โรงงานหยุดการผลิตชั่วคราวเป็นเวลา 30 วันเพื่อปรับปรุงแก้ไขตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (18 ก.ค.) เป็นต้นไป” นายชุมพลกล่าว

นายชุมพลกล่าวอีกว่า นอกจากสั่งให้ปิดกิจการชั่วคราว 30 วันแล้วยังจะมีการดำเนินคดีอีก โดยในส่วนนี้จะมีมาตรการเปรียบเทียบปรับ ซึ่งวงเงินเปรียบเทียบปรับขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ความรุนแรง และมีคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับเป็นผู้พิจารณา แต่ทั้งหมดแต่ละข้อจะเปรียบเทียบปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งจากนี้ไปทางอุตสาหกรรมจังหวัดฯ จะมีหนังสือแจ้งไปยังโรงงานผลิตน้ำแข็งโคราชไอซ์ให้มารับทราบข้อกล่าวหา หากรับทราบและยินยอมให้เปรียบเทียบปรับก็จะเข้าสู่กระบวนการของคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ หากไม่ยินยอมก็จะเข้าสู่กระบวนการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีตาม กม.ต่อไป

ด้าน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปลาที่ตายทั้งหมดมีประมาณ 1.5 ตันนั้น ทางเทศบาลนครนครราชสีมาได้นำไปหมักเป็นไบโอก๊าซ หรือก๊าซธรรมชาติ และเอาก๊าซชีวภาพไปผลิตไฟฟ้าตามระบบการกำจัดขยะ ฉะนั้นตอนนี้ปลาที่ตายได้แปรสภาพไปเป็นกระแสไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นอุทาหรณ์ ซึ่งควรให้หน่วยงานต่างๆ ได้มีความเข้มงวดกวดขันกับสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ตามลำน้ำ ลำคลอง หรือแม่น้ำหลักๆ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมีผลกระทบทั้งเรื่องของคุณภาพน้ำ คุณภาพชีวิต สัตว์น้ำ และสิ่งมีชีวิต ฉะนั้นคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมรีบมาดำเนินการ และเท่าที่ทราบนั้นได้มีการสั่งการตามบทลงโทษของกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ระงับการดำเนินกิจการชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

“อย่างไรก็ตาม น่าจะมีการสำรวจโรงงานอุตสาหกรรมหรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามข้อกำหนดเงื่อนไขตามใบอนุญาต ซึ่งบางแห่งอาจขอใบอนุญาตไปแต่ไม่ดำเนินการตามที่ขอจึงทำให้เกิดปัญหา ฉะนั้นจึงต้องเข้มงวดกวดขันขั้นตอนต่างๆ ให้ถูกต้องเพราะหากเกิดปัญหาขึ้นแล้วทำให้ภาพลักษณ์เรื่องการลงทุนเสียหายไปด้วย” นายสุวัจน์กล่าว





นายชุมพล  ชีวะประภานันท์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น