xs
xsm
sm
md
lg

“อธิบดีโรงงาน” บุกตรวจโรงน้ำแข็ง “ลำตะคอง” พบสารพิษรั่วจริงสั่งเชือดตาม กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประพัฒน์ วนาพิทักษ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม  นำทีมลุยตรวจโรงงานผลิตน้ำแข็ง  4 แห่ง ริมลำตะคอง  ช่วงเขตเทศบาลนครนครราชสีมา  หาสาเหตุปลาลอยตายเกลื่อนนับแสนตัว วันนี้ ( 16 ก.ค.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - “อธิบดีกรมโรงงาน” นำทีมลุยตรวจโรงงานผลิตน้ำแข็ง 4 แห่งริมลำตะคอง โคราช หาสาเหตุปลาลอยตายเกลื่อนนับแสนตัว เผยพบสาร “แอมโมเนีย” โรงน้ำแข็ง “เอ็ม.พี.” รั่วไหลลงลำน้ำจริง และเจ้าของยอมรับ สั่ง จนท.ตรวจสอบความชัดเจน และรอผลแล็บยืนยันก่อนเชือดตาม กม. ชี้มีโทษปรับ และถึงขั้นถูกสั่งปิด พร้อมสั่งสำรวจโรงงานริมลำตะคองทั้งหมดเพื่อจัดกลุ่มเสี่ยง ก่อนเข้าไล่ตรวจทุกแห่ง และขยายผลดำเนินการทั่วประเทศ

วันนี้ (16 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีเกิดเหตุการณ์ปลาในลำตะคองช่วงไหลผ่านเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ลอยตายเกลื่อนนับแสนตัวเป็นระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร (กม.) ตั้งแต่บริเวณชุมชนตรอกสำโรงจันทร์ ถึงหมู่บ้านวีไอพี ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เก็บตัวอย่างน้ำ และซากปลาบางส่วนไปตรวจพิสูจน์เพื่อหาสาเหตุของปลาตายจำนวนมากตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด วันนี้ (16 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ส.ส.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา, นายประเสริฐ บุญชัยสุข ประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร, นายประพัฒน์ วนาพิทักษ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, นายสวัสดิ์ ถนัดค้า ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 นครราชสีมา พร้อมด้วยประมงจังหวัดฯ, ตัวแทนฝ่ายปกครองจากอำเภอเมืองนครราชสีมา, เทศบาลนครนครราชสีมา, อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหาแนวทางร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำในลำตะคอง และหาสาเหตุปลาลอยตายเป็นจำนวนมากดังกล่าว

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้นำเสนอข้อมูลผลสรุปการลงพื้นที่ของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 นครราชสีมา โดย นายสวัสดิ์ ถนัดค้า ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 นครราชสีมา กล่าวว่า ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ ได้ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ, เทศบาลนครนครราชสีมา และกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากประชาชนว่า ปลาในลำตะคองเริ่มตายหลังผ่านโรงงานผลิตน้ำแข็ง เอ็ม.พี. และมีลักษณะเป็นคราบน้ำมันจากการซ่อมบำรุง และจากการตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำแข็งดังกล่าวพบมีการซ่อมบำรุงเครื่องจักรอยู่ 1 เครื่อง แต่ผู้ประกอบการยืนยันว่าการซ่อมบำรุงได้เก็บน้ำมันเครื่องที่ปนเปื้อนสารแอมโมเนียไว้ ไม่ได้ระบายทิ้งลงในลำตะคอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างน้ำที่ปล่อยจากโรงงานไปตรวจพิสูจน์ คาดใช้เวลาตรวจวิเคราะห์ 5 วัน

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบดังกล่าว คณะผู้ตรวจมีข้อสังเกตว่า ระยะทางที่ปลาตายอย่างเฉียบพลันนั้นเป็นระยะสั้นเพียง 1 กม. ตั้งแต่หลังโรงงานผลิตน้ำแข็ง เอ็ม.พี.เท่านั้น ประกอบกับค่าความเป็นกรดด่างมีค่าสูง 8.8-9.2 และมีค่าออกซิเจนละลายน้ำต่ำในวันที่ปลาตายอยู่ที่ระดับ 0.2-0.9 มิลลิกรัมต่อลิตร มีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากสารแอมโมเนียที่ระบายทิ้งในการซ่อมบำรุงจากโรงงานผลิตน้ำแข็งดังกล่าว

ทั้งนี้ เนื่องจากสารแอมโมเนียเป็นพิษต่อปลาสูงมาก เมื่อไหลลงแหล่งน้ำจะมีค่าความเป็นกรดด่างสูง และสารแอมโมเนียมีสมบัติที่ไม่เสถียรจะดึงออกซิเจนในน้ำ ทำให้ออกซิเจนลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว เพื่อการเกิดปฏิกิริยาไนตริฟิเคชันเป็นไนไตรท ซึ่งเป็นรูปที่เป็นพิษต่อปลาภายในเวลาไม่นาน จึงทำให้ปลาตายอย่างเฉียบพลันในระยะที่น้ำไหลไม่ไกลจากจุดเกิดเหตุมากนัก อย่างไรก็ตาม ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการจะเป็นสิ่งบ่งชี้ และยืนยันความชัดเจนต่อไป

จากนั้น นายประพัฒน์ วนาพิทักษ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานอุตสาหกรรม กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำแข็ง 4 แห่งที่ตั้งอยู่ติดลำน้ำลำตะคอง โดยเริ่มจากโรงงานผลิตน้ำแข็ง เอ็ม.พี. ของ หจก.มิตรภาพอุตสาหกรรมนครราชสีมา และ หจก.โคราชไอซ์ ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กระจายกันออกตรวจสอบระบบต่างๆ ในโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าที่ตั้งระบบผลิตน้ำแข็งภายในโรงงานมีการกระจายของกลิ่นแอมโมเนีย ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปในบริเวณดังกล่าวแสบตาแสบจมูก

เจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องมือในการวัดค่า และเก็บตัวอย่างน้ำก่อนปล่อยลงลำคะตอง และน้ำในลำตะคองช่วงจุดที่อยู่บริเวณโรงงานน้ำแข็งด้วย

นายประพัฒน์ วนาพิทักษ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ในการตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำแข็งทั้ง 4 แห่งที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำลำตะคอง ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นพอจะได้ข้อมูลว่าอะไรที่ต้องป้องกันดูแลต่อไป เช่น โรงน้ำแข็ง เอ็ม.พี. ของ หจก.มิตรภาพอุตสาหกรรมนครราชสีมา ได้สั่งให้ปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงลำตะคองให้ได้มาตรฐานภายใน 30 วัน เป็นต้น

ส่วนเรื่องการกระทำผิดกฎหมาย หากพบโรงงานมีความผิดมีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และหากตรวจพบมีสารเคมีรั่วไหลลงแหล่งน้ำสาธารณะลำตะคอง อาจต้องถูกสั่งปิดโรงงาน

“จากการตรวจสอบโรงน้ำแข็ง เอ็ม.พี. ของห้างหุ้นส่วนจำกัด มิตรภาพอุตสาหกรรมนครราชสีมาวันนี้ พบว่ามีการรั่วซึมของสารแอมโมเนีย และทางเจ้าของโรงงานก็ยอมรับว่ามีการรั่วของสารแอมโมเนียจริง ส่วนจะมีปริมาณมากน้อยเพียงใด จะเป็นสาเหตุทำให้ปลาตายจำนวนมากดังกล่าวหรือไม่นั้น ต้องรอผลที่เจ้าหน้าที่เก็บน้ำตัวอย่างไปตรวจก่อน เพื่อดำเนินการกับโรงงานตามกฎหมายต่อไป” นายประพัฒน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาทำการสำรวจจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งที่ตั้งอยู่ติดริมลำตะคอง และแบ่งกลุ่มไว้อย่างชัดเจน ตั้งแต่กลุ่มเสี่ยงน้อยไปหาเสี่ยงมาก ซึ่งเบื้องต้นทราบว่ามีอยู่ประมาณ 200 แห่ง จากนั้นทางกรมโรงงานจะส่งคนจากกรมฯ ลงมาตรวจสอบร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดฯ โดยการแบ่งกลุ่มเสี่ยงนั้นจะทำแล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์นี้ และจะทำเช่นนี้ที่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยให้ จ.นครราชสีมาเป็นจังหวัดต้นแบบนำร่อง นายประพัฒน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากเข้าตรวจสอบโรงงานน้ำแข็ง เอ็ม.พี.แล้วทางคณะของอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปยังลำตะคองช่วงไหลผ่านด้านหลังหมู่บ้านวีไอพี เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำในลำตะคอง และร่วมกันเทน้ำหมักอีเอ็มจำนวน 200 ลิตรที่สำนักงานประมงจังหวัดนครราชสีมาจัดเตรียมไว้ลงบำบัดน้ำในลำตะคองให้กลับมาอยู่ในสภาพดี โดยเจ้าหน้าที่วัดค่าออกซิเจนในน้ำจุดดังกล่าวมีค่าแค่ 2 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งถือว่ายังเป็นค่าที่ต่ำมาก แต่ปลาบางชนิดยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้



กำลังโหลดความคิดเห็น