ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- รองผู้ว่าฯโคราชเรียกถกด่วนหน่วยงานเกี่ยวข้อง เฟ้นหาสาเหตุปลาลอยตายเกลื่อน“ลำตะคอง” เบื้องต้นชี้ออกซิเจนในน้ำต่ำส่งผลให้ปลาตาย คาดเกิดได้หลายสาเหตุทั้งการปล่อยน้ำเสียจากชุมชน-รง.น้ำแข็งปล่อยสารพิษลงลำน้ำ และจากปฏิกิริยาทางธรรมชาติ เผยตรวจตัวอย่างน้ำ - ซากปลารู้ผล 17 ก.ค. ลั่นพบใครเป็นต้นเหตุแจ้งความเอาผิดหนักทั้งแพ่ง-อาญา พร้อมบุกตรวจ รง.น้ำแข็งต้องสงสัย พบจุดปล่อยน้ำเสียกลิ่น “แอมโมเนีย” เหม็นคลุ้ง ด้าน “ลูกเจ๊เกียว” ดิ้นแจงอ้างหยุดสูบน้ำ “ลำตะคอง” มาผลิตประปา
วันนี้ (15 ก.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานประมงจังหวัดนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาสาเหตุปลาธรรมชาติในลำตะคอง ลอยตายเป็นจำนวนมากนับแสนตัว ช่วงตั้งแต่ชุมชนสำโรงจันทร์ หลังห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา ถึง หมู่บ้านวีไอพี เขตเทศบาลนครนครราชสีมา เป็นระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร (กม.) เมื่อ 2 วันที่ผ่านมา
โดยมี นายเจริญ อุดมการณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จ.นครราชสีมา , ว่าที่ ร.ต.สมพร กุลบุญ ประมงจังหวัดนครราชสีมา , นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา, นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังและเตือนภัย สำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 11 นครราชสีมา , นายวีระยศ อุตนคร อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา , ตัวแทนจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง , ตัวแทนจากอำเภอเมืองนครราชสีมา เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน รวมทั้งมี นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะ ส.ส.เขต 1 นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา (ชพ.) เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย โดยใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง
นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวสรุปการหารือของที่ประชุมว่า จากการประมวลข้อมูลในเบื้องต้น พบว่า ปริมาณออกซิเจนในลำตะคองในช่วงหลังชุมชนโรงน้ำแข็ง (ชุมชนสำโรงจันทร์) ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงหลังของหมู่บ้านวีไอพี นั้น มีปริมาณออกซิเจนในน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานทำให้ปลาตาย ไม่ใช่ตายจากโรคระบาดอย่างแน่นอน โดยวัดค่าออกซิเจนได้ต่ำกว่า 2 มิลลิกรัม/ลิตร บางจุดไม่ถึง 1 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีอินทรีวัตถุเจือปนในน้ำสูงซึ่งอาจมาจากการปล่อยน้ำเสียของชุมชนที่ไหลลงลำตะคอง เนื่องจากคืนวันที่ 12 ก.ค. มีฝนตกหนัก ในเขตเทศบาลนครฯ หรืออาจจะมาจากการเกิดปฏิกิริยาทางธรรมชาติจากเดิมที่มีสภาพอากาศร้อนจัดและมาเจอฝนตกหนักทำให้เกิดความแปรปรวนในน้ำ
ส่วนอีกประการหนึ่งคาดว่า น่าจะเป็นสาเหตุการปล่อยน้ำเสียของโรงงานริมลำตะคอง เนื่องจากมีการพบคราบน้ำมันลอยมาติดอยู่กับปลา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุได้ โดยเฉพาะค่าน้ำ หรือค่า BOD ของน้ำลำตะคอง ช่วงที่ปลาลอยขึ้นมาตายมีความเป็นด่างสูง
อย่างไรก็ตามขณะนี้เจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครนครราชสีมาและสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 นครราชสีมา ได้ส่งตัวอย่างน้ำและซากปลาไปตรวจหาสาเหตุของการตายแล้ว คาดว่าผลน่าจะออกมาในวันอังคารที่ 17 ก.ค. หรือวันพุธที่ 18 ก.ค. นี้ ขณะเดียวกันทางประมงจังหวัดนครราชสีมาได้นำตัวอย่างซากปลาส่งไปตรวจเช่นกันแต่เนื่องจากปลาที่พบสภาพเน่าแล้วจึงอาจบอกอะไรไม่ได้มากนัก
นายชยาวุธ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ ที่ประชุมได้มีการมอบหมายให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดและทางเทศบาลนครฯ เข้าไปตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ริมลำตะคองเหนือจุดที่ปลาตายว่ามีการปล่อยน้ำเสียลงลำตะคองหรือไม่ และให้คำแนะนำกับทางโรงงานโดยเฉพาะโรงน้ำแข็งที่มีอยู่กว่า 4 แห่ง ที่ตั้งอยู่ริมลำตะคอง แต่จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าก่อนเกิดเหตุปลาตายทางโรงน้ำแข็งแห่งหนึ่งมีเครื่องจักรเสียรอการซ่อมและได้มีการเช็ดล้างทำความสะอาดเครื่องจักรในการผลิตน้ำแข็งแต่จะเป็นสาเหตุของปลาลอยตายหรือไม่นั้นยังบอกไม่ได้ ซึ่งได้ให้อุตสาหกรรมจังหวัดลงไปตรวจสอบในรายละเอียดเรื่องนี้แล้ว
จากการรายงานข้อมูลทราบว่า มีปลาตายจากเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งทางเทศบาลได้เก็บขึ้นมาจากลำตะคองมากกว่า 2,000 กิโลกรัม หรือ 2 ตัน ซึ่งคิดเป็นมูลกว่ากว่า 1 แสนบาท เรื่องนี้ได้สั่งการให้ทางประมงจังหวัดแจ้งความดำเนินคดีหากพบผู้กระทำผิดทั้งทางแพ่งและอาญา และให้หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายในการเอาผิดกับผู้ที่เป็นต้นเหตุทำให้ปลาตายจำนวนมากดังกล่าวด้วย แต่ตอนนี้ต้องสรุปในภาพกว้างก่อนว่า สาเหตุที่ทำให้ปลาตายได้นั้นมีหลายสาเหตุมาก นายชยาวุธ กล่าว
ด้าน นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นทางเทศบาลได้เร่งเก็บซากปลาไปฝังกลบเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อประชาชนและได้ให้เจ้าหน้าที่กองการสาธารณสุขเข้าไปตรวจสุขภาพร่างกายประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว จนถึงขณะนี้ยังไม่พบมีผู้ป่วยจากสาเหตุปลาตายแต่อย่างใดและยังต้องเฝ้าระวังต่อไป
ส่วนการผลิตน้ำประปา นั้นหลังทราบข่าวเรื่องปลาตาย ทางเทศบาลได้หยุดการนำน้ำในลำตะคองมาผลิตประปาทันที โดยใช้น้ำดิบเฉพาะที่สูบส่งทางท่อโดยตรงมาจากเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มาผลิตน้ำประปาเพียงแหล่งเดียวเท่านั้น โดยขอความร่วมมือจากทางเขื่อนให้ส่งน้ำเข้าท่อมากกว่าปกติ และหากน้ำลำตะคองเป็นปกติแล้วจะปรับระบบการทำประปากลับมาตามเดิม ฉะนั้นประชาชนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ไม่ต้องกังวลใจเรื่องความสะอาดและคุณภาพของน้ำประปาดังกล่าว นายสุรวุฒิ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายชยาวุธ จันทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจสอบโรงงานผลิตน้ำแข็ง ยี่ห้อ “เอ็มพี” ของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) มิตรภาพอุตสาหกรรมโคราช ซึ่งเป็นโรงงานผลิตน้ำแข็งขนาดใหญ่ ของ จ.นครราชสีมา ที่ตั้งอยู่ริมลำตะคอง เหนือจุดเกิดเหตุปลาตาย โดยได้ลงไปตรวจสอบจุดที่ปล่อยน้ำลงลำตะคอง ซึ่งทางเจ้าของแจ้งว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางโรงงานได้มีการล้างทำความสะอาดเครื่องจักรในการผลิตน้ำแข็งแต่ยืนยันว่าไม่ได้ปล่อยน้ำเสียที่เป็นพิษลงลำตะคอง
อย่างไรก็ตาม ขณะที่เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบจุดที่ปล่อยน้ำลงลำตะคองของโรงงานพบว่า มีกลิ่นก๊าซแอมโมเนียเหม็นคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างน้ำจากจุดที่ปล่อยลงลำตะคองไปตรวจ พร้อมกับเก็บตัวอย่างน้ำที่ชุมชนปล่อยลงละคองไปตรวจสอบด้วยเช่น
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ( 15 ก.ค.) คณะของ ดร.ฉัตรเพชร ยศพล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) ได้ลงพื้นที่วัดปริมาณออกซิเจนในน้ำลำตะคอง ในจุดที่เกิดเหตุปลาลอยตายเป็นจำนวนมาก
ดร.ฉัตรเพชร กล่าวว่า ได้เก็บตัวอย่างน้ำจากบริเวณที่เกิดปัญหา 5 จุด ได้แก่ เขื่อนคนชุม , หลังห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา , ซอยสำโรงจันทร์ , วัดท่าตะโก และหมู่บ้านวีไอพี จากการตรวจสอบพบว่าทุกจุดมีค่าออกซิเจนต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณหมู่บ้านวีไอพี มีค่าออกซิเจนประมาณ 1 มิลลิกรัมต่อลิตรท่านั้น ส่วนบริเวณอื่นๆ เฉลี่ยประมาณ 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งนี้ปกติปลาทั่วไปจะมีชีวิตอยู่ได้ต้องมีค่าออกซิเจนมากกว่า 7 มิลลิกรัมต่อลิตร หากต่ำกว่านั้นจะมีเพียงปลาช่อนและปลาดุกเท่านั้นที่สามารถอยู่ได้ เนื่องจากทนต่อสภาพออกซิเจนน้อย
ทั้งนี้ สำหรับน้ำในลำตะคองนั้นมีสภาพเสื่อมโทรมมานานแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่หลังห้างฯเดอะมอลล์นครราชสีมา ซึ่งเป็นชุมชนเมือง มีการปล่อยน้ำเสียลงลำน้ำมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีค่าออกซิเจนต่ำมาโดยตลอด แต่ช่วง 3 วันที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะมีการปล่อยสารพิษบางอย่างลงมาในน้ำปริมาณมาก จึงทำให้ค่าออกซิเจนลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปลาบางชนิด อาทิ ปลาตะเพียน ปลาเกล็ดขาว และปลาเนื้ออ่อน ตายเป็นจำนวนมาก
“ส่วนสาเหตุที่แท้จริงนั้น ขณะนี้ทีมนักวิจัยกำลังเก็บตัวอย่างน้ำและซากปลาตายไปพิสูจน์ในห้องแล็บ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 3 วัน จึงจะทราบว่ามีสารพิษชนิดใดเจือปนลงในลำน้ำจนทำให้ปลาตายได้จำนวนมากขนาดนี้” ดร.ฉัตรเพชร กล่าว