xs
xsm
sm
md
lg

ความตาย...ที่ไม่ควรถูกละเลยอีกต่อไป

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส


ปลาเป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ทำให้ประชาชนมีปลาเป็นอาหารราคาถูกและสามารถหาซื้อหรือจับเอาตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ทำให้เยาวชนตามชนบทไม่เป็นโรคขาดสารอาหารรุนแรงเหมือนประเทศอื่นๆ และประเทศไทยของเราโชคดีที่ตั้งอยู่บนพื้นที่เขตร้อน เรามีแหล่งน้ำตามธรรมชาติมีแม่น้ำลำคลองอันเป็นแหล่งที่อยู่ของปลาน้ำจืดจำนวนมาก เรามีพื้นที่ชายทะเลยาวกว่า 2800 กิโลเมตร ประเทศเราจึงอุดมไปด้วยพันธุ์สัตว์น้ำ

ภาพของปลาหลายหมื่นหลายแสนตัวตายลอยในคลองน้ำลำตะคอง ตั้งแต่บริเวณหลังห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา ไปจนถึงบริเวณหมู่บ้านวีไอพี เป็นระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร ตั้งแต่เมื่อช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เมื่อปรากฏภาพเหล่านี้ต่อสื่อมวลชน ต่างสร้างความตระหนกตกใจแก่ผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยต่อปรากฎการณ์ของความตายในครั้งนี้ได้ สำนักงานเทศบาลนครนครราชสีมา พร้อมด้วยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 11 นครราชสีมา ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบระบบบำบัดน้ำ และท่อน้ำทิ้งภายในโรงงานต่างๆ ที่อยู่ริมลำตะคองในเขตเทศบาลนครราชสีมา โดยเฉพาะโรงงานผลิตน้ำแข็ง 2 แห่ง ที่อยู่ติดกับห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำจากท่อน้ำทิ้งเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ว่าจะเกี่ยวข้องกับการทำให้ปลาตายจำนวนมากครั้งนี้หรือไม่

ดร.ฉัตรเพชร ยศพล อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีก็ลงพื้นที่วัดปริมาณออกซิเจนในน้ำ ดร.ฉัตรเพชร กล่าวว่า ได้เก็บตัวอย่างน้ำจากบริเวณที่เกิดปัญหา 5 จุด จากการตรวจสอบพบว่าบริเวณที่มีปลาตายจำนวนมากนั้น ทุกจุดมีค่าออกซิเจนต่ำกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณหมู่บ้านวีไอพีมีค่าออกซิเจนประมาณ 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนบริเวณอื่นๆ เฉลี่ยประมาณ 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งปกติปลาทั่วไปจะมีชีวิตอยู่ได้ต้องมีค่าออกซิเจนในน้ำต้องมีมากกว่า 7 มิลลิกรัมต่อลิตร หากต่ำกว่านั้นจะมีเพียงปลาช่อนและปลาดุกเท่านั้นที่สามารถอยู่ได้ เนื่องจากปลาช่อน ปลาดุกมีความสามารถทนต่อสภาพออกซิเจนน้อยกว่าปลาชนิดอื่นๆ

“สำหรับน้ำลำตะคองนั้นมีสภาพเสื่อมโทรมมานานแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่หลังเดอะมอลล์ โคราช ซึ่งเป็นชุมชนเมือง มีการปล่อยน้ำเสียลงมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีค่าออกซิเจนต่ำมาโดยตลอด แต่ช่วง 3 วันที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะมีการปล่อยสารพิษบางอย่างลงมาในน้ำปริมาณมาก จึงทำให้ค่าออกซิเจนลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปลาบางชนิด อาทิ ปลาตะเพียน ปลาเกล็ดขาว และปลาเนื้ออ่อน ตายเป็นจำนวนมาก....” นี่คือส่วนหนึ่งที่ ดร.ฉัตรเพชร ยศพล พบสาเหตุของความตายของปลาจำนวนมหาศาลในครั้งนี้

อย่างที่กล่าวมาว่าปลาเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญ มีงานศึกษาวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปลา เช่น มีการศึกษาถึงคุณภาพของไขมันที่อยู่ในเนื้อปลา โดยทำการวิเคราะห์หาปริมาณของกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเฉพาะกรดไลโนเลอิค (Linoleic acid) (C 18 : 2 , n 6 ) ซึ่งมีหน้าที่ต่างๆ ต่อร่างกาย เช่น

1) เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์โดยการเปลี่ยนเป็นกรดไขมันที่จำเป็นอีกชนิดหนึ่ง คือ กรดอะแรคคิโคนิค (Arachidonic acid) (C 20 : 4 , n 6 )

2) ควบคุมระดับของโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด จึงมีส่วนลดอัตราการตายจากโรคหัวใจชนิดหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน

3) เป็นต้นกำเนิดฮอร์โมนโปรสตาไซคลิน ซึ่งมีฤทธิ์ขัดขวางการจับตัวของเกร็ดเลือด ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดต่างๆ

4) กรดไลโนเลอิคที่เปลี่ยนเป็นฮอร์โมนโปรสตาแกลนดิน จะทำให้ไตเพิ่มการขับถ่ายโซเดียมและน้ำออกจากร่างกาย จึงมีส่วนควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

จากผลของการวิเคราะห์วิจัยยังพบอีกว่า ปลาชนิดต่างๆ มีองค์ประกอบของไลโนเลอิคเป็นเปอร์เซ็นต์ของไขมัน เช่น จากปลาตะเพียน 19.36 ปลากราย 13.47 ปลาดุก 11.82 ปลาหมอไทย 9.03 ปลาช่อน 6.00 ปลาสวาย 4.0 ปลาเนื้ออ่อน 4.09 ปลาแป้น 2.65 ปลาทรายแดง 2.05 ปลาไส้ตัน 2.03 ปลาเก๋า 1.77 ปลาทู 1.67 ปลาตาเดียว 1.49 และปลาหมึกกล้วย 1.67 เมื่อปลามีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของชีวิตคนเรามากขนาดนั้น การดำรงอยู่ของแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำโดยเฉพาะกุ้ง หอย ปู ปลา จึงควรได้รับการดูแล อนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

ความตายของปลานับหมื่นนับแสนตัวที่ลำตะคองในครั้งนี้ ควรจะส่งผลให้สังคมไทยได้หันมาให้ความสำคัญต่อแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่กับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมเราให้เพิ่มมากขึ้น เพราะทุกพื้นที่ ทุกจังหวัดเรามีแหล่งน้ำ เรามีพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติที่เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญให้กับผู้คนและโดยเฉพาะคนยากจน ที่อาศัยอาหารจากฐานทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้อยู่อีกจำนวนมาก ก็ได้แต่หวังว่าความตายของปลามหาศาลในครั้งนี้ จะมีส่วนทำให้สังคมไทยได้มีสำนึกมากขึ้น หวังว่าความตายของปลาในครั้งนี้จะไม่เป็นการตายอย่างไร้ความหมายเหมือนที่ผ่านๆ มา
โคราชถกหาสาเหตุปลา “ลำตะคอง” ตาย ลั่นพบใครผิดฟันทั้งแพ่งอาญา – บุกตรวจโรงน้ำแข็ง
โคราชถกหาสาเหตุปลา “ลำตะคอง” ตาย ลั่นพบใครผิดฟันทั้งแพ่งอาญา – บุกตรวจโรงน้ำแข็ง
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- รองผู้ว่าฯโคราชเรียกถกด่วนหน่วยงานเกี่ยวข้อง เฟ้นหาสาเหตุปลาลอยตายเกลื่อน“ลำตะคอง” เบื้องต้นชี้ออกซิเจนในน้ำต่ำส่งผลให้ปลาตาย คาดเกิดได้หลายสาเหตุทั้งการปล่อยน้ำเสียจากชุมชน-รง.น้ำแข็งปล่อยสารพิษลงลำน้ำ และจากปฏิกิริยาทางธรรมชาติ เผยตรวจตัวอย่างน้ำ – ซากปลารู้ผล 17 ก.ค. ลั่นพบใครเป็นต้นเหตุแจ้งความเอาผิดหนักทั้งแพ่ง-อาญา พร้อมบุกตรวจ รง.น้ำแข็งต้องสงสัย พบจุดปล่อยน้ำเสียกลิ่น “แอมโมเนีย” เหม็นคลุ้ง ด้าน “ลูกเจ๊เกียว” ดิ้นแจงอ้างหยุดสูบน้ำ “ลำตะคอง” มาผลิตประปา
กำลังโหลดความคิดเห็น