ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ผู้ว่าฯ โคราชเรียกถกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ เตรียมรับมือภัยแล้ง- น้ำท่วม เผยผวาเขื่อนโคราชกักน้ำไว้มากห่วงท่วมใหญ่ไม่กลัวแล้ง เร่งพร่องน้ำให้เกษตรกรทำนาปรังเร็วขึ้น1 เดือน ตั้งเป้าเพิ่ม พท.นาปรัง 1 แสนไร่ พร้อมสั่งท้องถิ่นขุดลอกคูคลองไว้ให้พร้อมระบายน้ำ มั่นใจจากประสบการณ์จะรับมือไม่ให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ซ้ำปี’53
วันนี้ (31 ม.ค.) ที่ห้องประชุมชั้น 4 สำนักงานชลประทานที่ 8 นครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ เช่น สำนักงานชลประทานที่ 8, สำนักงานชลประทานจังหวัดนครราชสีมา, ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น รวมถึงนายอำเภอทุกอำเภอที่อยู่ติดลำน้ำลำตะคอง และลำมูล เพื่อเตรียมการป้องกันปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยก่อนฤดูฝนที่จะมาถึง ซึ่งใช้เวลาในการหารือนานร่วม 2 ชั่วโมง
นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า การเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำครั้งนี้เพื่อต้องการทราบสถานการณ์น้ำเพื่อวางแผนในการแก้ไขปัญหาทั้งภัยแล้ง และอุทกภัย โดยจากรายงานทราบว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางของ จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำมาก
โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำในอ่างเหลือกว่า 85 % ของความจุรวม 314 ล้าน ลบ.ม. ฉะนั้นจึงไม่ห่วงเรื่องภัยแล้งมากนัก แต่หนักใจเรื่องปริมาณน้ำฝนที่อาจตกลงมาปริมาณมาก จากปรากฏการณ์ลานิญาทำให้มีฝนตกลงมามาก
สำหรับการระบายน้ำออกจากเขื่อนเพื่อพร่องรับน้ำฝนที่จะตกลงมาเพิ่มเติมนั้น นายชวน กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรในเขตชลประทานเร่งทำนาปรังเร็วกว่าทุกปีก่อนถึงเวลา 1 เดือนเหตุที่ต้องเร่งให้เร็วขึ้นเพราะจะได้ทันกับการปล่อยน้ำทางเขื่อนต่างๆ และไม่ให้เป็นการปล่อยน้ำโดยเปล่าประโยชน์
เช่น เขื่อนลำตะคอง ล่าสุดขณะนี้ได้ระบายน้ำออกจากเขื่อนวันละ 2 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งหากไม่มีการทำนาปรังในช่วงนี้ก็จะทำให้น้ำปล่อยทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ฉะนั้น จึงต้องเร่งให้เกษตรกรลงมือทำนาปรังตั้งต้นเดือน ก.พ.หรือไม่ควรให้เกินช่วงกลางเดือน ก.พ.จะเป็นช่วงที่เหมาะสม ซึ่งปีนี้ จ.นครราชสีมา ตั้งเป้าขยายพื้นที่ทำนาปรังให้ได้ 100,000 ไร่
นายชวน กล่าวว่า จากปริมาณน้ำที่มีอยู่คาดว่าปีนี้ จ.นครราชสีมา จะไม่ประสบกับสภาวะภัยแล้งอย่างแน่นอน และต้องบริหารจัดการน้ำให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งทางระบายน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญ และขณะนี้ได้สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกพื้นที่ได้เร่งขุดลอกคูคลองเปิดทางระบายน้ำให้มากขึ้นเพราะนี่คือต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วม และการแจ้งเตือน แจ้งข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบทุกระยะก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้รับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมได้
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าพื้นที่ที่เป็นแหล่งรับน้ำคงต้องมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมเหมือนทุกปี แต่จะท่วมหนักเหมือนปี 2553 หรือไม่คงต้องดูปริมาณน้ำฝนอีกครั้งว่าจะตกมากน้อยเพียงแต่ หากตกหนักต่อเนื่องทุกพื้นที่ และการระบายน้ำในคูคลองทำไม่ได้ดี ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2553 ที่ผ่านมาได้ แต่เชื่อว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ในปีนี้หลายหน่วยงานได้เตรียมพร้อมในการรับมือปัญหาดังกล่าวไว้เป็นอย่างดี และจะบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมใหญ่โคราชขึ้นได้อีก
“สำหรับแผนระยะยาวนั้นทางสำนักงานชลประทานที่ 8 ได้จัดทำไว้อยู่แล้วโดยใช้งบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งปีงบประมาณนี้ ได้รับการจัดสรรงบประมาณมา 275 ล้านบาท เพื่อดำเนินการในการสร้างประตูระบายน้ำเพื่อระบายน้ำไม่ให้เข้าท่วมตัวเมืองโคราชได้” นายชวน กล่าว