xs
xsm
sm
md
lg

โคราชมั่นใจบริหารน้ำเขื่อนฝ่าวิกฤตแล้งได้ ด้านชาวนาดื้อแห่ทำนาปรังเกินเป้าอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บินสำรวจอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เพื่อบริหารจัดการน้ำฝ่าวิกฤติแล้ง
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชลประทานที่ 8 โคราช มั่นใจบริหารจัดการน้ำที่เหลือไม่ถึง 50% ให้ฝ่าวิกฤตแล้งไปได้ เน้นอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ด้านเขื่อนลำตะคองปล่อยน้ำเพิ่ม หลังคนปลายน้ำเดือดร้อน ถูกเกษตรกรต้นน้ำกักไว้ทำนาปรัง เผยดื้อปลูกข้าวนาปรังเกินเป้าหมายหลายหมื่นไร่

วันนี้ (27 ม.ค.) ม.ล.อนุมาศ ทองแถม ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ของ จ.นครราชสีมา ว่า ล่าสุด อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 โครงการ มีปริมาณน้ำรวม 459.78 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 49.01 ของความจุรวม 938.12 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 22 โครงการ มีปริมาณน้ำ 116 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 51.16 ของความจุรวม 226.74 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำทั้งหมด 575.79 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 49.43 ของความจุอ่างทั้งหมด

โดยเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงเมืองโคราช มีน้ำ 128.54 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 40.88 ของความจุ 314 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีน้ำ 69.67 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 63.55 ของความจุ 110 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำมูลบน อ.ครบุรี มีน้ำ 46.96 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 33.30 ของความจุ 141 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำแชะ อ.ครบุรี มีน้ำ 140.90 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 51.24 ของความจุ 275 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง มีน้ำ 73.71 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 75.21 ของความจุ 98 ล้าน ลบ.ม.

“หากประเมินสถานการณ์น้ำวันนี้แล้ว พื้นที่อีสานใต้ และ จ.นครราชสีมา ยังไม่ถึงขั้นแห้งแล้งรุนแรง และยังไม่วิกฤตเหมือนอีสานเหนือกับอีสานกลาง เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนลำปาว ซึ่งมีน้ำเหลือเพียง 10-30% เท่านั้น”

ด้านนายจักรกฤษ แจ้งกรณ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กล่าวว่า ขณะนี้เขื่อนลำตะคองมีน้ำต้นทุน 128 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 40% ของความจุ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ตามที่วางแผนไว้ ทั้งนี้ ตั้งแต่เมื่อพฤศจิกายนเป็นต้นมา ทางโครงการส่งน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ อุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรม วันละ 3.4 แสน ลบ.ม. แต่เนื่องจากใน อ.สูงเนิน เกษตรทำนาปรัง และดึงน้ำไปใช้จำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงปลายน้ำ ตั้งแต่ อ.เมือง ถึง อ.เฉลิมพระเกียรติ จึงได้เพิ่มปริมาณน้ำขึ้นเป็นวันละ 7-8 แสน ลบ.ม. ซึ่งจะระบาย 2-3 วัน เพื่อให้พื้นที่ปลายน้ำได้กักเก็บน้ำบางส่วนไว้ใช้ จากนั้นจะลดลงมาเท่าเดิม

“กรณีปัญหาน้ำประปาในเขตเทศบาลนครนครราชสีมาไม่ไหล และไหลเบาบางพื้นที่นั้นไม่ได้มาจากการระบายน้ำ เพราะเราเน้นเพื่อการอุปโภคบริโภคอยู่แล้ว และเทศบาลใช้น้ำจากอ่างลำตะคองผลิตน้ำประปาในปริมาณปกติ คือ วันละ 51,184 ลบ.ม. ทั้งสูบน้ำจากตัวอ่างโดยตรง และสูบขึ้นจากลำตะคอง ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากการจัดการระบบประปาของเทศบาลเอง เช่น ท่อรั่ว ส่งน้ำไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่”

ขณะที่นายเฉลิมศักดิ์ ประสิทธิสุวรรณ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากภาวะน้ำต้นทุนปีนี้ที่มีปริมาณค่อนข้างน้อย ทางสำนักงานได้วางแผนร่วมกับชลประทานจังหวัด ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังพื้นที่เป้าหมายเขตชลประทาน ซึ่งมีอยู่กว่า 30,000 ไร่ แต่ล่าสุดพบว่า มีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังนอกเขตชลประทานกว่า 55,000 ไร่ ซึ่งกลุ่มนี้จะลำบาก เพราะไม่มีน้ำส่งไปหล่อเลี้ยงต้นข้าว

“นอกจากนี้ ในเขตชลประทานลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ซึ่งส่งเสริมให้ปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 2 หมื่นไร่ แต่ล่าสุด มีการขยายพื้นที่เพิ่มอีกกว่าเท่าตัว ดังนั้น จึงขอความร่วมมือว่าอย่าเพิ่มพื้นที่อีก ขอให้หันไปปลูกพืชไร่ใช้น้ำน้อย ระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้น เช่น ถั่วเขียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน หากยังฝืนทำนาปรังต่อไป คาดว่าน้ำที่อยู่จะไม่เพียงพอ และทำให้นาข้าวเสียหายแน่นอน”
กำลังโหลดความคิดเห็น