ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - น้ำเขื่อนใหญ่โคราชลดฮวบต่อเนื่อง เหลือแค่ 41% ขณะที่ “เขื่อนลำตะคอง” แหล่งน้ำดิบผลิตประปาเลี้ยงเมืองโคราชเหลือเพียง 33% ต้องจัดสรรวันปล่อยน้ำเป็น 2 สาย เพื่อหล่อเลี้ยงระบบนิเวศและผลิตประปา เทศบาลนครฯ ดิ้นฝ่าวิกฤตแล้งเร่งขุดลอกลำตะคองเพื่อสูบน้ำผลิตประปาได้เพิ่มขึ้น พร้อมขุดบ่อเก็บน้ำสำรองจาก “ลำมูล” อีก 1.5 แสน ลบ.ม. หวังส่งช่วยป้อนเมือง วอน ปชช.ประหยัด
วันนี้ (8 มี.ค. ) โครงการชลประทานนครราชสีมารายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางของจังหวัดนครราชสีมา ว่าล่าสุดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 โครงการ มีปริมาณน้ำรวม 393.20 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 41.91% ของความจุที่ระดับเก็บกักรวม 938.12 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำสำคัญที่ใช้เป็นแหล่งน้ำดิบผลิตประปามีปริมาณน้ำเหลือน้อยและลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง เช่น อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว แหล่งน้ำดิบผลิตประปาเทศบาลนครนครราชสีมา และหลายอำเภอใกล้เคียง มีปริมาณน้ำเหลือ 105 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 33% ของความจุที่ระดับเก็บกัก 314 ล้าน ลบ.ม., อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 51 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุที่ระดับเก็บกัก 109 ล้าน ลบ.ม., อ่างเก็บน้ำลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 43 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 31% ของความจุที่ระดับเก็บกัก 141 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 129 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 47% ของความจุที่ระดับเก็บกัก 275 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 22 โครงการ มีปริมาณน้ำรวม 97.71 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43.09% ของความจุที่ระดับเก็บกักรวม 226.74 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ทางโครงการชลประทานนครราชสีมาได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ราษฎร หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ใช้น้ำเพื่อการประปา การอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมอย่างประหยัด
ด้านนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา เปิดเผยถึงผลกระทบจากภาวะภัยแล้งว่า เทศบาลนครนครราชสีมาใช้แหล่งน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว เพียงแห่งเดียวที่นำมาผลิตประปาหล่อเลี้ยงประชาชนในเขตเทศบาลนครฯ กว่า 2 แสนคน วันละ 1.2-1.4 แสน ลบ.ม. และขณะนี้อ่างเก็บน้ำลำตะคองมีปริมาณน้ำเหลือน้อยมาก น้ำที่ส่งมาตามลำตะคองไม่เพียงพอผลิตประปาให้บริการประชาชน ทางเทศบาลนครฯ จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขุดลอกลำตะคองบริเวณหน้าโรงกรองน้ำมะขามเฒ่า ต.บ้านใหม่ อ.เมือง ให้ลึกลงอีก 2-3 เมตร เพื่อให้สามารถสูบน้ำส่งเข้าระบบผลิตประปาได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ โรงกรองน้ำประปามะขามเฒ่า รับน้ำดิบจาก 2 ทาง คือ จากอ่างเก็บน้ำลำตะคองโดยตรงด้วยการส่งมาตามท่อวันละ 7 หมื่น ลบ.ม. ส่วนอีกประมาณ 3 หมื่น ลบ.ม. ส่งมาตามลำตะคองมายังโรงกรองน้ำมะขามเฒ่า ซึ่งล่าสุดจากวิกฤตภัยแล้งในช่วงนี้ ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ได้แจ้งปรับเปลี่ยนการปล่อยน้ำเข้าตัวเมืองโคราชเป็น 2 ทาง เพื่อหล่อเลี้ยงระบบนิเวศน์และการผลิตประปา คือใน 1 สัปดาห์จะส่งน้ำผ่านลำบริบูรณ์ 4 วัน และส่งเข้าลำตะคอง 3 วัน
ดังนั้น ใน 3 วันนี้ ทางเทศบาลนครฯ จะต้องเก็บกักน้ำในส่วนที่ปล่อยลงตามลำตะคองให้ได้สัปดาห์ละ 2.1 แสน ลบ.ม. เพื่อให้เพียงพอต่อการผลิตประปาให้บริการประชาชน โดยทางเทศบาลนครฯ จะนำน้ำส่วนนี้ไปเก็บไว้ในบ่อขนาด 2 แสน ลบ.ม.ที่มีอยู่ภายในพื้นที่โรงกรองน้ำมะขามเฒ่า เพื่อให้สามารถนำน้ำมาผลิตประปาส่งให้บริการประชาชนรอบนอกได้ใช้ตลอดทั้งสัปดาห์ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง
นายสุรวุฒิกล่าวต่อว่า ส่วนพื้นที่กลางตัวเมืองโคราช เราใช้กำลังการผลิตประปาจากโรงกรองน้ำอัษฎางค์ เป็นหลัก โดยส่งมาจากโรงกรองน้ำหนองบอน อ.โชคชัย ที่ใช้น้ำดิบจากลำน้ำมูลผลิตให้ได้อย่างน้อยวันละ 3 หมื่น ลบ.ม. แล้วส่งมาเก็บไว้ที่โรงกรองน้ำอัษฎางค์ และจ่ายเข้าตัวเมือง ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะทำลักษณะเดียวกัน แต่ที่หนองบอนยังไม่มีบ่อเก็บน้ำสำรองจึงต้องเร่งดำเนินการ ขณะนี้ได้สำรวจพื้นที่เรียบร้อยแล้วจะลงมือขุดบ่อได้ในสัปดาห์หน้า โดยขอรับการสนับสนุนเครื่องจักรกลจากกองทัพภาคที่ 2 ทางเทศบาลนครฯ จะสนับสนุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิง10 ล้านบาท สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 1.5 แสน ลบ.ม. คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ ซึ่งเชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาของเทศบาลนครนครราชสีมาได้ และทำให้ฝ่าวิกฤตแล้งปีนี้ไปได้
“อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันประหยัดน้ำเพราะเทศบาลนครนครราชสีมา มีการขยายตัวของเมืองอยู่ตลอดเวลา ปริมาณการใช้น้ำประปาจึงเพิ่มมากขึ้นทุกปี และขอยืนยันว่าขณะนี้น้ำประปาไหลทุกจุด แต่จุดใดน้ำไม่ไหลอาจเกิดจากท่อน้ำประปาแตก” นายสุรวุฒิกล่าว